จ่องัด ม.44 ชะลอโทษปรับรุนแรง ตาม”พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว”

https://www.matichon.co.th/news/

รัฐบาล จ่อ งัด ม.44 ชะลอ โทษปรับรุนแรง ตาม”พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว” ขีดเส้น 120 วัน ให้นายจ้าง-ลูกจ้าง กลับไปดำเนินการให้ถูกกม.

เมื่อเวลา 12.00. น. วันที่ 30 มิถุนายน ที่ทำเนียบนรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกพล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน ตัวแทนกฤษฎีกา ก.พ.ร. สมช. กกร. สภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรม เข้าหารือแก้ปัญหาหลังพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ประกาศใช้ โดยใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง ก่อนรายงานนายกรัฐมนตรีทราบ

โดยภายหลังเสร็จสิ้น นายวิษณุ ได้แถลงข้อสรุปว่า จะมีการออกมาตรา 44 เพื่อชะลอการบังคับใช้ 3 มาตรา ในพ.ร.ก.ดังกล่าว ได้แก่ มาตรา 101 มาตรา 102 และ มาตรา 122 ซึ่งกำหนดค่าปรับรวมถึงบทลงโทษที่รุนแรงกับลูกจ้างและนายจ้างที่ทำผิดกฎหมาย โดยจะมีผลย้อนไปถึงวันที่ 23 มิถุนายน คือวันที่ พ.ร.ก.ประกาศ เนื่องจากพบว่าทั้ง 3 มาตรามีปัญหาการบังคับใช้ นายกฯ จึงเห็นควรให้ชะลอไปก่อน 120 วัน

นายวิษณุ กล่าวว่า ทั้งนี้ ที่ประชุมรับทราบถึงปัญหาการบังคับใช้พ.ร.ก.ดังกล่าวโดยภาคเอกชนได้ยื่น 4 ข้อเสนอถึงรัฐบาล ได้แก่ 1.การตั้งศูนย์รับจดทะเบียนใหม่ 2.ขอให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาออกกฎหมายลูกเกี่ยวกับเรื่องแรงงานต่างด้าว 3.การจ่ายเงินชดเชย กรณีลูกจ้างเดินทางกลับประเทศหรือหยุดงาน และ 4.การประชาสัมพันธ์ พ.ร.ก.ดังกล่าวให้นายจ้างและลูกจ้างรับทราบ เพราะพ.ร.ก.ดังกล่าว 145 มาตรา อ่านแล้วเข้าใจยาก ควรต้องประชาสัมพันธ์ให้เข้าใจง่าย ซึ่งภาครัฐรับได้กับข้อเสนอทั้งหมด ยกเว้นข้อแรก เพราะการเปิดศูนย์รับจดทะเบียนใหม่ในประเทศไทยมีอุปสรรค ถ้าทำจะขัดต่อบันทึกความเข้าใจที่ไทยทำไว้ไว้กับเมียนมา ลาว และกัมพูชา และขัดต่อข้อตกลงเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย (ไอยูยู)
ว่าจะแก้ปัญหาการเข้าเมืองผิดกฎหมายของคนต่างด้าว นอกจากนั้น ยังมีปัญหาการรับจดทะเบียนในประเทศจะเป็นการเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวทะลักเข้าไทย เสี่ยงต่อการผิดกฎหมายหลบหนีเข้าเมือง ซึ่งเคยพูดไว้แล้วว่าจะต้องจัดทำระบบการรับแรงงานต่างด้าวเข้ามาให้ถูกต้อง แม้กระทั่งเมียนมาเองก็ไม่สะดวกใจในไทยดำเนินการเช่นนี้ เขายืนกรานว่าจะต้องตรวจสอบอะไรบางอย่างก่อนส่งคนของเขาเข้ามาบ้านเรา

นายวิษณุกล่าวว่า จากปัญหาข้างต้นนายกฯ จึงเห็นชอบดังนี้ 1.ไทยยังเคารพในพันธะกรณีที่ตกลงไว้กับประเทศต่างๆ 2.พันธะกรณีสำคัญและต้องดำเนินการต่อคือการต่อต้านการค้ามนุษย์
จะไม่ให้การใช้หรือไม่ใช้พ.ร.ก.ฉบับนี้มาเป็นอุปสรรคแก้ปัญหา 3.เพื่อผ่อนคลายความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น เนื่องจากการที่ออกเป็นพ.ร.ก.ทำให้นายจ้างและลูกจ้างเตรียมตัวไม่ทัน จึงจำเป็นต้องใช้ ม.44 ชะลอหรือเลื่อนการบังคับใช้บางมาตราที่มีบทลงโทษรุนแรงไปก่อน แต่มาตราที่เหลือยังบังคับใช้อยู่ อย่างไรก็ตามระหว่างนี้จะไม่มีการจับกุมหรือกวดขันแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย เว้นแต่จะเกี่ยวข้องความผิดค้ามนุษย์ ส่วนการชะลอบางมาตราออกไป 120 วันเพราะต้องการให้แรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย กลับไปทำเรื่องให้ถูกต้องก่อน ผ่านสามช่องทางคือกลับไปทำเรื่องยังประเทศต้นทาง ทำเรื่องที่ชายแดน และที่ศูนย์พิสูจน์บุคคลกรณีชาวเมียนมา ที่มีอยู่ 5 แห่งในไทยโดยส่วนนี้กำลังเจรจากับทางเมียนมาว่าจะยินยอมหรือไม่

นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนแรงงานอีกกลุ่มที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย แต่ไปทำงานผิดจังหวัดที่รับอนุญาต ให้ไปที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดเพื่อแจ้งขอเปลี่ยนจังหวัดทำงาน โดยมาตรการนี้ไม่เกี่ยวขึ้นกับเวลา 120 วันที่ประกาศชะลอ

“มาตรการทั้งหมดจำเป็นต้องใช้กฎหมายเพื่อให้มีผลบังคับใช้ นั่นคือ มาตรา 44 เพื่อผ่อนคลายสิ่งเหล่านี้ และก็จะเป็นนโยบายนอกจากจะเขียนไว้ในกฎหมายเพราะเรารู้ว่าจะมีจุดเสี่ยงอะไรเกิดขึ้น เช่น แรงงานถูกจับขณะเดินทางกลับประเทศ ซึ่งเป็นช่องทางให้ถูกรีดไถหรือข่มขู่ จึงเห็นควรให้ใช้มาตรการเดิมกับช่วงสงกรานต์ คือ แรงงานสามารถเดินทางกลับบ้านได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เว้นผิดคดีค้ามนุษย์ต้องจัดการขอให้แรงงานต่างด้าวไม่ว่าจะผิดกฎหมายเข้าเมืองหรือกรณีอื่นกรุณาอยู่ในความสงบและไปดำเนินการให้ถูกต้อง

ส่วนนายจ้างก็จะใช้มาตรการอย่างเดียวกัน ซึ่งไม่ว่า มาตรา 44 จะประกาศเมื่อไรจะมีผลย้อนหลังถึงวันที่ 23 มิถุนายน ที่พ.ร.ก.ประกาศใช้” นายวิษณุ กล่าว