เมื่อเวลา ๑๓.๓0 น. วันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๖๕ พลเรือเอกสมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีบวงสรวงน้อมรำลึก ๒๘๘ ปี วันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ทรงกอบกู้เอกราชจากพม่า เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ ๒
ในการนี้พลเรือเอกประพฤติพร อักษรมัต ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพเรือ ให้เกียรติเชิญคณะผู้บริหารชมรมนักธุรกิจโชคดี อาทิ ดร.อมร อภิธนาคุณ และคุณพวงเพชร อภิธนาคุณ ภริยา, คุณสมเจตน์ วุฒิเลิศเจริญวงศ์ และภริยา ประธานกิตติมศักดิ์ชมรมตลอดชีพ, คุณกิตติพงษ์ เตรัตนชัย, คุณจุรีรัตน์ รัตนศรีสมบัติ, คุณวิจิตร รัตนศิริวิไล ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ฝ่ายบริหาร พร้อมคณะผู้บริหารชมรมฯ เข้าร่วมในพิธีฯ
สำหรับพระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระราชสมภพเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ.๒๒๗๗ เป็นบุตรของ “นายไหฮอง” และ “นางนกเอี้ยง” ซึ่งพระยาจักรีได้ขอไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม ตั้งแต่ยังเยาว์เมื่ออายุได้ ๕ ปี พระยาจักรีได้นำไปฝากเรียนกับพระอาจารย์ทองดี วัดโกษาวาส (วัดคลัง) โดยเรียนหนังสือขอมและหนังสือไทยจนจบบริบูรณ์ แล้วจึงเรียนพระไตรปิฎกจนแตกฉาน เมื่ออายุครบ ๑๓ ปี เจ้าพระยาจักรีได้นำตัวเด็กชายสิน ไปถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระธรรมราชาธิราชที่ ๓(สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำราชการกับหลวงศักดิ์นายเวรซึ่งเป็นบุตรของพระยาจักรี เมื่อมีเวลาว่างจะไปเรียนวิชากับอาจารย์จีน อาจารย์ญวนและอาจารย์แขก จนสามารถพูดภาษาทั้งสามได้อย่างคล่องแคล่ว เมื่ออายุครบ ๒๑ ปี ได้อุปสมบท ณ วัดโกษาวาส พระภิกษุสิน อยู่ในสมณเพศได้ ๓ พรรษา ก็ลาสิกขาและกลับเข้ารับราชการตามเดิม ด้วยความฉลาดรอบรู้ขนบธรรมเนียม ภารกิจต่างๆเป็นอย่างดี จนสามารถทำงานต่างพระเนตรพระกรรณได้ จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นมหาดเล็กรายงานราชการทั้งหลายในกรมมหาดไทย และกรมวังศาลหลวง ครั้น พ.ศ. ๒๓๐๑ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพรเสด็จเสวยราชสมบัติได้ ๓ เดือนเศษ ก็ถวายราชสมบัติให้พระเชษฐาสมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ (สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์) สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์โปรดเกล้าฯ ให้นายสิน มหาดเล็กรายงานเป็นข้าหลวงเชิญท้องตราราชสีห์ขึ้นไปชำระความหัวเมืองฝ่ายเหนือ ซึ่งนายสินปฏิบัติราชการได้สำเร็จเรียบร้อย จนมีความชอบมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหลวงยกบัตรเมืองตาก ช่วยราชการพระยาตาก เมื่อพระยาตากถึงแก่กรรม ก็โปรดให้เลื่อนเป็นพระยาตากเพื่อปกครองเมืองตาก
ในช่วงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ พม่ายกทัพตีพระนคร นับเป็นเวลาที่พม่าล้อมค่ายอยู่ถึง ๑ ปี ๒ เดือน กรุงศรีอยุธยาจึงเสียกรุงให้แก่พม่า สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ จึงถือเป็นพระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา
หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว บ้านเมืองเกิดแตกแยก หัวเมืองต่างๆ ตั้งตัวเป็นใหญ่ต่างคนต่างรวมสมัครพรรคพวกตั้งเป็นก๊กต่างๆ ได้แก่ ก๊กสุกี้พระนายกอง ก๊กพระยาพิษณุโลก ก๊กพระเจ้าฝาง ก๊กเจ้าพระยานครศรีธรรมราช และก๊กเจ้าพิมาย
พระยาวชิรปราการ(พระยาตาก) ได้จัดเตรียมกองทัพอยู่เป็นเวลา ๓ เดือน ก็ยกกองทัพเรือเข้ามาทางปากน้ำเจ้าพระยา จนตีเมืองธนบุรีแตก จับนายทองอินประหาร แล้วเลยไปตีค่ายโพธิ์สามต้น แตกยับเยิน สุกี้พระนายกองตายในที่รบ ขับไล่พม่าออกไปพ้นแผ่นดินไทยสำเร็จ ในปี พ.ศ.๒๓๑๐ ซึ่งใช้เวลากู้อิสรภาพกลับคืนจากพม่า ภายในเวลา ๗ เดือนเท่านั้น
จากนั้น พระยาตาก (พระยาวชิรปราการ) จึงยกทัพกลับมากรุงธนบุรี ทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี และปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๑๑ ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔” แต่ประชาชนนิยมเรียกพระนามว่า “พระเจ้าตากสิน”
จากนั้นพระองค์ทรงยกกองทัพไปปราบปรามก๊กต่างๆ จนราบคาบ ทรงใช้เวลารวบรวมอาณาเขตอยู่ ๓ ปี คือตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๑๑ – พ.ศ. ๒๓๑๓ จนกอบกู้เอกราช รวมเป็นพระราชอาณาจักรเดียวดังเดิม
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงครองราชย์เป็นเวลา ๑๕ ปี พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถ กอบกู้ประเทศชาติให้เป็นเอกราชอิสรภาพตราบเท่าทุกวันนี้
ประชาราษร์ผู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ทรงยกย่องถวายพระเกียรติพระองค์ท่านว่า “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช”
“อันตัวพ่อชื่อว่าพระยาตาก ทนทุกข์ยากกู้ชาติพระศาสนา
ถวายแผ่นดินให้เป็นพุทธบูชา แด่ศาสนาสมณะพุทธโคดม
ให้ยืนยงคงถ้วนห้าพันปี สมณะพราหมฌ์ชีปฏิบัติให้พอสม
เจริญสมถะวิปัสสนาพ่อชื่นชม ถวายบังคมแทบบาทพระศาสดา คิดถึงพ่อพ่ออยู่คู่กับเจ้า ชาติของเราคงอยู่คู่พระศาสนา พระพุทธศาสน์อยู่ยงคู่องค์กษัตรา พระศาสดาฝากไว้ให้คู่กัน”