“สมคิด”ปลุกพลังเอเชียรับมือวิกฤตโลกกลางเวที“Nikkei Forum 2017”

https://www.matichon.co.th/news/

โตเกียว: เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษในการประชุมประจำปี International Conference on the Future of Asia ครั้งที่ 23 ในงาน Nikkei forum ซึ่งมีภาคเอกชนญี่ปุ่นเข้าร่วมฟังประมาณกว่า 300 คน ว่า ในครั้งนี้ได้เป็นตัวแทนของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เนื่องจากผู้นำของประเทศเพื่อนบ้าน มาร่วมงานในครั้งนี้แทบทุกประเทศ เช่น ลาว เวียดนาม สิงโปร์ มาเลเซีย ไทยจึงต้องการย้ำถึงความสำคัญ ต่อการพัฒนาของกลุ่มประเทศ CLMVT เนื่องจากหลายประเทศมหาอำนาจทั่วโลก ส่วนใหญ่มุ่งสนใจมาลงทุนในกลุ่มอาเชีย เพราะเป็นประเทศกำลังเติบโต ดังนั้นไทยเป็นจุดศูนย์กลางของประเทศ CLMVT จึงต้องการชี้แจงนโยบายด้านเศรษฐกิจให้ต่างชาติได้รับทราบ

นายสมคิดกล่าวว่า เราต้องยอมรับจริงๆว่าในช่วงเวลาสั้นๆเพียงหนึ่งปีที่ผ่านไป โลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เมฆหมอกแห่งความไม่แน่นอนที่เริ่มก่อตัวนั้น บัดนี้ได้เพิ่มทวีขึ้นและในครั้งนี้แผ่ขยายครอบคลุมไปทั่วทั้งโลก เราได้เห็นปรากฎการณ์หลายประการที่เกิดขึ้นที่สร้างความหวั่นวิตกต่อนานาประเทศ ไม่เพียงเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ แต่ยังรวมไปถึงภูมิรัฐศาสตร์และการเมืองโลกเมื่อปีที่แล้ว หากจะบอกว่าTPP จะต้องประสบกับชะตากรรมเช่นในปัจจุบัน คงจะไม่มีใครยอมเชื่อทุกผู้คนมองว่าข้อตกลงนี้จะนำไปสู่การส่งเสริมให้เกิดการค้าเสรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา แต่ในเวลาไม่ถึงปี กลับถูกสลัดทิ้งอย่างไม่ใยดีจากประเทศที่เป็นผู้ริเริ่ม และจากคำประกาศของผู้นำใหม่ของสหรัฐ ที่เน้นให้การปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐ ก่อนประโยชน์ของประเทศเหล่าพันธมิตร หรือที่เรียกกันว่า America first ติดตามมาด้วยมาตรการที่สะท้อนการเน้นการปกป้องทางการค้าเหนือการส่งเสริมการค้าเสรีเช่นในอดีต ที่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนด้วยการออก executive orders ของผู้นำสหรัฐ ที่จะตรวจสอบเพื่อจะตอบโต้ประเทศคู่ค้าที่ได้เปรียบดุลย์การค้าต่อสหรัฐ ทั้งๆ ที่ประเทศส่วนใหญ่เหล่านั้น ล้วนเป็นพันธมิตรที่สหรัฐเคยตั้งใจเกื้อกูลให้เกิดการพัฒนาในอดีตทั้งสิ้น ปรากฎการณ์เหล่านี้ ในด้านหนึ่งได้สร้างความสับสนสร้างความหวั่นวิตกและสร้างแรงกดดันแก่นานาประเทศแต่ในขณะเดียวกันก็ได้ก่อให้เกิดการขยับและเคลื่อนตัวสู่การจัดระเบียบใหม่ทางเศรษฐกิจและการค้าใหม่ของโลกเพื่อเป็นหนทางออกให้พ้นจากสภาพแห่งความไม่แน่นอนเหล่านี้

นายสมคิดกล่าวว่า นอกจากนี้กรณี Brexit กำลังเขย่าเอกภาพและพลังทางการเมืองของอียูอย่างรุนแรง และยังไม่มีใครจะตอบได้ชัดเจนว่าอียู จะยังเหมือนเดิมหรือไม่ และยังยากที่จะสรุปได้ว่าชัยชนะของประธานาธิบดี Macron ในการเลือกตั้งของฝรั่งเศสจะสามารถหยุดยั้งกระแส anti globalization และกระแส populist ที่มุ่งสลัดตนออกจาก EU ได้หรือไม่ และในการพบปะผู้นำกลุ่มประเทศนาโตที่ผ่านมา ผู้นำสหรัฐไม่ให้ความสำคัญกับความเป็นปึกแผ่นของพันธมิตรดังเช่นในอดีต แต่กลับตอกย้ำอย่างไม่เกรงอกเกรงใจให้พันธมิตร G7 รับผิดชอบมากขึ้นในค่าใช้จ่ายด้านความมั่นคงของนาโต ทำให้ผู้นำของเยอรมันกล่าวในภายหลังว่า ห้วงเวลาที่พวกเราEU จะพึ่งพาคนนอก ซึ่งหมายถึงสหรัฐนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว หลังประชุมจี7ผ่านไปเพียงไม่กี่วัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯก็ได้ประกาศตัดเยื่อใยกับข้อตกลงParis เหตุการณ์เหล่านี้ได้นำมาซึ่งคำถามว่า ภายใต้เศรษฐกิจที่เปราะบางของตะวันตกในขณะนี้ พลังการเมืองและดุลอำนาจของโลกจะเปลี่ยนไปเพียงใดเมื่อเอกภาพระหว่างสหรัฐและพันธมิตรใหญ่ที่เคยแน่นแฟ้น และไม่มีใครหรือสถาบันใดเลยในขณะนี้ที่จะสามารถฟันธงชี้ชัดได้เลยว่า โลกในอีกหนึ่งปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

นายสมคิดกล่าวว่า ดังนั้นการก้าวไปข้างหน้าเพื่อช่วยกันแก้ไขจุดอ่อนและรักษาข้อดีของ globalization ไว้ต่างหากน่าจะเป็นหนทางที่ถูกต้องในท่ามกลางความท้าทายจากกระแส reverseglobalization และ protectionism จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งที่พวกเราโดยเฉพาะชาติแห่งเอเชียที่จะต้องหันหน้าเข้าหากัน ร่วมมือกัน ที่จะปรับตัวปรับทิศทางให้พลังแห่งเอเชียนั้น สามารถเป็นความหวังใหม่ในการรักษาไว้ซึ่งการค้าเสรี เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจโลกให้เอเซียสามารถเป็นแสงนำทางโลกภายใต้หมอกควันที่แห่งความไม่แน่นอนหนาทึบในขณะนี้