https://www.matichon.co.th/news
กรอ.เผยปฎิญญาอาเซียนลุยอุตฯ4.0 มุ่งสมาร์ทแฟคเตอรี่-คุมซากโซล่าเซลล์
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ปรับแผนการกำกับดูแล และส่งเสริมการประกอบกิจการโรงงานให้สะดวก รวดเร็ว ประหยัด โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ตามแนวทางหัวข้อปฎิญญาอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมของเซียนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวข้อที่ต้องเร่งขับเคลื่อนในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ระหว่างวันที่ 22-23 มิถุนายน 2562 ที่กรุงเทพฯ โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
นายทองชัยกล่าวว่า สาเหตุที่ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนต้องการผลักดันหัวข้อปฎิญญาอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมของเซียนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ถือเป็น 1 ใน 13 ประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ต้องขับเคลื่อนให้ได้ภายในปีนี้ เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมจากอุตสาหกรรมเพิ่มมูลค่าไปสู่อุตสาหกรรมสร้างมูลค่า อาทิ การต่อยอดอุตสาหกรรม การบริหารจัดการองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีสมัยใหม่
นายทองชัย กล่าวต่อว่า ปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม4.0 โดยมีเป้าหมายให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง แข่งขันทางด้านเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน กรอ.จึงพัฒนาระบบที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรม 4.0 หลายด้าน อาทิ พัฒนาระบบการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้บริการผู้ประกอบการสามารถได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานได้อย่างรวดเร็ว การพัฒนาระบบการติดตามระบบมลพิษระยะไกล การพัฒนาระบบพิจารณาอนุญาตนำกากอุตสาหกรรมออกนอกบริเวณโรงงาน หรือ สก.2 แบบอัตโนมัติผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
นายทองชัย กล่าวว่า ขณะนี้กรอ.ยังได้ผลักดันโรงงานอัจฉริยะ หรือสมาร์ทแฟคเตอรี่ โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมมาใช้เพิ่มผลิตภาพให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและก่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันยังได้ขานรับนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม โดยได้ทำโครงการศึกษาเรื่องการกำจัดซากโซล่าเซลล์ควบคู่กับการผลักดันผู้ประกอบกิจการโรงงานสร้างโรงงานกำจัดซากโซล่าเซลล์ คาดว่าในปี 2563 จะมีปริมาณซากแผงโซลาร์เซลล์สะสมที่ต้องกำจัดประมาณ 550,000 ตัน หรือประมาณ 18 ล้านแผง โดยผู้ประกอบการหลายรายได้ให้ความสนใจในการตั้งโรงงานรีไซเคิลซากโซลาเซลล์ แต่เนื่องจากปัจจุบันยังมีจำนวนของซากแผงโซลาเซลล์ไม่มากนัก จึงยังติดตามสถานการณ์อยู่ ซึ่งคาดว่าอีก 5 – 10 ปีข้างหน้าเมื่อมีจำนวนซากโซล่าเซลล์มากขึ้นจะมีโรงงานประเภทนี้เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน