‘พระบรมโกศ-หีบพระบรมศพ’ ถวายพระเกียรติสูงสุด ‘ร.9’

https://www.matichon.co.th/news/

 

“พระบรมโกศ” มีความสำคัญอย่างยิ่งในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระโกศ หรือพระบรมโกศ คือที่ใส่พระบรมศพของพระมหากษัตริย์ หรือพระบรมวงศ์ พระบรมโกศเป็นภาชนะเครื่องสูงมีรูปทรงเป็นกรวยมียอดแหลม แยกตามวัตถุประสงค์การใช้งาน 2 ประเภท คือ พระโกศสำหรับทรงพระบรมศพ หรือพระศพ และพระโกศพระบรมอัฐิ หรือพระอัฐิ สำหรับพระบรมโกศที่ใช้ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของในหลวงรัชกาลที่ 9 ประกอบด้วย พระโกศจันทน์ หีบพระบรมศพจันทน์ พระโกศพระบรมอัฐิ และพระโกศทองคำลงยา

 

๐พระโกศจันทน์

“พระโกศจันทน์” ประกอบด้วย ฝา ตัวพระโกศ และฐานพระโกศ ตัวพระโกศจันทน์ สร้างขึ้นโดยล้อตามพระโกศทองใหญ่ มีพระลองในอยู่ด้านใน ถือเป็นเครื่องแสดงถึงพระเกียรติยศสูงสุด จะถูกใช้อัญเชิญพระโกศพระบรมศพประดิษฐานยังพระจิตกาธานภายในพระเมรุมาศ การออกแบบยึดหลักคติความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์คือเทพเจ้า หรือพระราม ที่อวตารมาจากพระนารายณ์ โดยมีพาหนะคือครุฑ ลวดลายของพระโกศจันทน์จึงออกแบบเป็นลายบัวกลีบขนุน จากเดิมที่เป็นลายใบเทศ มีเทพนมอยู่ตรงกลาง ประดับอยู่รอบพระโกศจันทน์แปดเหลี่ยม ยอดพระโกศจันทน์ทำเป็นยอดมงกุฏเตี้ย ล้อตามพระลองใน

ฝาพระโกศจันทน์ ฉลุลายดอกไม้ไหวต่อก้าน ตรงมาลัยทองจะมีดอกไม้ทิศ แบ่งเป็น 8 ทิศ ถัดจากดอกไม้ทิศ ตามชั้นยอดเชิงบาตรปักด้วยดอกไม้ไหว 3 ชั้น ลดขนาดไปเรื่อยๆ ถัดขึ้นไปเป็นเกี้ยวรัดจุก 2 ชั้น แต่ละชั้นมีดอกไม้ทิศ และบนสุดเป็นปลียอด ส่วนปากพระโกศจันทน์ ประดับด้วยเฟื่องอุบะ และพู่ไม้จันทน์ ห้อยสลับกันไปรอบ

๐หีบพระบรมศพจันทน์

“หีบพระบรมศพจันทน์” หรือ “ฐานพระโกศจันทน์” เป็นเครื่องเฉลิมพระเกียรติอย่างหนึ่งสำหรับงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ จะประดิษฐานเหนือพระจิตกาธานในพระเมรุมาศ คู่กับพระโกศจันทน์ที่จะประดิษฐานอยู่เหนือหีบพระบรมศพจันทน์อีกชั้น ลวดลายบนหีบพระบรมศพจันทน์สื่อถึงความเป็นไทย ได้แก่ ลายเครือเถา ลายหน้ากระดาน ลายกระจัง ลายบัวถลา รวมถึง ลายเครือเถาครุฑ ที่สื่อถึงรัชกาลที่ 9 ประดับรอบหีบพระบรมศพจันทน์ 132 องค์ ครุฑแต่ละองค์ประกอบด้วยชิ้นส่วน 53 ชิ้น การประกอบองค์ครุฑ รวมทั้ง ลวดลายต่างๆ จะนำงานไม้ที่ฉลุแต่ละส่วนมาประกอบซ้อนกันเป็นชั้นๆ ให้เห็นลวดลายชัดเจน มีมิติ และเกิดความงดงาม หีบพระบรมศพจันทน์ยังประกอบด้วยงานฉลุลายอื่นๆ อาทิ อุบะ ช่อไม้ไหว เฟื่อง รวมถึง พุ่มข้าวบิณฑ์ ประดิษฐานอยู่เหนือฝาหีบพระบรมศพจันทน์

