นาซาแถลงใหญ่ค้นพบ”มหาสมุทรในระบบสุริยะ” เล็งส่งยานค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก

http://www.matichon.co.th/news/

 

นายศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 14 เมษายน เวลา 01.00 น. ตามเวลาประเทศไทย องค์การบริหารการบินและอวกาศสหรัฐอเมริกา หรือนาซา แถลงข่าวการค้นพบหลักฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับมหาสมุทร 2 แห่งในระบบสุริยะ ซึ่งเป็นข้อมูลการค้นพบจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล และยานสำรวจอวกาศแคสสินี ดังนี้ 1.ทีมงานกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลค้นพบหลักฐานยืนยันเพิ่มเติมว่า ดวงจันทร์ยูโรปาของดาวพฤหัสบดีมีพวยของเหลว (ซึ่งมีโอกาสเป็นน้ำ) พุ่งขึ้นมา พวกเขาค้นพบของเหลวพุ่งสูงประมาณ 100 กิโลเมตร (กม.) จากผิวของดวงจันทร์ยูโรปา การค้นพบครั้งนี้อยู่ในตำแหน่งเดียวกับที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเคยค้นพบเมื่อ 2 ปีก่อน และอยู่ในตำแหน่งเดียวกับที่ยานอวกาศกาลิเลโอสังเกตเห็นรอยแตกบนผิวดวงจันทร์ยูโรปาเมื่อ 10 ปีมาแล้ว วิธีสังเกตการณ์น้ำพุ นักวิทยาศาสตร์รอให้ดวงจันทร์ยูโรปาเคลื่อนผ่านหน้าดาวพฤหัสบดี แล้วแสงจากดาวพฤหัสบดีที่สะท้อนจากแสงอาทิตย์ในช่วงคลื่นอัลตราไวโอเล็ต ทำให้เห็นพวยของเหลว พุ่งออกมาจากขอบดวงจันทร์ยูโรปาได้อย่างชัดเจน ในอนาคตนาซาวางแผนดำเนินโครงการยูโรปาคลิปเปอร์ ที่จะส่งยานอวกาศไปศึกษาดวงจันทร์ยูโรปาอย่างละเอียด

2.ในเดือนตุลาคม 2015 ทีมงานยานสำรวจอวกาศแคสสินี ได้บังคับยานให้โคจรผ่านพวยน้ำที่พุ่งออกมาจากดวงจันทร์เอนเซลาดัสของดาวเสาร์ และค้นพบแก๊สไฮโดรเจนมากมายในพวยน้ำที่พุ่งออกมา คาดว่าแก๊สไฮโดรเจนเหล่านี้อาจเกิดจากกระบวนการทางเคมีระหว่างหินและน้ำในมหาสมุทรของดวงจันทร์ดวง ทำให้เกิดแก๊สไฮโดรเจน คล้ายกับกระบวนการที่เกิดใต้มหาสมุทรบนโลก แก๊สไฮโดรเจนนี้อาจเป็นแหล่งพลังงานของสิ่งมีชีวิต เนื่องจากสิ่งมีชีวิตประเภทแบคทีเรียสามารถใช้แก๊สไฮโดรเจนร่วมกับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ละลายในน้ำในการสร้างพลังงาน กระบวนดังกล่าวเรียกว่า การสังเคราะห์มีเทน ซึ่งจุลินทรีย์หลายชนิดบนโลกใช้อยู่ อย่างไรก็ตาม ยานสำรวจอวกาศแคสสินียังไม่มีอุปกรณ์เพียงพอที่จะตรวจวิเคราะห์สิ่งมีชีวิตบนดวงจันทร์เอนเซลาดัสได้ จำเป็นต้องมีโครงการส่งยานคล้ายกับโครงการยูโรปาคลิปเปอร์ไปสำรวจดวงจันทร์เอนเซลาดัสในอนาคต

“ชีวิตจะถือกำเนิดขึ้นได้ต้องอาศัยองค์ประกอบหลัก 3 อย่าง ได้แก่ ตัวทำละลาย (น้ำ) แหล่งพลังงาน และสารเคมีที่เหมาะสม งานวิจัยนี้บ่งชี้ว่าที่ดวงจันทร์เอนเซลาดัสของดาวเสาร์มีองค์ประกอบครบทั้ง 3 อย่าง และของเหลวที่พุ่งออกมานั้นร้อยละ 98 เป็นน้ำ อีก ร้อยละ 1 เป็นแก๊สไฮโดรเจน ที่เหลือเป็นโมเลกุลอื่นๆ จำพวกคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และแอมโมเนีย ในอนาคตการค้นพบหรือแม้กระทั่งการไม่พบสิ่งชีวิตบนดวงจันทร์ จะมีความน่าสนใจพอกัน” นายศรัณย์ กล่าวและว่า การค้นพบครั้งนี้เป็นหลักฐานสำคัญอีกครั้งหนึ่งที่ยืนยันว่า โลกอาจจะไม่ใช่ที่เดียวในระบบสุริยะที่สิ่งมีชีวิตอยู่ได้ การค้นพบร่องรอยของน้ำบนดาวเคราะห์ หรือมหาสมุทรบนดวงจันทร์ยูโรปาและเอนเซลาดัส รวมถึงเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ จะกระตุ้นให้เกิดการศึกษาหาคำตอบเกี่ยวกับการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตนอกโลกมากขึ้น

ที่มา: ภาพจากนาซา