พระเทพฯ ทรงให้ตัวแทนช่างฝีมือเครื่องสด-ช่างแทงหยวก 4 ภูมิภาค ร่วมถวายงานจัดทำเครื่องสดประดับพระจิตกาธาน

https://www.matichon.co.th/news/

 

เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่โรงเรียนในวังชาย ในพระบรมมหาราชวัง นายบุญชัย ทองเจริญบัวงาม นักจัดการงานในพระองค์ชำนาญการ สำนักพระราชวัง และอาจารย์โรงเรียนช่างฝีมือในวังชาย ผู้ดูแลการจัดทำเครื่องสดประดับพระจิตกาธาน ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เปิดเผยว่า กองศิลปกรรม สำนักพระราชวัง ได้รับมอบหมายให้จัดทำเครื่องสดประดับพระจิตกาธาน ในการนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีกระแสพระราชดำรัสถึงการจัดทำเครื่องสดประดับพระจิตกาธาน ว่า เปิดโอกาสให้ตัวแทนช่างฝีมือเครื่องสด, ช่างแทงหยวก 4 ภูมิภาค เข้าร่วมในการถวายงานครั้งนี้ โดยการจัดทำให้อยู่ในรูปแบบโบราณราชประเพณีในราชสำนักอย่างถูกต้อง ให้สมพระเกียรติสูงสุด ดังนั้น ที่ผ่านมาทางกองศิลปกรรมจึงคัดเลือกช่างฝีมือเครื่องสด และช่างแทงหยวก ประกอบด้วย ช่างราชสำนัก สำนักพระราชวัง ช่างแทงหยวกสกุลช่างฝั่งธนบุรี (วัดอัปสรสวรรค์) ช่างแทงหยวกสกุลช่าง จ.สงขลา ช่างแทงหยวกสกุลช่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุบลราชธานี และ จ.มหาสารคาม ช่างแทงหยวกสกุลช่าง จ.เพชรบุรี รวมถึง ตัวแทนช่างฝีมือจัดทำเครื่องสดประดับพระจิตกาธานจากสถาบันอาชีวศึกษาจาก 4 ภูมิภาค เข้าร่วมถวายงาน

นายบุญชัยกล่าวต่อว่า โครงสร้างพระจิตกาธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นทรงบุษบก ชั้นเรือนยอด 9 ชั้น ตามพระราชอิสริยยศ ซึ่งมีกฎเกณฑ์ระเบียบแบบแผนในจารีตราชสำนักที่ยึดปฏิบัติสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึง มีการศึกษารูปแบบตั้งแต่ครั้งพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาล 8 โดยนำลวดลายมาปรับปรุง แต่ยังยึดรูปแบบเดิม มีความงดงาม วิจิตร อลังการสมพระเกียรติ เปรียบเสมือนพระวิมานที่จะน้อมถวายในวาระที่พระองค์ท่านเสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์ โดยหลังคาชั้นเรือนยอดจะประดับด้วยเครื่องสด ได้แก่ งานช่างแทงหยวก งานแกะสลักของอ่อน และงานช่างประดิษฐ์ดอกไม้ รูปแบบการตกแต่งหลังคาเรือนยอดพระจิตกาธาน ประดับด้วย การร้อยกรองดอกไม้สดเป็นตาข่ายทุกชั้น ขอบปิดด้วยลวดลายแทงหยวก เรียกว่า รัดเกล้า สาบลายช่องกระจกด้วยกระดาษทองอังกฤษ ประดับลวดลายดอกประจำยามที่ทำจากเปลือกมะละกอดิบ ซ้อนชั้นเป็นดอกดวง ที่มุมชั้นของเรือนยอดแต่ละชั้นจะประดับด้วย กระจังทิศ กระจังเจิม ประดิษฐ์จากกาบกล้วยตานี สาบกระดาษทองอังกฤษ ด้านบนจะประดับประดาด้วยดอกไม้ไหวที่ประดิษฐ์เป็นดอกปาริชาต ปักประดับเว้นระยะห่างกัน

“เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติสูงสุด การจัดทำพระจิตกาธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 มีความแตกต่างจากพระจิตกาธานที่ผ่านมา คือจัดทำเทวดาชั้นพรหม วรรณะสีขาวนวลนั่งคุกเข่า พระหัตถ์ทรงถือพระขรรค์ ประดับหน้าเสาชั้นเรือนไฟ จำนวน 8 องค์ เพื่อเฝ้าพิทักษ์รักษา และส่งเสด็จสู่สรวงสรรค์” นายบุญชัย กล่าว

นายบุญชัยกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังประดิษฐ์ดอกปาริชาติ จำนวน 70 ดอก เท่ากับ 70 ปี ที่ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ ประดับรอบชั้นรัดเอว ที่ประดิษฐานพระโกศจันทน์ 16 ดอก หมายถึง จำนวนชั้นสวรรค์ 16 ชั้น ในรูปลักษณ์ความหมายของไตรภูมิ ส่วนที่เหลือประดิษฐ์เป็นดอกไม้ไหว ดอกไม้เฟื่อง ออกนามว่าดอกปาริชาตเช่นกัน เหมือนดอกไม้ที่ร่วงลงมาจากสรวงสรรค์ ซึ่งในตำนานเป็นดอกไม้บนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เกิดในสวนอันมีนามว่า ปุณฑริกวัน มีกลิ่นหอมไกลถึง 5,000 โยชน์ ใครได้กลิ่นจะระลึกชาติได้ ดอกไม้ชนิดนี้ไม่มีใครเคยเห็น มีแต่ในตำนาน ดังนั้น ทางทีมช่างฝีมือจึงประดิษฐ์ดอกปาริชาติขึ้น โดยใช้ดอกสีเหลือง ซึ่งเป็นสีประจำวันพระราชสมภพ และสีชมพูอมม่วง หรือชมพูอมแดง ซึ่งเป็นสีกำลังวันของพระองค์ ผนวกเป็นสียืนพื้น ในส่วนของเกสรใช้เมล็ดธัญพืช ที่พระองค์ทรงพระราชทานแก่เกษตรกร คือ เมล็ดข้าว ได้เลือกข้าวพันธุ์หอมมะลิจากทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประเทศไทย และเป็นข้าวพันธ์หอมมะลิที่ดีที่สุด เมล็ดข้าวโพดจาก จ.เพชรบูรณ์ จ.เชียงใหม่ และ จ.กาญจนบุรี ถั่วเขียว ถั่วแดง จากเกษตรกรเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ซึ่งทรงพระราชทานให้เกษตรกรไปปลูก และถั่วทอง ใจกลางของดอกปาริชาติเกสรชั้นในสุด ประดิษฐ์จากพลอยนพรัตน์ ประกอบด้วย เพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน ไพลิน มุกดาหาร เพทาย และไพฑูรย์ จาก จ.จันทรบุรี โดยวัสดุอุปกรณ์ในการดำเนินการทั้งหมด ประประชาชนชาวไทยร่วมน้อมเกล้าถวาย ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย

นายบุญชัยกล่าวต่อว่า สำหรับกล้วยที่ใช้แทงหยวก จะใช้ต้นกล้วยตานีตามโบราณราชประเพณี จำนวน 55 ต้น เพราะมีลำต้นใหญ่ ยาวตรงเสมอ กาบกล้วยชั้นในสีขาวนวล อมน้ำดี ใบตองสีเขียว การประดับดอกดวงต่างๆ จะประดิษฐ์ด้วยการใช้พิมพ์ทองเหลือง แกะลวดลายในลวดลายต่างๆ เช่น ลายในเทศ ดอกประจำยาม เป็นต้น ส่วนดอกไม้สดจะเน้นใช้ดอกรัก ดอกมะลิ และกลีบดอกกล้วยไม้ย้อมเป็นสีจำปา และดอกบานไม่รู้โรย ย้อมสีกรองกลีบเป็นสีชมพูอมแดง โดยทางสำนักพระราชวังกำหนดให้มีพิธีสังเวยสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ วันที่ 19 ตุลาคม พิธีบวงสรวงไหว้ครูแทงหยวก วันที่ 22 ตุลาคม และนำงานแทงหยวก งานเครื่องสด และงานดอกไม้สด ขึ้นติดตั้งประกอบบนพระจิตกาธานที่พระเมรุมาศ วันที่ 25 ตุลาคม