สศช.ปลื้มไตรมาส 3 จีดีพีโต 4.3% มองอนาคตดีปีหน้าโอกาสเห็น 4.6% ผลพวงภาคเอกชนฟื้น

https://www.matichon.co.th/news/

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2560 ขยายตัว 4.3% ถือเป็นการขยายตัวสูงสูงในรอบ 18 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 1/2556 รวม 9 เดือนแรกของปี 2560 เศรษฐกิจไทย ขยายตัว 3.8% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัว 3.3 % โดยมีปัจจัยบวกจากสาขาอุตสาหกรรมขยายตัว 4.3% สูงสุดในรอบ 18 ไตรมาส และยังเป็นการปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 1.1% ตามการขยายตัวเพิ่มขึ้นและกระจายตัวมากขึ้นของอุตสาหกรรมสำคัญ สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น 4% โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกช่วง 30-60 % ขยายตัว 8.6% ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ ขยายตัว 2.6% อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 62% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่อยู่ 58.5% ทั้งนี้ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ขยายตัวเกือบทุกรายงาน อาทิ ยานยนต์ เครื่องยนต์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์ หลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ส่วนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลง อาทิ เครื่องจักรที่ใช้งานทั่วไปอื่นๆ เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ เส้นใยสิ่งทอ รวมถึงสิ่งทอ

นายปรเมธีกล่าวว่า ด้านลงทุนรวม ขยายตัว 1.2% ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวเพียง 0.4% โดยการลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว 2.9% เป็นผลมาจากการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักร ที่ขยายตัว 4.3% สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน ที่ขยายตัว 4.4% และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ที่ขยาย 13.1% ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้าง ลดลง 1.1% ส่วนการลงทุนภาครัฐ ลดลง 2.6% แต่ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ลดลง 7% โดยอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาส 3 อยู่ที่ 19.6% การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 3.1% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 3% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ระบบเศรษฐกิจ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยการใช้จ่ายซื้อสินค้าคงทน ขยายตัว 7% สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง ที่ขยายตัว 10.9% ค่าใช้จ่ายซื้อสินค้ากึ่งคงทน ขยายตัว 3.5% สินค้าไม่คงทน ขยายตัว 3% สอดคล้องกับการนำเข้าสินค้าหมวดสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม ขยายตัว 5.1% ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันดีเซล ขยายตัว 4.5% และปริมาณการจำหน่ายเบียร์ ขยายตัว 15.2% ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 62.4% การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภครัฐบาล ขยายตัว 2.8% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 2.6%

นายปรเมธี กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวก มาจากการส่งออกสินค้าที่มีมูลค่า 61,663 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 12.5% สูงสุดในรอบ 19 ไตรมาส โดยกลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าขยายตัว อาทิ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง น้ำตาล ผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าลดลง อาทิ รถยนต์นั่ง รถกระบะและรถบรรทุก และเครื่องปรับอากาศ ขณะที่ภาคเกษตร ขยายตัว 9.9% เป็นผลจากสาขาเกษตร ขยายตัว 10.1% สาขาประมง ขยายตัว 8.6% โดยผลผลิตพืชเกษตรสำคัญที่ขยายตัว อาทิ ข้าวเปลือกนาปี มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ผลไม้ สินค้าปศุสัตว์ และหมวดประมง อย่างไรก็ตามดัชนีราคาสินค้าเกษตร ลดลง 12.9% จากฐานที่สูงในช่วงก่อนหน้า โดยสินค้าที่ราคาลดลง อาทิ ข้าวเปลือก ปาล์ม ข้าวโพด มันสำปะหลัง ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวม ลดลง 2.6%

นายปรเมธี กล่าวว่า สศช. คาดว่า เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2560 น่าจะขยายตัวที่ 3.9% โดยการลงทุนรวม ขยายตัว 2% แบ่งเป็น ภาคเอกชน ขยายตัว 2.2% และภาครัฐ ขยายตัว 1.8% การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 3.2% การอุปโภคภาครัฐ ขยายตัว 2% มูลค่าการส่งออกสินค้า ขยายตัว 8.6% มูลค่าการนำเข้าสินค้า 13% อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ย 0.7% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 10.4% ของจีดีพี

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2561 คาดว่าจะขยายตัว 3.6-4.6% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1.การขยายตัวในเกณฑ์ดีของเศรษฐกิจโลก เป็นปัจจัยสนับสนุนภาคส่งออก 2.แรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มขยายตัวขึ้น 3.การปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน 4.สาขาเศรษฐกิจสำคัญมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากปีก่อน และ 5.การปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงานและฐานรายได้ของประชาชนในระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ คาดว่า การลงทุนรวม ขยายตัว 5.5% แบ่งเป็น ภาคเอกชน ขยายตัว 3.7% และภาครัฐ ขยายตัว 11.8% การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 3.1% การอุปโภคภาครัฐ ขยายตัว 2.7% มูลค่าการส่งออกสินค้า ขยายตัว 5% มูลค่าการนำเข้าสินค้า 7% อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ย 0.9-1.9% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 8.1% ของจีดีพี