๐พระโกศพระบรมอัฐิ /พระโกศทองคำลงยา

“พระโกศพระบรมอัฐิ” ในครั้งนี้ มีทั้งหมด 6 องค์ 4 แบบ ประกอบด้วย พระโกศทองคำลงยาประดับรัตนชาติทรงพระบรมอัฐิเก้าเหลี่ยม หรือพระโกศองค์หลัก สำหรับประดิษฐาน ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และพระโกศแปดเหลี่ยมอีก 5 องค์ สำหรับทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี

โดยพระโกศพระบรมอัฐิองค์หลักของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่นำไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นพระโกศเก้าเหลี่ยมตลอดองค์เป็นครั้งแรก เพื่อให้สอดรับกับสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ 9 ยอด มีแนวคิดสื่อถึงพระมหากรุณาธิคุณ และพระบรมราโชวาทของพระองค์ หรือ 9 คำสอนพ่อ ลักษณะโดยรวมของพระโกศองค์นี้ ประกอบด้วย 5 ส่วน ดังนี้ ส่วนฐาน ประกอบด้วยฐานสิงห์ ถัดขึ้นไปเป็นหน้ากระดานล่าง ประดับด้วยลายประจำยามก้ามปู เหนือขึ้นมาเป็นลายแข้งสิงห์ ประดับด้วยกาบแข้งสิงห์ ปากสิงห์ พื้นลายลงยาสีแดงทำเป็นลายก้านขดใบเทศ 9 ด้าน เหนือลายแข้งสิงห์เป็นลายบัวหลังสิงห์ เหนือจากฐานสิงห์ ประกอบด้วยฐานบัวเชิงบาตรซ้อน 2 ชั้น ถัดขึ้นมาเป็นลายบัวหงายรับหน้ากระดาน ส่วนฐานประกอบด้วยลายท้องไม้ ลายกลับบัวหงาย ลายเกสรบัว ประดับรัตนชาติ โดยลวดลายส่วนฐานตามแบบพระราชประเพณีแสดงโครงสร้างใช้สำหรับตั้งสิ่งที่สำคัญ ควรเคารพ และบ่งบอกฐานานุศักดิ์พระมหากษัตริย์

ส่วนองค์พระโกศเป็นลายกลีบบัวจงกลซ้อนขึ้นไปหาปากพระโกศ 4 ชั้น ตรงกลางเป็นพระปรมาภิไธยย่อ“ภปร” เมื่อนำไปประดิษฐานบนพระวิมานพระบรมอัฐิในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทจะหันด้านนี้ออก โดยพระนามาภิไธยย่อวางบนรัตนชาติ ส่วนฝาพระโกศทำเป็นยอดทรงมงกุฎเกี้ยวมาลัยทองเรียงลำดับขึ้นไปตั้งแต่ชั้นที่ 1, 2, 3 และ 4 เรียกว่า “ทรงจอมแห” ส่วนยอดพระโกศสร้าง 2 แบบ ได้แก่ แบบพุ่มข้าวบิณฑ์ ทำด้วยเงินบริสุทธิ์ประดับเพชร และแบบสุวรรณฉัตร ฉัตร 9 ชั้น ทำด้วยทองคำลงยาประดับเพชร สำหรับเครื่องประดับพระโกศ ทำด้วยเงินประดับด้วยเพชร อย่างดอกไม้เอว ดอกไม้ไหว หรือดอกไม้เพชร เฟื่องอุบะ และดอกไม้ทิศ มีขนาดลดหลั่นกันตามความเหมาะสม

