ศาลพิพากษาให้หย่าได้ หลังสามีไม่ตอบไลน์ภริยา

https://www.matichon.co.th/news/

REUTERS

บีบีซีรายงานว่าศาลครอบครัวในนครซินจู๋ของไต้หวันพิพากษาให้ภริยาสามารถหย่าขาดจากสามีได้ โดยหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ศาลใช้ประกอบการพิจารณาคือการที่สามี ”อ่าน” แต่ไม่ยอมตอบข้อความที่ภริยาไลน์ไปหานานถึง 6 เดือน ซึ่งสามารถเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าผู้เป็นสามีเพิกเฉยละเลยภริยาของตนเอง

ศาลเพิ่งตัดสินคดีดังกล่าวเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาระบุว่า การกระทำดังกล่าวของสามีแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่ยากเกินกว่าจะเยียวยา ดังนั้นภริยาซึ่งมีการเปิดเผยเพียงนามสกุลว่า ”หลิน” จึงได้รับสิทธิให้หย่าขาดจากสามีตามที่มีการยื่นคำร้องขอต่อศาล

ทั้งนี้ หนึ่งในข้อความที่ภริยาไลน์ไปหาแต่สามีไม่ตอบคือข้อความที่เธอแจ้งให้สามีทราบว่าเธอประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์และถูกนำตัวไปยังห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล ซึ่งสามีก็อ่านแต่ไม่ตอบ แม้ว่าในที่สุดผู้เป็นสามีจะเดินทางมาเยี่ยมเธอที่โรงพยาบาลครั้งหนึ่งตลอดเวลาที่เธอรักษาตัวอยู่ก็ตาม และเมื่อภริยาสอบถามว่าทำไมจึงไม่ตอบไลน์ ผู้เป็นสามีก็ไม่ยอมตอบคำถามดังกล่าวเช่นกัน

อย่างไรก็ดีหลังจากที่นางหลินประสบอุบัติเหตุได้ราวหนึ่งถึงสองเดือน ผู้เป็นสามีก็ได้ส่งข้อความสั้นๆ หาภริยา ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับสุนัขที่ทั้งคู่เลี้ยงไว้ และแจ้งให้ทราบว่ามีจดหมายส่งมาถึงเธอ แต่ผู้พิพากษาระบุว่าข้อความทั้งหมดนั้นไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความห่วงใยที่มีต่อผู้เป็นภริยาแม้แต่น้อย

สามีภริยาคู่นี้แต่งงานกันมาตั้งแต่ปี 2555 โดยนางหลินมีอายุราว 50 กว่าปี และเคยแต่งงานมาก่อน ขณะที่สามีอายุ 40 กว่าปี ผู้พิพากษายังระบุด้วยว่านอกจากการไม่ตอบไลน์แล้ว ยังมีปัญหาอื่นๆ ในการใช้ชีวิตคู่ของทั้งสองอีก โดยหลังจากแต่งงานและผู้เป็นภริยาย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านของสามีร่วมกับครอบครัวของฝ่ายชายที่ประกอบด้วยแม่ น้องชายและน้องสะใภ้แล้ว นางหลินต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ในบ้านรวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ขณะที่แม่สามียังให้เธอไปกู้เงินเพื่อมาจ่ายภาษีให้กับพ่อสามีอีกด้วย

ด้านสามีของนางหลินมีรายได้ไม่แน่นอน ครอบครัวของเขาไม่แสดงความเป็นมิตรต่อนางหลิน มีการตั้งกฎระเบียบมากมายตั้งแต่เธอสามารถใช้ห้องน้ำได้นานเท่าไหร่ และจะตั้งอุณหภูมิของน้ำที่อาบได้แค่ไหน ดังนั้นการอ่านแต่ไม่ตอบไลน์จึงเป็นดังฟางเส้นสุดท้าย

นางหลินกล่าวว่า คู่สามีภริยาจะต้องไม่ปฏิบัติต่อกันเช่นนี้ ข้อความในไลน์เป็นหลักฐานสำคัญมาก เพราะแสดงให้เห็นถึงสถานะของความสัมพันธ์ในชีวิตสมรส ซึ่งเราทั้งสองไม่มีการสื่อสารที่ดีต่อกันเลย ในยุคที่การสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ตถือเป็นเรื่องธรรมดาของคนทั่วไป ข้อความในไลน์จึงสามารถใช้เป็นหลักฐานได้ แทนที่จะต้องอาศัยหลักฐานที่เป็นเอกสารเช่นในอดีต

ตามขั้นตอนแล้วสามีของนางหลินสามารถยื่นอุทธรณ์ได้หลังได้รับคำตัดสินของศาลผ่านทางเมล์ แต่เชื่อว่าคงไม่เกิดขึ้น เพราะตลอดเวลาที่ศาลพิจารณาคดี สามีของนางหลินไม่เคยมาปรากฏตัวต่อศาล และไม่เคยตอบกลับการแจ้งเรื่องใดๆ จากศาลด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดีเนื่องจากศาลไม่ได้แจ้งเรื่องผ่านไลน์ ดังนั้นศาลจึงไม่ทราบเลยว่า สามีของนางหลินได้เคยอ่านเอกสารใดๆ ที่ศาลส่งไปให้หรือไม่ด้วย