http://www.isnhotnews.com/news/
เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่กระทรวงแรงงาน มีการจัดเสวนาวิชาการ “พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ปวงชนชาวไทยได้อะไร” โดยมีนายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน นายสมพงศ์ สระแก้ว ผอ.มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน LPN นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และรศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม และอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเสวนา ทั้งนี้มี คณะกรรมการนโยบายการจัดการ ปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) อนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงาน ต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (อกนร.)ภาครัฐ ภาคเอกชน เอ็นจีโอ ผู้แทนนายจ้าง บริษัทนำเข้า ผู้แทนเครือข่ายแรงงาน และผู้แทนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เข้าร่วมกว่า 1 พันคน
นายวรานนท์ กล่าวว่า ภายหลังรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกมาตรา 44 ชะลออการบังคับใช้ พ.ร.ก.กำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มาตรา 101,102, 119 และ 122 นั้น กระทรวงจะมีการออกระเบียบมารองรับ โดยคาดว่าภายในเย็นวันนี้ (5 มิ.ย.) จะออกประกาศ 1 ฉบับ เพื่อแก้ปัญหาใน 2 เรื่องก่อนคือ 1.การเปลี่ยนนายจ้างให้ตรงกับที่ระบุ 2. การเปิดศูนย์แจ้งแรงงานต่างด้าวทั่วประเทศ จังหวัดละ 1 แห่ง ซึ่งจะพิจารณาจากความใหญ่และประชากรแรงงานต่างด้าวในพื้นที่นั้นๆ ส่วนกรุงเทพมหานครมีทั้งหมด 10 แห่ง ซึ่งเป็นศูนย์เฉพาะกิจที่เปิดดำเนินการเพียง 15 วัน ส่วนดำเนินการรับแจ้งสถานภาพการทำงานของนายจ้าง ลูกจ้าง โดยหลักๆ ใช้เพียงเอกสารใบคำร้อง เอกสารยืนยันการจ้างงาน และเพื่อให้เกิดความคล่องตัว รวดเร็วอาจจะเตรียมเอกสารพาสปอร์ตที่รูปหน้าของแรงงานต่างด้าวที่ใช้ในการจ้างงานไปด้วย อย่างไรก็ตาม แต่ละรายจะใช้เวลาเพียง 15 นาที คาดว่า 15 วันจะรองรับได้หมด ทั้งนี้เมื่อได้เอกสารรับรองแล้วก็เร่งพิสูจน์สัญชาติ ขอวีซ่าและเวิร์คฟอมิตตามกระบวนการ ซึ่งทางการเมียนมาจากที่คุยให้ความร่วมมือดีมากโดยจะส่งเจ้าหน้าที่และเครื่องมือมาเปิดให้บริการพิสูจน์สัญชาติเพิ่มเป็น 6 แห่ง
เมื่อถามว่าในข้อ 4 ของมาตรา 44 ที่ให้รมว.แรงงานดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายภายใน 120 วันจะมีการพิจารณาเรื่องลดโทษปรับ 4 – 8 แสนบาทหรือไม่ นายวรานนท์ กล่าวว่า เรื่องการปรับแก้กฎหมายจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา และทำประชาพิจารณ์ว่าควรปรับแก้ตรงไหน อย่างไร ซึ่งเรื่องโทษปรับก็จะมีการพิจารณาด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม อัตราโทษปรับ 4 – 8 แสนบาท นั้นสอดคล้องกับกฎหมายอื่นๆ คือ กฎหมายประมง กฎหมายใช้แรงงานเด็ก กฎหมายป้องกันการค้ามนุษย์ หากพ.ร.บ.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวกำหนดโทษต่ำ คนจะกลัวหรือไม่ ปัญหาที่ฝังลึกมานานตอนนี้เพราะโทษปรับต่ำ คนไม่กลัวกฎหมายหมาย ที่กังวลว่าโทษปรับสูงจะยิ่งเกิดผลเสีย ทำให้มีการเรียกรับผลประโยชน์สูงนั้นมองได้ 2 มุม ซึ่งมุมหนึ่งอาจจะจริงตนไม่ปฏิเสธ แต่อีกมุมหนึ่งคือเสียเงินเยอะเพื่อทำให้ถูกกฎหมายดีกว่าเสียเงินเยอะเพื่อทำผิดกฎหมายดีกว่าหรือไม่
