“สมคิด”นัด17รัฐวิสาหกิจถก13ม.ค. ปลุกลงทุนต้นปี”60ทยอยเบิกจ่ายงบเต็มสูบ95%

 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวันที่ 13 ม.ค. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมรัฐวิสาหกิจ 17 แห่ง ซึ่งมีงบฯลงทุนรวมกันประมาณ 92% ของงบฯลงทุนรัฐวิสาหกิจโดยรวม เพื่อติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายของรัฐบาลที่ตั้งเป้าเบิกจ่ายให้ได้ 95% ของงบฯลงทุนทั้งสิ้น 3.7 แสนล้านบาท

“จะประชุมในวันที่ 13 ม.ค. เพื่อให้แอ็กทีฟตั้งแต่ต้นปี โดยจะติดตามผลการเบิกจ่ายงบฯลงทุน และจะกำหนดให้มีการรายงานผลทุกเดือน” นายเอกนิติกล่าว

สำหรับรัฐวิสาหกิจ 17 แห่ง แบ่งเป็น รัฐวิสาหกิจที่ใช้ปีงบประมาณ 10 แห่ง คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) การประปานครหลวง (กปน.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) การเคหะแห่งชาติ (กคช.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และรัฐวิสาหกิจที่ใช้ปีปฏิทินอีก 11 แห่ง คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)

นายเอกนิติกล่าวด้วยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ในวันที่ 9 ม.ค. นี้ สคร.จะรายงานการจัดทำยุทธศาสตร์ สคร. ที่เรียกว่า “สคร. 4.0+ หรือ SEPO+” ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ในช่วง 5 ปี (ปี 2560-2564) เพื่อใช้ในการพัฒนารัฐวิสาหกิจและ สคร. ให้มีความเข้มแข็ง สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล, ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี, แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่กำหนดว่า งบฯลงทุนรัฐวิสาหกิจเฉลี่ยจะต้องไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปี และน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ด้วย

ทั้งนี้ ในส่วนยุทธศาสตร์ด้านการร่วมลงทุน จะมีการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 และแผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) เพื่อส่งเสริมให้เกิดโครงการ PPP มากขึ้นตามเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่ตั้งเป้าให้เพิ่มมูลค่าการลงทุนจากความร่วมมือภาครัฐและเอกชนในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเฉลี่ยปีละ 47,000 ล้านบาท

“ประเด็นที่จะเสนอแก้ไข พ.ร.บ. PPP อาทิ การลดขั้นตอนลงจาก 20 เดือน เหลือ 9 เดือน ให้เหมือนกับ PPP Fast Track, การกำหนดมูลค่าลงทุนที่ต้องเข้าเงื่อนไขการร่วมลงทุนลักษณะ PPP, การยกเว้นในโครงการค่าเช่าที่ราชพัสดุที่ไม่ซับซ้อนให้ไม่ต้องเข้ากระบวนการตาม พ.ร.บ. PPP เป็นต้น” นายเอกนิติกล่าว