“ดำรงค์ พิเดช”ชี้ ส.ป.ก.ยึดฟาร์มไก่ปารีณาแล้ว ก็ยังไม่พ้นผิด เพราะที่ยังอยู่ในเขตป่า

ดำรงค์ชี้ ส.ป.ก.ยึดฟาร์มไก่ปารีณาแล้ว ก็ยังไม่พ้นผิด เพราะที่ยังอยู่ในเขตป่า ต้องรับโทษ บุกรุกป่าสงวนฯ

Cover Page

ดำรงค์ชี้ ส.ป.ก.ยึดฟาร์มไก่ปารีณาแล้ว ก็ยังไม่พ้นผิด เพราะที่ยังอยู่ในเขตป่า ต้องรับโทษ บุกรุกป่าสงวนฯ

หัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่า ยกคำพิพากษาป่าสงวนฯทับลานเทียบกรณีฟาร์มไก่ปารีณา ชี้ที่ดินยังไม่ปฏิรูปถือเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ต้องรับโทษบุกรุกป่า

กรณีที่นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งเสริม เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก) แถลงความชัดเจนกรณีการครอบครองที่ดินเขาสนฟาร์ม จ.ราชบุรี หรือฟาร์มไก่ของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ว่า ส.ป.ก.เตรียมทำหนังสืออย่างเป็นทางการ ถึง น.ส.ปารีณา ให้คืนที่ดินจำนวน 682 ไร่ บริเวณฟาร์มไก่ ให้กับ ส.ป.ก.ภายใน 7 วัน หากไม่ยอมคืนจะใช้คำสั่งตาม ม.44 ยึดคืนทันทีนั้น

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม นายดำรงค์ พิเดช ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย (รป.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ประเด็นก็คือ น.ส.ปารีณานั้น ไม่มีคุณสมบัติที่จะครอบครองที่ดินของ ส.ป.ก.ได้ อีกทั้งพื้นที่บริเวณดังกล่าวถือเป็นพื้นที่ที่ยังไม่มีการปฏิรูปตามจุดประสงค์ของ ส.ป.ก. ดังนั้น พื้นที่ดังกล่าวก็ยังถือว่าเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแต่ดั้งเดิมอยู่ ดังนั้น ส.ป.ก.จะยึดคืน ก็ยึดคืนไป แต่ถือว่า น.ส.ปารีณาทำผิดฐานบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ

นายดำรงค์กล่าวว่า เรื่องนี้มีบรรทัดฐานชัดเจน จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14487/2558 ที่มีขึ้นระหว่าง กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่เป็นโจทก์ กับ น.ส.เนตรสวาท ขาวดีเดช ที่เป็นจำเลย ที่ครอบครองพื้นที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยอ้างว่าเป็นที่ดิน ส.ป.ก. โดยในครั้งนั้น ศาลพิพากษาว่าที่ดินตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และอุทยานแห่งชาติ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 895 พ.ศ.2523 ออกตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2523 พระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2524 ซึ่งกฏกระทรวงและแผนที่แนบท้ายกฎกระทรวง พระราชกฤษฎีกา และแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จึงมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2523 และวันที่ 24 ธันวาคม 2524 ตามลำดับ แม้จะมีพื้นที่บางส่วน เช่น ที่ดินพิพาท ที่ปรากฏอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินก็ตามไม่มีผลทำให้ ไม่มีผลทำให้กฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวไม่ชอบ หรือไม่มีสภาพบังคับ เพราะเหตุผล และวัตถุประสงค์ในการออกกฎหมายแต่ละฉบับแตกต่างกัน อำนาจในการดูแลจัดการ หรือดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายแต่ละฉบับ ขึ้นกับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานต่างกัน ตราบใดที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมในพื้นที่พิพาทตั้งอยู่ ยังมิได้นำที่ดินพิพาทไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ดินพิพาทนั้น ยังคงมีสภาพเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 26 (4) เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ จะนำที่ดินพิพาทจะดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ดังนั้น ที่ดินพิพาทจึงอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และอุทยานแห่งชาติทับลาน

นายดำรงค์กล่าวว่า ในคำพิพากษาศาลฎีกาเดียวกันนี้ ระบุด้วยว่า ส่วนราษฎรที่อยู่อาศัยและทำกินหลังวันประกาศสงวน หวงห้ามเป็นพื้นที่ป่าไม้ตามกฎหมายครั้งแต่ ให้กรมป่าไม้ดำเนินการเคลื่อนย้านราษฎรออกจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์นั้น แล้วทำการปลูกป่า เพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ที่ดินพิพาทถูกกำหนดให้เป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2523 ดังนั้นราษฎรจะรับประโยชน์อยู่อาศัยและทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 จะต้องเป็นผู้อยู่อาศัยทำกินมาก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2523 แต่จำเลยรับโอนที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2540 จำเลยปลูกบ้านพักอาศัยเมื่อปลายปี 2540 จึงเป็นภายหลังจากประกาศกำหนดให้ที่ดินพิพาทอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติ การกระทำของจำเลยเป็นการบุกรุก เข้าไปยึดถือ ครอบครอง ก่อสร้าง แผ้วถางที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติทับลาน

“คำพิพากษาดังกล่าวเป็นบรรทัดฐานสำหรับกรณีของ น.ส.ปารีณาได้ กรณีการเข้าไปครอบครองที่ดินในพื้นที่ ส.ป.ก.ที่ยังไม่ได้มีการปฏิรูปใดๆ ซึ่งก็ถือว่าพื้นที่นั้นยังเป็นป่าสงวนแห่งชาติอยู่ เท่ากับว่า น.ส.ปารีณาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จะต้องได้รับโทษตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ไม่เกี่ยวกับกฎหมายปฏิรูปที่ดินแต่อย่างใด” หัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่าฯกล่าว