พระเทพฯทรงเลือกแบบหีบปาติโมกข์‘พระพันปีหลวง’

http://www.matichon.co.th/news

พระโกศทองคำ

 

นายณัฐพงค์ ปิยมาภรณ์ นักวิชาการช่างศิลป์ ชำนาญการพิเศษ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร หนึ่งใน 3 ผู้ออกแบบพระโกศทองคำลงยาสีประดับรัตนชาติทรงพระบรมอัฐิ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำพระโกศทองคำลงยาบรรจุพระบรมอัฐิในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ว่า พระโกศทองคำลงยาสีประดับรัตนชาติทรงพระบรมอัฐิ ที่ตนออกแบบ โดยรวมจะมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกแปดเหลี่ยมปากผาย ส่วนฝาพระโกศ เป็นทรงยอดมหามงกุฎแปดเหลี่ยมเช่นกัน ลงยาสีประดับรัตนชาติ โดยส่วนฐานล่าง เป็นหน้ากระดานฐานสิงห์ ลวดลายของหน้ากระดานเป็นลักษณะลายประจำยามก้ามปูมีดอกประจำยามทิศประดับที่มุมทั้ง 8 ทิศ ลงยาสีฟ้าประดับรัตนชาติ ถัดขึ้นมาเป็นฐานสิงห์ และบัวหลังเจียด(หรือหลังสิงห์) หน้าฐานสิงห์มีลวดลายประดับลงยาสีชมพูและสีเขียว ส่วนท้องสิงห์ประดับลวดลายประจำยามลงยาสีฟ้าและชมพู ถัดขึ้นมาเป็นท้องไม้ทรงแปดเหลี่ยมมีลักษณะพิเศษคือ บริเวณมุมทั้งแปดทิศของท้องไม้ประดับด้วยครุฑพนมทั้งแปดทิศ ซึ่งทำด้วยโลหะเงิน จากท้องไม้ขึ้นไปเป็นลวดลายบัวหงาย ลงยาสีสีชมพูประดับรัตนชาติ ถัดไปเป็นหน้ากระดานแปดเหลี่ยมลวดลายเป็นลูกฟักก้ามปูลงยาสีประดับรัตนชาติตั้งกระจังเจิมและกระจังตาอ้อยลงยาสีประดับรัตนชาติถัดขึ้นไปเป็นลวดลายกระจังปฏิญาณรอบเอวพระโกศรองรับด้วยบัวเกสรกระจังปฏิญาณลงยาสีฟ้า และประดับรัตนชาติ ส่วนเอวของพระโกศประดับด้วยดอกไม้เอว และเกสรทำด้วยโลหะเงินประดับรัตนชาติ องค์พระโกศเป็นทรงกระบอกปากผาย ประดับลวดลายบัวกลีบขนุน ลวดลายของบัวกลีบขนุนเป็นลายรักร้อยซ้อนกันขึ้นไปภายในกลีบลงยาสีฟ้า และสีชมพูประดับด้วยรัตนชาติ กลีบของบัวกลีบขนุนทำซ้อนกันขึ้นไป 4 ชั้นจนถึงปากกระบอกที่ผายออก

นายณัฐพงค์ กล่าวต่อว่า แนวความคิดในการออกแบบนั้น ตามหลักศาสนาพราหมณ์ เชื่อกันว่าพระมหากษัตริย์เปรียบเหมือนสมมติเทพสถิตอยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์บนยอดเขาพระสุเมรุ ถือว่าเป็นศูนย์กลางของจักรวาลเมื่อทรงสวรรคตเปรียบได้คือการเสด็จสู่สวรรคาลัย ถือเป็นการกลับสู่สวรรค์ดังเดิม เป็นการถวายพระเกียรติยศแสดงความเคารพอย่างสูง จึงได้นำมาเป็นแนวคิดในการออกแบบพระโกศ เพื่อส่งเสด็จคืนสู่เทวพิภพ ณ ดินแดนเขาพระสุเมรุ ดั่งเทวสถานที่ประดับแดนสวรรค์ พระโกศองค์นี้จะมีลักษณะพิเศษคือ จะมีครุณพนมทำด้วยโลหะเงิน ครุฑพนมนี้จะประจำอยู่ทั้ง 8 ทิศ(หรือ 8 มุม) ของฐานพระโกศเปรียบได้กับครุฑพนมปกปักรักษาพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือยามจะเสด็จไปในวิมานต่างๆ ก็จะมีครุฑพนมนี้เป็นพาหนะรับใช้อยู่ทุกทิศ ถือเป็นคติความเชื่อที่สืบต่อกันมาทางงานชางศิลป์ไทย

