https://www.matichon.co.th/news/
ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังจากการรับฟังข้อเรียกร้องและรับหนังสือจากตัวแทนเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) ว่า กลุ่มสยยท. ได้เรียกร้อง 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.การรับซื้อยางไม่ถูกต้องไม่โปร่งใส ซื้อเฉพาะของกลุ่มตัวเอง และซื้อในพื้นที่ที่ไม่ถูกต้อง 2.การเก็บยางในสต็อกไม่ถูกวิธี และ3.ความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อปุ๋ยให้กับเกษตรกร แพงกว่าราคาท้องตลาดถึง 2 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) และมีความล่าช้า จึงอยากให้พิจารณาปลดนายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ออกจากตำแหน่ง
ส่วนชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ได้เรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.การเลิกดำเนินเข้าซื้อยาง ผ่านบริษัท ร่วมทุนยางพาราไทย จำกัด และให้กยท.เป็นผู้ดำเนินการเอง 2.เน้นการใช้ยางพาราภายในประเทศ 3.สั่งพักงานนายธีธัช
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า ตนได้ชี้แจงกับตัวแทนเกษตรกร ว่า กระทรวงเกษตรได้เชิญนายธีธีช และพล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) กยท. เข้าหารือเป็นการด่วนในประเด็นเหล่านี้ ซึ่งในส่วนข้อกล่าวหานายธีธัช เรื่องความไม่โปร่งใส ในการปฏิบัติหน้าที่ ได้สั่งการให้พล.อ.ฉัตรเฉลิม จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบให้ได้ข้อสรุปภายใน 7 วัน ก่อนดำเนินการตามผลการตรวจสอบ ทั้งนี้ ในการปฏิบัติหน้าที่ของนายธีธัช ถือว่าอยู่ภายในพ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย การดำเนินการตรวจสอบจึงต้องผ่านบอร์ดกยท. ซึ่งมีการประเมินผลงานของนายธีธีช เป็นประจำอยู่แล้ว หากไม่ผ่านการประเมินคงต้องเลิกจ้าง อย่างไรก็ตาม จำเป็นจะต้องฟังความทั้ง 2 ด้าน เพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับทุกฝ่าย
นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสยยท. กล่าวว่า ปัญหาแรกของยางพารา คือการใช้คนบริหารงานองค์กรยางใหญ่ ตามพ.ร.บ.การยางแห่งประเทศ 2558 ต้องสรรหาคนที่สามารถทำงานได้เป็นมืออาชีพและโปร่งใส ปัญหาที่สอง คือ ผู้เข้ามาบริหารต้องมีความรอบรู้เรื่องตลาด สามารถจัดการระบบชี้นำราคายาง เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาให้รัฐบาลโดยไม่ให้เกษตรกรเดือดร้อน อาทิ การลดวันกรีดยาง จำกัดการส่งออกโดยขอความร่วมมือจากประเทศต่างๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ สยยท.เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาจากเงินเซส มาตรา 49 ที่เป็นการรักษาเสถียรภาพราคายางในการแก้ไขปัญหา เนื่องจากราคายางพาราปัจจุบันตกลงมากเป็นผลมาจากนักเก็งกำไร ซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ จึงอยากให้พล.อ.ฉัตรชัย เสนอใช้กยท.ใช้เงินเซส มาตรา 4 ออกมาชี้นำราคายางโดยอาศัยสถาบันเกษตรกรที่มีอยู่แล้วให้กู้โดยใช้บุคคลค้ำประกันเงินกู้แบบธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส) และมีเป้าหมายว่ารัฐบาลต้องซื้อยางแผ่นดิบหรือยางก้อนถ้วย ที่สภาบันเกษตรสามารถเก็บได้ โดยกำหนดเป้าหมาย 3-6 เดือน และแต่งตั้งเจ้าหน้าที่กยท. ออกตรวจสต็อกยางที่เก็บไว้
นายเขศักดิ์ สุดสวาท เลขานุการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตั้งแต่มี พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศ 2558 ขึ้นมา โดยกยท.เป็นผู้กำกับดูแล และ 1-2 ปีที่กยท.ข้ามาดำเนินทำงาน นั้น การบริการจัดการเรื่องยางถือว่าล้มเหลว เพราะการออกนโยบายแก้ไขปัญหายางพาราต่างๆ ไม่ตรงจุด ราคายางพาราดิ่งลงเรื่อยๆ และอำนาจการกำหนดราคาไปอยู่กับพ่อค้า จึงเสนอข้อเรียกร้องให้ พล.อ.ฉัตรชัย ช่วยแก้ไขปัญหา 3 ข้อ ได้แก่ 1.อยากให้สั่งพักงานผู้ว่ากยท. เพราะที่ผ่านมาแก้ปัญหาไม่ถูกจุด 2.ให้กยท.ยกเลิกบริษัทร่วมทุนกับผู้ส่งออกยางรายใหญ่ 5 บริษัท ที่มีเงินทุน 1,200 ล้านบาท และถอนหุ้นออกมา เนื่องจากบริษัทร่วมทุนนี้ มีการซื้อขายจริงแค่ 3 จังหวัด และมีการหมุนเวียนยางกัน เป็นการซื้อขายเพื่อเอื้อประโยชน์พวกพ้องตนเอง และ 3.การส่งเสริมการใช้ยางในประเทศ โดยสั่งการไปยังผู้บริหารท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ยางพาราให้มากขึ้น