https://www.matichon.co.th/news/
น.ส.วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยในงานเผยแพร่บทความของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เรื่องถอดบทเรียนนโยบายไฟฟ้าฟรี สู่โครงการประชารัฐสวัสดิการ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า สิทธิการใช้ไฟฟ้าฟรี ควรจะมีมาตรการคัดกรองผู้ที่สมควรได้รับสิทธิ เพื่อให้สวัสดิการเข้าถึงประชากรกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด และมีการรั่วไหลน้อยที่สุด ที่ผ่านมาแม้จะมีการกำหนดเกณฑ์ที่รัดกุมเพื่อช่วยลดการรั่วไหล แต่ทำให้จำนวนประชากรที่ตกหล่นจากการได้รับการช่วยเหลือเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
น.ส.วิชสิณีกล่าวว่า โครงการมาตรการไฟฟ้าฟรี ที่ให้สิทธิยกเว้นค่าไฟฟ้าแก่ประชาชนเฉพาะกลุ่ม โดยระบุตัวผู้ได้รับสิทธิจากสถานะความเป็นเจ้าของมิเตอร์ ขนาดของมิเตอร์และระดับการใช้ไฟฟ้านั้น อาจจะนำไปสู่ความผิดพลาดใน 2 กรณีคือ ผู้ที่สมควรได้รับสิทธิแต่ไม่ผ่านการคัดกรอง และผู้ที่ไม่สมควรได้รับสิทธิแต่ผ่านการคัดกรอง นอกจากนี้การรั่วไหลอีกประเภท เกิดจาดเกณฑ์การให้สิทธิไฟฟ้าฟรีก่อนเดือนมกราคม 2559 ที่กำหนดเพียงว่าครัวเรือนต้องเป็นเจ้าของมิเตอร์ขนาด 5 (15) แอมแปร์และใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 50 หน่วยในเดือนนั้น ซึ่งในทางปฏิบัติอาจจะเป็นไปได้ว่า สถานที่นั้นอาจจะเป็นบ้านหลังที่ 2 ของครอบครัวที่มีฐานะดี
น.ส.วิชสิณีกล่าวว่า เกณฑ์ของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่กำหนดให้ผู้ได้รับสิทธิไฟฟ้าฟรี ต้องไม่เป็นนิติบุคคล และต้องใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 เดือน จะช่วยลดภาระเงินอุดหนุนอย่างน้อย 830 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นจึงมองว่าการคัดกรองข้อมูลที่สำคัญคือ ควรจะมีการจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่หรือบิ๊กดาต้า ของผู้ลงทะเบียนทั้ง 14.1 ล้านคนอย่างละเอียด เพื่อนำมาเชื่อมโยงกับฐานช้อมูลของรัฐบาลที่มีอยู่ประมาณ 26 ฐานข้อมูล เช่น กรมการปกครอง ธปท. ธนาคารพาณิชย์ กรมสรรพากร ซึ่งจะทำให้มีการรั่วไหลข้อมูลน้อยกว่าการใช้เกณฑ์พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว
“ดังนั้นจึงควรใช้ทั้งเกณฑ์การใช้ไฟฟ้า และข้อมูลรายได้และสินทรัพย์ควบคู่กัน จะทำให้ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้ตรงจุด และใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต โดยใช้ข้มูลจากการการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งคาดว่าจะลดภาระการอุดหนุนการใช้ไฟฟ้าได้ โดยการคำนวณอย่างคร่าวๆ พบว่า หากสิทธิไฟฟ้าฟรี 50 หน่วย ต่อครัวเรือนต่อเดือน ถูกผนวกรวมให้อยู่ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั้งหมด ภาระการอุดหนุนในส่วนการใช้ไฟฟ้าจะสูงถึง 4,115-6,900 ล้านบาทต่อปี เมื่อเทียบกับภาระการอุดหนุนการใช้ไฟฟ้าปัจจุบันที่ 3,000 ล้านบาทต่อปี น.ส.วิชสิณีกล่าว