สภาวิศวกร-สถาปนิก ถกผู้แทนจีนนัดแรก คาดใช้คนไทยสัดส่วน 50% ร่วมสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน

https://www.matichon.co.th/news/

dav

ที่โรงแรมเอสซี ปาร์ค นายกมล ตรรกบุตร นายกสภาวิศวกร พร้อมด้วยนายเจตกำจร พรหมโยธี นายกสภาสถาปนิก นายอมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร นายประภากร วทายนกุล กรรมการสภาสถาปนิก ร่วมแถลงผลการหารือการอบรมและทดสอบความรู้วิศวกรและสถาปนิกจีน โดยนายกมลกล่าวว่า การร่วมประชุมหารือกับทางตัวแทนรัฐบาลจีนในวันนี้ (29 มิ.ย.) เป็นการประชุมร่วมกันครั้งแรกระหว่างสภาวิศวกรและสถาปนิกไทย กับบริษัทจีน 2 ราย ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้แทนจีน หลังจากที่มีประกาศมาตรา 44 ออกมาเพื่อเร่งรัดโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา โดยในที่ประชุมได้มีการหารือกันใน 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1.แผนการอบรมและทดสอบวิศวกรและสถาปนิกจีน มีความคืบหน้าไปกว่า 90% ซึ่งสรุปว่าจะให้มีการอบรมและทำแบบทดสอบ หลังจากนั้นจะออกใบรับรองให้ โดยต้องผ่านเกณฑ์คะแนน 60% ซึ่งในแบบทดสอบจะวัดเรื่องกฎหมายและจรรยาบรรณ ความรู้ในทางเทคนิค สภาพภูมิอากาศ สภาพแวดล้อม สภาพภูมิศาสตร์ ความรู้ด้านธรณีวิทยาและสถาปัตยกรรม รวมถึงมาตรฐานความปลอดภัย โดยวิชาชีพวิศวกรจะต้องได้รับการอบรมรวม 18 ชั่วโมง หรือใช้เวลา 3 วัน และวิชาชีพสถาปนิกได้รับการอบรมรวมประมาณ 10 ชั่วโมง หรือใช้เวลา 2 วัน ทั้งนี้จะให้มีการบรรยายเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ และอนุญาตให้ล่ามแปลเป็นภาษาจีนได้

นายกมลกล่าวว่า 2.หารือกันในหลักสำคัญของการถ่ายโอนเทคโนโลยี โดยสภาวิศวกรและสภาสถาปนิกเสนอว่าควรจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการถ่ายโอนเทคโนโลยี การจัดทำรายงานขั้นตอนการถ่ายโอนเทคโนโลยี การกำหนดสัดส่วนวิศวกรไทยที่จะเข้าไปร่วมทำงานในโครงการ และการกำหนดให้มีวิศวกรและสภาปนิกประกบในส่วนงานที่สำคัญ ผลการหารือเบื้องต้นทางจีนรับหลักการในส่วนนี้ และเห็นด้วยกับข้อเสนอ และ 3.หารือเรื่องบทบาทความร่วมมือระหว่างสภาวิศวกรและสถาปนิกไทย-จีน ในลักษณะการลงนามข้อตกลง (เอ็มโอยู) เพื่อสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์ในวิชาชีพระยะยาว

นายอมรกล่าวว่า ผลการหารือทั้ง 3 ประเด็นที่กล่าวมา ทางผู้แทนจีนเห็นชอบในหลักการ และได้เชิญทางสภาวิศวกรและสภาสถาปนิกไทยไปร่วมประชุมในครั้งต่อไป ระหว่างวันที่ 4-8 กรกฎาคมนี้ ที่กรุงปักกิ่ง เพื่อหารือในประเด็นสำคัญโดยเฉพาะรูปแบบการถ่ายโอนเทคโนโลยี ว่าจะต้องลงรายละเอียดในส่วนไหนอย่างไรบ้าง เพื่อให้มีการถ่ายโอนเทคโนโลยีได้อย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตามทางสภาวิศวกรและสภาสถาปนิกมีแผนจะเสนอให้มีการเซ็นเอ็มโอยูร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในวิชาชีพระหว่างประเทศด้วย

นายอมรกล่าวว่า รูปแบบการอบรมคาดว่าจะเป็นการอบรมในคลาสรูม โดยทางวิศวกรและสถาปนิกจีนที่จะเข้ามาอบรมอาจจะมาอบรมไม่พร้อมกันทั้งหมด 300 คน แต่อาจจะแบ่งเป็นกลุ่มๆ โดยในเบื้องต้นหลังจากที่ไปประชุมหารือที่กรุงปักกิ่งแล้ว คาดว่าจะได้คอนเซ็ปท์ของการหารือทั้งหมด ซึ่งมีความคืบหน้าประมาณ 70-80% จึงประเมินในเบื้องต้นว่าในขั้นตอนการอบรม ทำแบบทดสอบและออกใบรับรองจะอยู่ในกรอบเวลาไม่เกิน 2-3 เดือน หลังจากนั้นสามารถเริ่มทำการก่อสร้างได้ตามแผน

“ความคืบหน้าเรื่องสัดส่วนวิศวกรจีนในขณะนี้ คาดว่าโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนทั้งเส้น จะใช้วิศวกรจีนประมาณ 300 ราย และสถาปนิกจีนประมาณ 20 ราย ส่วนวิศวกรและสถาปนิกไทยได้เสนอข้อตกลงว่าจะใช้คนไทยประมาณ 50% หรือไม่น้อยกว่า 150 ราย ซึ่งก็เป็นไปตามแผนงานที่ระบุไว้ โดยทางสภาวิชาชีพจะเป็นหน่วยงานที่คัดเลือกวิศวกรและสถาปนิกที่จะเข้ามาทำงาน ทั้งนี้ในส่วนการก่อสร้างระยะแรก 3.5 กิโลเมตร (กม.) ที่สถานีกลางดง จะเป็นงานวิศวกรรมทั้งหมด คาดว่าจะใช้วิศวกรจีนทำงานประมาณ 20-30 ราย” นายอมรกล่าว

1