https://www.matichon.co.th/news
นางสาวจริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า สมาคมคาดว่าอุตสาหกรรมค้าปลีกครึ่งปีแรก 2560 น่าจะเติบโต 3.0-3.2% โดยวิเคราะห์จากการเติบโตของภาคบริการใน 3 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง การเงินการธนาคาร และค้าปลีก มีการเติบโต รายได้และกำไรยังดีอยู่ รวมถึงการขยายสาขาห้างใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกดีขึ้น แต่ยังไม่มากพอทำให้หมวดสินค้าต่างๆ เติบโตขึ้นมากนัก ทำให้ยอดขายสินค้าคงทน และสินค้ากึ่งคงทน คงทรงตัว และไม่เห็นสัญญาณจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
ดังนั้น สมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้วิเคราะห์ผลการเติบโตของสินค้าแต่ละหมวดในไตรมาสแรกของปี 2560 ดังนี้ 1.หมวดสินค้าคงทน เป็นหมวดสินค้าที่มีการเติบโตในอัตราต่ำเพียง 1.25% 2.หมวดสินค้ากึ่งคงทน เป็นหมวดสินค้าที่มีการเติบโตในอัตราที่ถดถอย เพียง 2.3% อุปสรรคคืออัตราภาษีสินค้านำเข้าแบรนด์หรูสูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน 3.หมวดสินค้าไม่คงทน เป็นหมวดสินค้าที่มีการเติบโต 3.4% ปัจจัยบวกจากราคาพืชผลทางเกษตรมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ขณะที่มีปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจดีขึ้น ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.6% ส่งออกขยายตัว 4.9% จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 5% ดัชนีการบริโภคของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น ตลาดรถยนต์ขยายตัว 15.4% ตลาดรถจักรยานยนต์ขยายตัว 5%
สำหรับปัจจัยลบทางเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังของปี 2560 ได้แก่ 1.ขณะนี้กำลังเข้าสู่รอบไตรมาสที่สามของปีงบประมาณ การใช้จ่ายอาจแผ่วลง 2.โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ ยังไม่เกิดการปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรม 3.การลงทุนภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัว และพึ่งพาแต่การลงทุนภาครัฐ 4.บริษัทในตลาดหลักทรัพย์เติบโตลดลงทั้งยอดขายและกำไร 5.หนี้ครัวเรือนที่ยังส่งสัญญาณที่จะทรงตัวในระดับ 80.2% มีผลต่ออำนาจการซื้อของครัวเรือนต่ำ ทำให้การบริโภคสินค้าหมวดคงทนและหมวดสินค้ากึ่งคงทนอาจต้องชะลอออกไป
นอกจากนี้ ปัจจุบันจำนวนแรงงานภาคค้าปลีกและบริการทั่วประเทศ มีจำนวนทั้งหมด 14 ล้านคน เฉพาะภาคค้าปลีกมีจำนวน 6.2 ล้านคนทั่วประเทศ โดยในปีที่ผ่านมาสมาชิกของสมาคมภาคธุรกิจค้าปลีกได้มีการจ้างงานรวมกว่า 450,000 คน เฉลี่ยปีละประมาณ 10% หรือกว่า 45,000 คนต่อปี ซึ่งอัตราการจ้างงานก็ไม่สามารถบรรจุได้ครบ เนื่องจากประชากรวัยทำงานเริ่มลดลง แรงงานในภาคการค้ายังขาดแคลนอีกมาก สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น ภาครัฐควรส่งเสริมผู้สูงอายุที่มีศักยภาพได้มีโอกาส มีอาชีพ มีรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคค้าปลีก ดังนั้น การที่มีจำนวนผู้สูงอายุมาก ถือเป็นโอกาสที่ดีในการจ้างแรงงานกลุ่มนี้ โดยรัฐควรปรับกฎหมายเปิดช่องทางในการจ้างแรงงานผู้สูงอายุเป็นรายชั่วโมง