‘สมคิด’มั่นใจเมียนมาเดินหน้าพัฒนานิคมทวาย

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
  • ภาพ
  • สมคิด จาตุศรีพิทักษ์,อาคม เติมพิทยาไพสิฐ,เมียนมา,เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย,นิคมทวาย
    ‘สมคิด’มั่นใจเมียนมาเดินหน้าพัฒนานิคมทวาย
“สมคิด” มั่นใจ “เมียนมา” เดินหน้าพัฒนานิคมทวาย ยันไทยสนับสนุนซอฟท์โลนสร้างถนนเข้าโครงการ ด้าน “อาคม” เยือนเมียนมา 10 ก.พ.นี้หารือโครงการ

รัฐบาลมั่นใจเมียนมาจะเดินหน้าโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย หลังจากผ่านไปกว่าหนึ่งปียังไม่มีความคืบหน้ามากนัก โดยหวังว่าภายหลังเมียนมาจัดตั้งคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งมีนายเฮนรี เเวน เทียว รองประธานาธิบดี เป็นประธาน ทำหน้าที่ดูเเลเขตเศรษฐกิจทุกแห่งในประเทศจะทำให้โครงการนี้มีความคืบหน้ามากขึ้น

ทั้งนี้ ในวันที่ 10 ก.พ.นี้ นายอาคม เติมวิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะเดินทางเยือนเมียนมา เพื่อหารือเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว

ก่อนหน้านี้ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ได้สัมปทานพัฒนาพื้นที่บางส่วนของโครงการทั้งหมด โดยมีการลงทุนในช่วงแรก ในขณะที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือวงเงินกู้ดอกเบี้ยผ่อนปรนเพื่อให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้โครงการดังกล่าวไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร เนื่องจากติดขัดปัญหาด้านของเมียนมาที่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งจะต้องรอให้คณะกรรมการร่วมระดับสูงของเมียนมา (เจเอชซี) เข้าไปดูในรายละเอียดว่า ปัญหาที่ติดขัดนั้น จะมีแนวทางแก้ไขอย่างไรได้บ้าง และไทยยินดีที่จะช่วยเหลือ เพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้

แม้ว่าไทยจะมีวงเงินกู้ดอกเบี้ยผ่อนปรน (ซอฟท์โลน) 4,500 ล้านบาท ในการให้ความช่วยเหลือเพื่อให้เมียนมากู้เงินไปลงทุนก่อสร้างถนนเชื่อมสู่ชายแดนไทย แต่จนขณะนี้ทางเมียนมายังไม่ได้ร้องขอเข้ามา แต่หากมีการร้องขอเข้ามา ก็ไม่มีปัญหา ไทยพร้อมที่จะดำเนินการ

“เชื่อว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย มีความสำคัญมาก และเมียนมาไม่ทิ้งโครงการแน่นอน เพียงแต่ขณะนี้ยังติดขัดในปัญหาหลายด้าน จากภายในเมียนมาเอง แต่เมื่อจัดการปัญหาภายในเรียบร้อยแล้ว เชื่อว่า เมียนมาจะเริ่มกลับมาเดินหน้าโครงการต่อแน่นอน เห็นได้จากการที่ยังมีเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่น ๆ อยู่ เช่น ติลาวะ ที่เรียกว่า เป็นนิคมฯ ที่มีขนาดเล็ก เมื่อเทียบกับทวาย และจากการที่ญี่ปุ่นเข้ามาช่วยพัฒนานิคมฯ ที่ติละวา ก็เชื่อว่า ญี่ปุ่นเองก็ต้องการที่จะเดินหน้าเข้าไปร่วมลงทุนในทวายเช่นกัน”
ทูตพม่ามั่นใจโครงการจะเร็วขึ้น

นายพิษณุ สุวรรณะชฎ เอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้งประเทศเมียนมา กล่าวว่า ขณะนี้ฝ่ายเมียนมากำลังทบทวนการดำเนินโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายให้มีความรวดเร็วมากขึ้นหลังจากที่โครงการล่าช้ามาถึง 1 ปี เนื่องจากรัฐบาลใหม่ให้ความสำคัญกับกระบวนการปรองดองในประเทศและการพัฒนานิคมอุตสหกรรมติละวา ซึ่งมุ่งความสนใจไปพื้นที่แห่งใดแห่งหนึ่งเพียงอย่างเดียวทำให้เกิดประโยชน์น้อย