“พระโกศทองคำลงยาฯ ที่ผมออกแบบ จะเป็นพระโกศ 8 เหลี่ยมตามจารีตประเพณีโบราณซึ่งต่างจากพระโกศทองคำลงยาประดับรัตนชาติทรงพระบรมอัฐิองค์หลักที่นายอำพล สัมมาวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านศิลปกรรม (วิจัยและพัฒนาศิลปกรรม) สำนักช่างสิบหมู่ ออกแบบซึ่งจะออกแบบพิเศษให้เป็น 9 เหลี่ยม โดยพระโกศทองคำลงยาฯ ที่ผมออกแบบนั้น ขณะนี้ได้สำนักช่างสิบหมู่ได้ทำหุ่นปูนปลาสเตอร์เสร็จแล้ว จากนี้จะนำไปพิมพ์ยางซิลิโคนแล้วหล่อด้วยเรซินเพื่อเป็นต้นแบบในการขึ้นรูปด้วยทองคำ โดยแยกส่วนเป็นชิ้นๆ จากนั้นผมจะเขียนลวดลายตามแบบที่ได้ออกแบบ ลงบนหุ่นทองคำดังกล่าวด้วยปากกาเคมีที่ใช้สำหรับการเขียนลายเฉพาะ ตามมาด้วยขั้นตอนช่างสลักดุนจะสลักดุนตามแบบ แล้วจึงส่งไปชุบทองคำอีกครั้งเพื่อให้เนื้อทองคำเสมอกัน จากนั้นจะส่งต่อให้ช่างดำเนินการฝังเพชรพลอย แล้วจึงส่งต่อให้ช่างลงยาสี โดยสีหลักๆ ที่ใช้คือ สีฟ้า เขียวและชมพู แล้วจึงจะนำมาประกอบกันเป็นองค์พระโกศ ดูสัดส่วนให้คงรูปสวยงามตั้งแต่ฐานไล่ไปจนถึงฝาพระโกศ ส่วนพุ่มยอดข้าวบิณฑ์ที่เป็นฝาพระโกศนั้น ที่ยอดฝาพระโกศทำด้วยโลหะเงิน เฟื่องและอุบะนั้น จะมีลวดลายทำด้วยโลหะเงินฝังเพชรพลอย เช่นเดียวกับดอกไม้ไหวและดอกไม้เอวตามฐานพระโกศ ก็จะทำด้วยโลหะเงินฝังเพชรพลอย จากนั้นนำมาปรับแต่งให้สวยงาม ชุบเงินเพื่อให้เงินเสมอกันและเงางาม แล้วจึงนำมาประกอบองค์พระโกศ โดยขั้นตอนดังกล่าวทั้งหมดต้องแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ เพื่อส่งมอบให้นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากรดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป” นายณัฐพงค์ กล่าว

