‘กานต์’ ย้ำชัดงบวิจัยหนุน ศก.ประเทศแกร่ง-ดัน AIS จับมือพันธมิตรพัฒนาแพลตฟอร์ม IoT

https://www.matichon.co.th/news/

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือ เอไอเอส ได้จัดงานสัมมนา Digital Intelligent Nation 2018 เพื่อแสดงศักยภาพและประกาศวิสัยทัศน์ ในการก้าวสู่การเป็น Digital Platform for Thais โดยได้ประกาศความร่วมมือของเครือข่ายพันธมิตร เพื่อร่วมพัฒนา IoT ภายใต้โครงการ “AIS IoT Alliance Platform (AIAP)”

นายกานต์ ตระกูลฮุน หัวหน้าทีมภาคเอกชน การยกระดับนวัตกรรมและ Digitalization คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ และประธานคณะกรรมการ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า ศักยภาพด้านอินโนเวชั่นเป็นสิ่งที่อ่อนด้อยที่สุดของประเทศไทยมาโดยตลอด ขณะที่เป้าหมายการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2523 อยู่ที่ร้อยละ 0.2 ต่อ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) และคงที่อยู่แบบนี้มาหลายปี ขณะที่ประเทศอื่นอย่างเกาหลีใต้ที่เคยลงทุนด้านนี้เท่ากับประเทศไทยมีการเพิ่มการลงทุนด้านวิจัยพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 4 ต่อ GDP กลายเป็นอันดับ 1 ในโลกไปแล้ว ขณะที่ประเทศไทย ข้อมูลในปี 2559 เริ่มจะขยับการลงทุนด้านวิจัยฯ ไปที่ร้อยละ 0.78 ต่อ GDP รวมเป็นมูลค่าทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่ที่ราว 1.1 แสนล้านบาท แต่ปีที่แล้วคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ราวร้อยละ 1 ต่อ GDP เป็นครั้งแรก ส่วนจำนวนบุคลากรด้านวิจัยและพัฒนาในปี 2557 อยู่ที่ 12.9 คนต่อหมื่นประชากร และมีแนวโน้มที่ดีในการพัฒนาจนในปี 2559 คือ 17 คนต่อหมื่นประชากร โดยมีเป้าหมายว่าปี 2564 จะมีบุคลากรด้านนี้อยู่ที่ 25 คนต่อหมื่นประชากร ซึ่งถือว่าไม่เลว และขณะที่คาดการณ์ของ Bloomberg 2018 ไทยติดอันดับ 45 ที่มีการสำรวจดัชนีด้านอินโนเวชั่นทั่วโลก

“สถานะด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทยยังมีความหวัง จากการผลักดันนโยบายที่ทำให้มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็มีข้อกังวลเรื่องความต่อเนื่อง เพราะ 4 ปี รัฐมนตรีอย่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ก็เปลี่ยนมาแล้ว 3 คน” นายกานต์ กล่าว

 นายกานต์กล่าวอีกว่า ส่วนการเร่งรัดโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC จนเห็นผลเป็นรูปธรรมได้ มีส่วนสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ และได้รับความสนใจสูงมากจากภาคเอกชน ขณะเดียวกันแผนยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม 20 ปี รวมถึง การผลักดันบิ๊กดาต้าดาต้าภาครัฐ ยิ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดอีโคซิสเต็มด้านอินโนเวชั่นของประเทศให้ดียิ่งขึ้น ดึงดูดการลงทุนทางเศรษฐกิจรวมถึงการลงทุนพัฒนาสตาร์ตอัพให้มากขึ้น

“ในช่วงที่เข้ามาเป็นกรรมการเอไอเอสกว่า 2 ปีครึ่ง ได้มีโอกาสศึกษาด้านนวัตกรรมอย่างจริงจัง กับบรรดามหาวิทยาลัย และอินโนเวชั่นเซ็นเตอร์ของบริษัทรายใหญ่หลายๆ แห่ง อย่างหัวเว่ย ในปี 2559 บริษัทเดียวลงทุนด้านวิจัยพัฒนาถึง 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ปีล่าสุดอยู่ที่ 10-11 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ยอดขายก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เห็นได้ชัดถึงความสำคัญของการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา ถ้าประเทศไทยเฉพาะภาครัฐลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาถึงแสนล้านบาทจะทำให้เกิดจุดเปลี่ยนแน่นอน เพราะเอกชนก็มีการลงทุนอยู่แล้ว ถ้าทุกคนร่วมมือร่วมใจกันจะเห็นผลแน่นอน” นายกานต์

นายกานต์กล่าวอีกว่า ในฝั่งเอไอเอสเอง ได้ใช้เวลากว่า 2 ปีในการไปดูงาน IoT ของหลายๆ แห่งที่ได้มีการพัฒนาขึ้นเพื่อให้เกิดบริการ IoT ได้จริง จนเป็นที่มาของโครงการ AIS IoT Alliance Platform (AIAP) ซึ่งเป็นการร่วมมือกันของ 70 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ที่ครอบคลุมทั้งผู้ผลิตอุปกรณ์ นักวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี อาทิ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด บมจ.ปตท., ไมโครซอฟท์, หัวเว่ย, ซัมซุง, ฟอร์ท, คอร์ปอเรชั่น, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเชียงใหม่เมคเกอร์คลับ