ยอดพระโกศสร้างเป็นพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร หรือฉัตร 9 ชั้น เป็นฉัตรทองประดับลวดลายกรวยเชิง ประดับเพชรที่มีกระจังเข็มขัดล้อม ใช้อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิจากพระเมรุมาศเข้าพระบรมมหาราชวัง กระทั่งเก็บรักษาไว้บนพระวิมานพระบรมอัฐิ จะถอดเปลี่ยนเป็นพุ่มข้าวบิณฑ์ นอกจากนี้ ยังมีพระโกศศิลา และฐานไม้กลึงแกะสลักลงรักปิดทอง สำหรับรองรับยอดพระโกศเมื่อถอดผลัดเปลี่ยนในงานราชพิธี

“พระโกศทองคำลงยา” ขนาดฐานกว้าง 20 เซนติเมตร วัดจากฐานถึงยอดพุ่มข้าวบิณฑ์ สูง 80 เซนติเมตร วัดจากฐานถึงยอดฉัตร สูง 99 เซนติเมตร รัตนชาติที่ใช้ประดับพระโกศเป็นเพชรเจียระไนสีขาว มีขนาดเล็ก และใหญ่ตามความเหมาะสม รวม 5,368 เม็ด ส่วนยาสีที่ใช้ตกแต่งพระโกศมี 3 สี ได้แก่ สีเหลือง สีแดง และสีเขียว

“พระโกศทองคำลงยาแปดเหลี่ยม” มีขนาดเล็กกว่าพระโกศลงยาที่เป็นพระโกศองค์หลัก ใช้แนวคิดเดียวกับการออกแบบพระโกศจันทน์ องค์พระโกศมีบัวกลีบขนุนหุ้มอยู่โดยรอบ 8 เหลี่ยม ใจกลางเป็นเทพยดาพนมมือ ด้านล่างมีครุฑยุดนาคหน้าอัดยืนรายอยู่ตามท้องไม้ที่ฐาน ส่วนสีที่ใช้ลงยา ได้แก่ สีขาว สีชมพู สีเขียว สีเหลือง เป็นหลัก แซมด้วยสีน้ำเงิน

นอกจากนี้ ยังมี “พระโกศทองคำลงยา” อีกองค์ที่มีลักษณะพิเศษ คือ มีครุฑพนมทำด้วยโลหะเงิน ประจำอยู่ทั้ง 8 ทิศของฐานพระโกศ เปรียบได้กับครุฑพนมปกปักรักษาพระบรมอัฐิของในหลวงรัชกาลที่ 9 หรือยามเสด็จฯ ไปในวิมานต่างๆ จะมีครุฑพนมเป็นพาหนะรับใช้อยู่ทุกทิศ ลักษณะโดยรวมของพระโกศองค์นี้ เป็นรูปทรงกระบอกแปดเหลี่ยมปากผาย ฝาพระโกศเป็นทรงยอดมหามงกุฎแปดเหลี่ยม ลงยาสีประดับรัตนชาติ ส่วนฐานล่างเป็นหน้ากระดานฐานสิงห์ ลวดลายของหน้ากระดานเป็นลักษณะลายประจำยามก้ามปู มีดอกประจำยามทิศประดับที่มุมทั้ง 8 ทิศ ลงยาสีฟ้าประดับรัตนชาติ ถัดขึ้นมาเป็นฐานสิงห์ และบัวหลังเจียด หรือหลังสิงห์ หน้าฐานสิงห์มีลวดลายประดับลงยาสีชมพู และสีเขียว ท้องสิงห์ประดับลวดลายประจำยามลงยาสีฟ้า และชมพู ถัดขึ้นไปเป็นท้องไม้ทรงแปดเหลี่ยม มีลักษณะพิเศษคือ บริเวณมุมทั้งแปดทิศของท้องไม้ ประดับด้วยครุฑพนมซึ่งทำด้วยโลหะเงิน ถัดขึ้นไปเป็นลวดลายบัวหงาย ลงยาสีชมพูประดับรัตนชาติ หน้ากระดานแปดเหลี่ยมลวดลายเป็นลูกฟักก้ามปู ลงยาสีประดับรัตนชาติ ตั้งกระจังเจิม และกระจังตาอ้อยลงยาสีประดับรัตนชาติ ถัดขึ้นไปอีกเป็นลวดลายกระจังปฏิญาณรอบเอวพระโกศ รองรับด้วยบัวเกสรกระจังปฏิญาณลงยาสีฟ้า และประดับรัตนชาติ