201703171141084-20021028190202

นายสมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างศิลปกรรมอาวุโส กลุ่มงานศิลปประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา สำนักช่างสิบหมู่ ผู้ออกแบบพระโกศทองคำลงบรรจุพระบรมอัฐิอีกคน กล่าวว่า ในส่วนของตนซึ่งก่อนนี้ได้เคยออกแบบพระโกศทองคำลงยาบรรจุพระบรมอัฐิ 2 แบบ นำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศและบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่มีพล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพื่อพิจารณาคัดเลือกนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทรงทอดพระเนตรและมีพระราชวินิจฉัยนั้น ครั้งนั้นตนได้นำเสนอไป 2 แบบ คือแบบที่ 1 บริเวณฐานจะมีครุฑ กับอีกแบบ บริเวณฐานจะไม่มีครุฑ โดยครั้งนั้นได้มีการเลือกแบบไปแล้ว โดยทางสถาบันสิริกิติ์ สวนจิตรลดา จะเป็นผู้จัดทำเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ อย่างไรก็ตามปรากฏว่าในที่ประชุมคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศฯ ครั้งล่าสุด ทางพล.อ.ธนะศักดิ์ แจ้งว่าอาจจะต้องมีการใช้ทั้ง 2 แบบ ส่วนว่าแบบไหนจะมีการทูลเกล้าฯ ถวายพระองค์ใดนั้น ขึ้นอยู่กับที่ประชุมคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศฯ ดำเนินการตามขั้นตอน

“สำหรับ 2 แบบดังกล่าวนั้น แบบแรกเรียกง่ายๆ ว่า ‘ฐานมีครุฑ’ องค์พระโกศจะไม่มีครุฑ แต่จะไปมีครุฑยุดนาคลอยตัว 16 ตัว ปั้นหล่อด้วยทองคำอยู่รอบฐานท้องไม้ของพระโกศ ส่วนแบบที่ 2 ที่เรียกง่ายๆ ว่า ‘ฐานไม่มีครุฑ’ นั้น บริเวณฐานจะไม่มีครุฑ แต่ครุฑจะไปอยู่ที่บัวกลีบขนุนชั้นล่าง คือแบบพระโกศทองคำลงยาฯ องค์นี้ จะมีบัวกลีบขนุน 3 ชั้น โดย 2 ชั้นบนจะมีเทวดาอยู่ที่บัวกลีบขนุน และชั้นที่ 3 ซึ่งเป็นชั้นล่าง ก็จะมีครุฑอยู่ที่บัวกลีบขนุน ทั้ง 2 แบบจะเป็นพระโกศ 8 เหลี่ยม ประดับเพชรสลักทองลงยาด้วย สีเหลือง (พื้น) ขาว (ขอบ)และเขียว (ขอบลาย) โดยสีเหลืองและสีขาว แทนถึงวันจันทร์ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของในหลวง รัชกาลที่ 9 ส่วนสีเขียว เป็นเดชของวันจันทร์ และด้วยเหตุที่ทั้ง 2 แบบมีขนาดเท่ากัน ต่างกันเพียงลวดลาย ดังนั้นในขณะนี้ทางสถาบันสิริกิติ์ สวนจิตรลดา ได้เริ่มจัดทำหุ่นปูนปลาสเตอร์แล้ว โดยแนวทางการจัดทำพระโกศดังกล่าว จะมีขั้นตอนคล้ายๆ กับพระโกศทองคำลงยาฯ ของนายณัฐพงค์ เพียงแต่ของผม อยากให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม เพื่อจะได้มีเวลาเก็บงานให้สวยงาม” นายสมชายกล่าว