“โดยรวม พ.ร.ก.นี้มีประโยชน์ต่อปวงชนชาวไทย ไม่ใช่ใครบางคน ส่วนบทลงโทษที่กำหนดไว้นั้น ที่หลายคนกังวลเรื่องโทษที่กำหนด 4 แสนบาท กรณีการใช้ลูกจ้างไม่มีใบอนุญาต หรือมีใบอนุญาตไม่ตรงตามจริง กฎหมายนี้ไม่ได้เน้นลงโทษลูกจ้าง เพราะหากนายจ้างปฏิบัติถูกกฎหมาย ลูกจ้างก็ไม่ทำผิด ซึ่งหากนายจ้างมีสำนึกดี ไม่เอาเปรียบคนไทยส่วนใหญ่ มีสำนึกในการยอมรับกฎหมายก็ไม่ต้องกลัว ดังนั้น อย่าพูดย้ำเรื่องบทลงโทษ 4 แสน หรือ8 แสนบาท ยิ่งพูดยิ่งขายหน้า เพราะหากเราไม่ทำผิดก็ไม่ต้องกลัว อย่างไรก็ตาม ภายใน 6 เดือนนี้จะไม่ถูกลงโทษ” นายวรานนท์ กล่าว และว่าภายหลังพ.ร.ก.ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมามีผู้ที่มารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ประมาณ 5-6 หมื่นคนแล้ว และขอเปลี่ยนเวิร์คพอมิตแล้วประมาณ 1 หมื่นคน
รศ.แลกล่าวว่า เนื้อหา พ.ร.ก. เป็นเรื่องการบริหารจัดการการใช้กฎหมาย ที่ใช้ไม่ถูกจังหวะจะโคน และโทษ 4-8 แสนบาททำให้เกิดความแตกตื่น และกระทบกระบวนการผลิตชัดเจน ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว ต้องถามว่าจะแก้เพื่ออะไร ซึ่งการปรับปรุงก็เพื่อให้เป็นมาตรฐานของสหภาพยุโรป เพื่อหลีกเลี่ยงการที่ไทยจะตกเทียร์ จึงต้องดูว่าการใช้แรงงานของเราเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ประเด็นไม่ได้อยู่ที่มีการออกกฎหมายกี่ฉบับมาควบคุม ดังนั้นทำไมเราไม่พูดว่านอกจากการออกกฎหมายเพื่อให้พ้นการคว่ำบาตร แต่เราห่วงเรื่องความมั่นคงใช่หรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากมีอัตราบทลงโทษสูงเมื่อไร ราคาในการเลี่ยงกฎหมายก็แพงขึ้น ทางแก้คือต้องทำให้ระบบขึ้นทะเบียนถูก รวดเร็ว สะดวก เพื่อเอื้อให้คนปฏิบัติตามกฎหมาย หากปฏิบัติตามกฎหมายแพง เขาก็เลือกไม่ปฏิบัติตามกฎหมายด้วยวิธีที่ถูกกว่า ยิ่งธุรกิจขนาดเล็กการทำให้ถูกกฎหมาย ก็แพงสำหรับเขา หรือคนที่ไม่มีจิตสำนึกอย่างอธิบดีกล่าวนั้น ก็เพราะกระบวนการถูกกฎหมายยุ่งยากหรือไม่
“มองว่ามาตรการเหล่านี้ ยิ่งเอื้อต่อการติดสินบน และต้องถามว่าคุณคิดหรือว่าผู้ประเมินเรื่องเทียร์ จะไม่รู้ ผมมองว่า นอกจากไม่ช่วยให้เรามีเครดิตเพิ่มขึ้น ไม่ช่วยเรื่องสิทธิมนุษยชนแล้ว ผมคิดว่าความโกลาหลทั้งหลายก็กระทบความมั่นคงเช่นกัน เพราะตอนนี้ความมั่นคงด้านเศรษฐกิจถูกเขย่าอย่างแรง” รศ.แล กล่าว
ทั้งนี้ระหว่างที่มีการเปิดให้ผู้ร่วมงานได้แสดงความเห็นนั้นมีนายอุทิศ เหมวัฒนกิจ ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับการออกพ.ร.ก.ดังกล่าวโดยมองว่าเป็นการเอื้อให้เกิดการเรียกรับผลประโยชน์ โดยเฉพาะกรณีบริษัทนายหน้าจัดหาแรงงานไปขึ้นทะเบียนนั้นต้องใช่เงินสูงถึง 5 ล้านบาท ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ของกรมการจัดหางานประกบตัวนายอุทิศอยู่ตลอด โดยในช่วงแรกพยายามต่อรองไม่ให้มีการสัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวด้วย