นายพิษณุ กล่าวว่า รัฐบาลเมียนมาตั้งคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทำหน้าที่ดูเเลเขตเศรษฐกิจทุกแห่งในประเทศ ซึ่งคณะทำงานนี้จะลดขั้นตอนการทำงานให้เกิดความรวดเร็วมากขึ้น รวมถึงการลดความกังวลกับบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ว่าจะมีวิสัยทัศน์เดินหน้าโครงการต่ออย่างไร กรอบความร่วมมือต่างๆที่มีอยู่จะปรับปรุงอะไรและควรให้ความสำคัญด้านใดก่อน ทำให้มั่นใจว่าปีนี้จะมีการเคลื่อนไหวโครงการฯทวายอย่างแน่นอน

ส่วนประเด็นที่เป็นโครงการริเริ่มจากรัฐบาลก่อน เชื่อว่าไม่ได้มีนำ้หนักมากนัก เพราะแนวทางการทำงานของพรรคเอ็นแอลดี ของนางซูจี เน้นการทำงานที่รวดเร็ว ภายใต้นโยบายที่ชัดเจน

ทั้งนี้ นายเฮนรี เเวน เทียว จะเดินทางเยือนไทยเพื่อเยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ของภูมิภาค ซึ่งไทยมีแผนจะให้การต้อนรับในฐานะเเขกของรัฐบาลไทยด้วย

ไทยพร้อมช่วยเหลือพัฒนาท่องเที่ยว

นายสมคิด ยังกล่าวหลังจากที่ได้พบปะกับนายซอ มิ้นต์ หม่อง มุขมนตรีภาคมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา เพื่อหารือกันถึงแนวทางความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวตามนโยบาย 2 ประเทศ 1 จุดหมาย โดยฝ่ายไทยพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวให้แก่เมียนมาทุกอย่าง ตามที่ต้องการ อาทิ หลักสูตรการอบรมมักคุเทศน์ (ไกด์) การเผยแพร่แหล่งท่องเที่ยวทางเว็บไซต์ให้ทั่วโลกรู้จัก ซึ่งได้มอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นำไปพิจารณาจัดตั้งโครงการความร่วมมือต่าง ๆ ตามนโยบายดังกล่าว เพื่อจัดเป็นแพคเก็จต่อไป

ทั้งนี้ เมียนมามีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ และมีความบริสุทธิ์มาก หากทำให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกมาเที่ยวแล้วเชื่อมโยงเดินทางต่อไปจุดอื่นได้ ด้วย ก็จะทำให้ ทั้ง 2 ประเทศได้รับประโยชน์ร่วมกัน เช่น มาเที่ยวพุกามแล้วไปเที่ยวเชียงใหม่ หรือไปเที่ยวหัวประจวบคีรีขันธ์ แล้วเลยไปเที่ยวสิงขร และไม่เพียงแต่เมียนมาเท่านั้น แต่เห็นว่า กลุ่มประเทศในซีแอลเอ็มวี น่าจะดำเนินโครงการในลักษณะเดียวกันนี้ด้วย เพื่อทำให้ทุกประเทศในอาเซียนเติบโตขึ้นไปด้วยกัน

“ไทยพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเมียนมาทุกอย่าง เบื้องต้นแนะนำให้พัฒนาสินค้าชุมชนในแต่ละแห่ง เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่มา ซื้อของ ทำให้ชุมชนมีรายได้ ไม่ใช่มีแต่โรงแรมที่มีรายได้เท่านั้น แล้วประชาชนได้แค่ค่าจ้างแรงงาน พร้อมทั้งแนะนำให้เมียนมาหาเอกลักษณ์ของสินค้าในแต่ละชุมชน เหมือนกับที่ไทยมีสินค้าโอทอป รวมทั้งเน้นการนำนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพเข้ามา เพื่อที่จะสามารถรักษาทั้งแหล่งท่องเที่ยว วิถีชีวิตของชาวเมียนมาไว้ให้ได้ดังเดิม เพราะนอกจากเมียนมามีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติมากแล้ว แต่การเดินทางมาเที่ยวนั้นยังไม่สะดวกเท่าที่ควร หากสามารถทำให้มาไทยแล้ว เดินทางไปยังเมืองอื่น ๆ”

ส่วนกรณีการทำวีซ่า ที่จุดเดียวแล้วเดินทางท่องเที่ยวได้ทั้ง 2 ประเทศ หรือหลายประเทศในอาเซียนนั้น ต้องค่อยๆ พิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากแต่ละประเทศมีนโยบายด้านนี้ต่างกัน และมีศักยภาพไม่เท่ากัน แต่เห็นว่า การทำวีซ่า หรือไม่ ไม่ใช่ปัญหาใหญ่แต่อย่างใด ความสำคัญอยู่ที่การออกแบบแพคเก็จการท่องเที่ยวในการสร้างความเชื่อมโยงกันมากกว่า