นายสมชาย กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าการออกแบบเครื่องสังเค็ดนั้น เฉพาะในส่วนของกรมศิลปากร ได้รับมอบหมายให้ออกแบบเครื่องสังเค็ดเพื่อถวายแด่พระที่มาร่วมพระราชพิธี จำนวน 39 วัด จำนวน 39 ชุด ซึ่งแต่ละชุดประกอบด้วย ตู้หนังสือ ย่าม พัดรอง หีบปาติโมกข์และธรรมมาสน์ และสมุดไทยเขียนปาติโมกข์พร้อมด้วยผ้าห่อสมุดซึ่งเป็นผ้าพิมพ์ลายสวยงาม เฉพาะในส่วนของสมุดไทยเขียนปาติโมกข์นั้น จัดทำโดยนักเรียนศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิดและศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง โดยจัดทำจำนวน 39 ชุด สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงมีพระราชวินิจฉัยเลือกแบบต่างๆ ของเครื่องสังเค็ดที่กรมศิลปากรออกแบบเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่ถามว่าแบบที่ตนออกแบบ ได้รับพระราชวินิจฉัยเลือกหรือไม่นั้น ในส่วนของหีบปาติโมกข์ที่ตนออกแบบไปนั้น พระองค์ท่านทรงมีพระราชวินิจฉัยเลือกแบบของรุ่นน้องในกรมศิลปากรคนหนึ่ง โดยแบบของรุ่นน้องดังกล่าวเป็นแบบเดียวกับหีบปาติโมกข์เมื่อครั้งพระราชพิธีของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แต่ครั้งนี้จะมีขนาดเล็กลงมาเท่ากับของวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ทั้งนี้ตามที่ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ ปฏิบัติราชการแทนราชเลขาธิการ แนะนำ โดยเครื่องสังเค็ดดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการเพื่อให้แล้วเสร็จทันเดือนสิงหาคม

นายสมชายกล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าการจัดทำพระโกศจันทน์และหีบพระบรมศพจันทน์นั้น ขณะนี้ได้มีการขยายลายเท่าจริงในส่วนของพระโกศจันทน์และหีบพระบรมศพจันทน์เสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือในส่วนของพระโกศจันทน์ ที่ยังต้องดราฟเส้นลายด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อส่งให้ช่างที่โรงขยายแบบที่ท้องสนามหลวง ฉลุไม้จันทน์ตามที่ตนออกแบบ ซึ่งต้องฉลุทั้งหมดหลายพันชิ้น โดยจะมีทั้งช่างที่เป็นข้าราชการกรมศิลปากรและช่างที่เป็นจิตอาสาเข้ามาช่วย เมื่อฉลุไม้จันทน์ที่มีความหนาในระดับมิลลิเมตรต่างๆ เสร็จแล้ว อาทิ 2 มิลลิเมตร 3 มิลลิเมตร 5 มิลลิเมตร เป็นต้น จากนั้นจะนำมาประกบกันเป็นชั้นๆ เพื่อให้เป็นลวดลาย ซึ่งจะมีทั้งไส้ลาย พื้นลาย ฯลฯ แล้วจึงนำไปประกอบเข้ากับโครงเหล็ก ทั้งนี้การจัดทำพระโกศจันทน์และหีบพระบรมศพจันทน์ดังกล่าว จะต้องแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครื่องสังเค็ดคือของที่ระลึกในงานออกพระเมรุ โดยเมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา สำนักพระราชวังแจ้งว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สำนักราชเลขาธิการ และสำนักพระราชวังจัดทำของที่ระลึกงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ถวายแก่พระสงฆ์บรรพชิตจีนนิกาย และอนัมนิกาย รวมทั้งถวายตามพระอารามหลวง ในการบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ โดยของที่ระลึกและเครื่องสังเค็ดดังกล่าว จะต้องมีการออกแบบสร้างขึ้นโดยประณีต ลวดลาย สีสันที่ใช้และปักประดับต้องมีความหมายเกี่ยวพันในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

ทั้งนี้ ธรรมเนียมนิยมการสร้างถวายเครื่องสังเค็ด เริ่มขึ้นหลังจากงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา โดยเครื่องสังเค็ดจะถวายไปยังวัดวาอารามต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มีหลายประเภทด้วยกัน เช่น ธรรมาสน์เทศน์ ธรรมาสน์สวด หนังสือปาติโมกข์พร้อมตู้ เทียนสลักพร้อมตู้ลายทอง หีบใส่หนังสือสวด หนังสือเทศน์ พัดรอง ย่าม ผ้ากราบ และภาชนะเครื่องใช้ต่างๆ ของสงฆ์