https://www.matichon.co.th/news/
เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ยูเอ็นโอเอชซีเอชอาร์) เรียกร้องให้ไทยปล่อยตัวและยกเลิกข้อกล่าวหาผู้ชุมนุมทุกรายที่ถูกจับกุมขณะเดินประท้วงอย่างสันติต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินขนาด 2,200 เมกะวัตต์ ที่ จ.สงขลา
โดยเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ชาวบ้านราว 100 คน จากอำเภอเทพา จ.สงขลา ได้ร่วมชุมนุมเพื่อยื่นหนังสือแก่นายกรัฐมนตรีที่อยู่ระหว่างการลงพื้นที่จังหวัดภาคใต้ แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยความช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ทหารในท้องถิ่นเข้าทำการสกัดการชุมนุมและจับกุมตัวชาย 17 คน ซึ่งรวมถึงผู้สื่อข่าวในท้องถิ่นและเด็กวัย 16 ปี
ผู้ชุมนุมทั้ง 16 คน ถูกตั้งข้อหาร่วมกันดำเนินการอันเป็นการกีดขวางการจราจรตาม พ.ร.บ.ทางหลวง และต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าหน้าที่พนักงาน ซึ่งได้กระทำการตามหน้าที่ตามมาตรา 138 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งผู้ชุมนุมอาจต้องโทษจำคุกสูงสุดถึง 2 ปี หากพบว่า การกระทำความผิดตามข้อกล่าวหา ทั้งนี้ ผู้ชุมนุม 15 คน ยังคงถูกควบคุมตัว ขณะที่เด็กวัย 16 ปี ได้รับการประกันตัวแล้วเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
ซินเธีย เวลิโก ตัวแทนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า การประท้วงอย่างสันติเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของสังคมประชาธิปไตยเพื่อก่อให้เกิดสำนึกรับผิดชอบและการมีส่วนร่วมของสาธารณชน
โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้รับรายงานหลายครั้งกรณีชาวบ้านในชุมชนและนักกิจกรรมผู้ประท้วงโครงการพัฒนาอย่างสันติเนื่องจากความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพและความเป็นอยู่ ถูกข่มขู่จากทางการและบริษัทผู้พัฒนาโครงการ
สมาชิกในชุมชนและนักกิจกรรมในไทยจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ถูกปลิดชีวิต ทำร้ายร่างกาย ตั้งข้อหาทางอาญาว่าทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง และยังถูกขัดขวางไม่ให้ชุมนุมอย่างสันติหรือเข้าร่วมในการอภิปรายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาต่างๆ อีกด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ล้วนตรงข้ามกับพันธสัญญาที่ประเทศไทยทำไว้อย่างแน่นแฟ้นในเรื่องเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนและหลักการชี้นำของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน
เวลิโกกล่าวด้วยว่า “เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยต้องดำเนินขั้นตอนสำคัญเพื่อให้เกิดการหารือกับสาธารณะอย่างสม่ำเสมอบนพื้นฐานของความสุจริตใจ และเพื่อให้ได้รับความยินยอมที่เป็นอิสระบนพื้นฐานของการได้รับข้อมูลเพียงพอและล่วงหน้าจากชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาด้วยวิธีที่มีความหมาย ตามที่รัฐธรรมนูญไทยได้รับประกันไว้”
“เราขอเรียกร้องให้ทางการไทยรับประกันสิทธิในการชุมนุมอย่างสันติและสิทธิในการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งขอให้คุ้มครองความปลอดภัยและเกียรติของสมาชิกชุมชนตลอดจนผู้พิทักษณ์สิทธิมนุษยชน ในวิถีที่สอดคล้องกับพันธะของประเทศไทย ภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศด้วย”