“สมคิด”เผยญี่ปุ่นสนใจไฮสปีดเทรนช่วงตะวันออก-ตก อ้อนเจโทรร่วมพัฒนาคนไทยสู่ศก.ดิจิทัล

https://www.matichon.co.th/news/

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กล่าวภายหลังพิธีแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) และหนังสือแสดงเจตจำนง (เอ็มโอไอ) และการประชุมหารือทวิภาคีระหว่างภาครัฐและเอกชนของญี่ปุ่นและไทย ในงานสัมมนาใหญ่เรื่อง “Symposium on Thailand 4.0 towards Connected Industries” ที่โรงแรมแบงค็อก แมริออท ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพฯ ว่า งานครั้งนี้เป็นผลจากครั้งที่ตนเองเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะญี่ปุ่นมีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลก และกำลังยกระดับการพัฒนา นับเป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่กระทรวงเมติ ของญี่ปุ่นได้นำนักธุรกิจมาถึง 500 รายมาไทยขณะเดียวกันญี่ปุ่นก็ได้พัฒนาสู่สังคม 5.0 ที่ใช้นวัตกรรมสนับสนุนอุตสาหกรรม และต่อยอดไปหลากหลายส่วนของสังคม รวมทั้งการผลิต ดังนั้นไทยเองก็กำลังพัฒนาและก้าวสู่สังคม 4.0 ภาครัฐและเอกชนจึงมาหารือกัน

นายสมคิด กล่าวว่า ในการประชุมทวิภาคี ได้มีการพูดคุยกันเรื่องความร่วมมือกันให้ทำออกมาเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาว ทั้งทิศทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันและจะต้องให้ครอบคลุมถึงอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (จีเอ็มเอส) และอาเซียน นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสของญี่ปุ่นที่จะอาศัยไทยเป็นตัวกลางในการร่วมพัฒนาประเทศเพื่อนบ้าน เพราะไทยเป็นศูนย์กลางสำคัญในภูมิภาคนี้ มีหลายอย่างทำร่วมกันได้ ทั้งการใช้ทรัพยากร การพัฒนาบุคลากร ตลาดเงินและตลาดทุน สามารถพบปะพูดคุยกันมากขึ้น เพื่อให้การพัฒนาร่วมกันเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ประการต่อมา คือ การเชื่อมโยงระหว่างกัน ซึ่งนอกจากรถไฟความเร็วสูงในไทยจากเหนือไปใต้ ที่ญี่ปุ่นกำลังศึกษา แต่ในอนาคตจะเกิดเส้นทางตะวันออกสู่ตะวันตก โดยปกติก็มีเส้นทางเป็นถนนเชื่อมกันอยู่แล้ว จากเอเชียใต้ ผ่านพม่า ไทย ลาว เวียดนาม ซึ่งจะเชื่อมความเจริญระหว่างกัน ซึ่งแต่ละประเทศก็กำลังพัฒนา หากมีรถไฟความเร็วสูงในเส้นตะวันออกเชื่อมสู่ตะวันตกก็จะยิ่งสมบูรณ์มากขึ้น โดยรัฐมนตรีกระทวงเมติ ของญี่ปุ่นบอกว่ามีความสนใจเรื่องนี้ แต่จะทำอย่างไรให้โครงการต่างๆนำสู่ภาคปฏิบัติได้ ทั้งการออกแบบและความเร็วของรถไฟก็ให้มานั่งคุยกัน ดังนั้นหากเมื่อไหร่มีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมจากเหนือสู่ใต้ และจากตะวันออกสู่ตะวันตก ก็จะเกิดการเชื่อมโยงอย่างแท้จริง และให้อีอีซีมาเชื่อมต่อในอนาคตข้างหน้า

นายสมคิด กล่าวว่า ประการสุดท้าย ในการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมเดิมของไทยสู่ดิจิทัล รัฐมนตรีเมติ บอกว่าจะช่วยเรื่องนี้รวมทั้งเรื่องเอสเอ็มอี เมื่อนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในภาคการผลิตและอุตสาหกรรม ประชาชนบางส่วนจะต้องปรับตัวอีกมาก และไทยต้องปรับสู่ภาคบริการให้มากขึ้น จากปัจจุบันมีสัดส่วน 50-60% ของจีดีพี จึงได้ขอให้ทางองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) พัฒนาบุคลากรไทยสู่ภาคบริการ โดยใช้จุดแข็งที่มีอยู่ พัฒนาด้านการท่องเที่ยวชุมชน วิสาหกิจชุมชน โอท็อป

นายสมคิด กล่าวถึงความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(อาร์เซ็ป) ที่ญี่ปุ่นมีส่วนร่วมว่า ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ)สำคัญกับทุกประเทศ ญี่ปุ่นมีส่วนร่วมสำคัญที่น่าจะทำให้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) และอาร์เซ็ป เกิดได้ หากเมื่อญี่ปุ่นและจีนได้มีโอกาสคุยกันในรายละเอียดของอาร์เซ็ป เชื่อว่าเกิดไม่ยาก และอาเซียนบวก 6 หลายประเทศก็มีเอฟทีเอระหว่างกันอยู่แล้ว ส่วนทีพีพีก็น่าสนใจ ไทยยินดีร่วมหารือกับญี่ปุ่น ต้องการให้ญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญต่อเรื่องนี้

นายสมคิดกล่าวอีกว่า ปีนี้เป็นปีสำคัญที่ไทยและญี่ปุ่นที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการยาวนานถึง 130 ปี โดยปัจจุบันญี่ปุ่นยังคงเป็นชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 1 มีสัดส่วน 40% ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด และเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 2 รองจากจีน ในครึ่งปีแรกปีนี้ญี่ปุ่นมีเงินลงทุนโดยตรงไปแล้ว 4.73 หมื่นล้านบาท มีปริมาณเงินทุนในการยื่นของส่งเสริมสูงที่สุดคิดเป็น 55% ของมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น การผลิต Hybrid Vehicle มูลค่า 19,547 ล้านบาท กิจการผลิตผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ชนิดพิเศษ หรือเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ มูลค่า 15,182 ล้านบาท กิจการผลิตตัวยึดจับฮาร์ดดิสก์ มูลค่า 3,083 ล้านบาท ฯลฯ นอกจากนี้จำนวนสมาชิกของหอการค้าญี่ปุ่นในประเทศไทยยังมีจำนวนถึง 1,748 บริษัท ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจทั้ง 2 ประเทศยังต้องมีการพึ่งพาซึ่งกันและกันอีกมาก และหลังจากนี้หน่วยงานต่างๆ ของไทยเองก็มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งผลักดันนโยบายการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมเกิดการขยายความร่วมมือกับญี่ปุ่นในบริบทและรูปแบบที่กว้างและหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยในส่วนของรัฐบาลเองก็กำลังอยู่ในช่วงของการเร่งสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเพื่อช่วยให้เกิดการร่วมมือในระดับต่างๆ ที่สูงขึ้นได้ต่อไป