สำหรับเอวของพระโกศประดับด้วยดอกไม้เอว และเกสรทำด้วยโลหะเงินประดับรัตนชาติ องค์พระโกศเป็นทรงกระบอกปากผาย ประดับลวดลายบัวกลีบขนุนซึ่งเป็นลายรักร้อยซ้อนกันขึ้นไป ภายในกลีบลงยาสีฟ้า และสีชมพูประดับด้วยรัตนชาติ โดยกลีบของบัวกลีบขนุนทำซ้อนกันขึ้นไป 4 ชั้น จนถึงปากกระบอกที่ผายออก โดยสีที่ใช้ลงยา ได้แก่ สีฟ้า สีเขียว และสีชมพู

๐ช่อไม้จันทน์

“ช่อไม้จันทน์” มีทั้งหมด 7 แบบ ได้แก่ ช่อไม้จันทน์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ โดยลวดลายบนช่อไม้จันทน์ ออกแบบโดยใช้ลายดอกไม้เทศซ้อนไม้ทั้งหมด แต่วิธีการผูกลายเพื่อให้เกิดเป็นลายต่างๆ จะแตกต่างกัน

ส่วนวิธีการทำช่อไม้จันทน์ จากเดิมเป็นดอกไม้เทศซ้อนไม้ คือนำแผ่นไม้แบนๆ มาฉลุซ้อนกัน แต่ช่อไม้จันทน์ในงานพระราชพิธีครั้งนี้ ไม่ได้ซ้อนไม้เพียงอย่างเดียว แต่ใช้วิธีแกะลายด้วย เพื่อให้นูนสูง และเพิ่มมิติมากขึ้น

๐ท่อนฟืนไม้จันทน์

“ท่อนฟืนไม้จันทน์” จะใช้ทั้งหมด 24 ท่อน แต่ละท่อนมีหน้ากว้าง 2 นิ้ว ยาว 60 เซนติเมตร ออกแบบโดยใช้ลายทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ส่วนหน้าฟืนเป็นลายดอกประจำยาม จะใช้วิธีทำลายรดน้ำ ต่างจากทุกครั้งที่ใช้วิธีฉลุลายปิดทอง โดยจะฉลุลายเฉพาะส่วนบน และส่วนล่างของท่อนฟืน แต่ครั้งนี้จะมีลวดลายที่หน้าฟืนด้วย

๐พระจิตกาธาน

“พระจิตกาธาน” ใช้สำหรับประดิษฐานหีบพระบรมศพจันทน์ และพระโกศจันทน์ รูปแบบยึดตามโบราณราชประเพณี จัดสร้างตามรูปแบบพระจิตกาธานในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงบุษบกชั้นเรือนยอด 9 ชั้น แต่มีขนาดใหญ่กว่า มีความสูง 10.825 เมตร ยาว 5.52 เมตร กว้าง 4.02 เมตร ตามขนาดของพระเมรุมาศของในหลวงรัชกาลที่ 9

โครงสร้างพระจิตกาธาน ทำด้วยไม้สักแกะสลักลายปิดทองล้วงสี หรือการปิดทองหน้าลาย ซึ่งเป็นเทคนิคโบราณ ข้างลายใช้สีครีมงาช้างเพื่อให้กลมกลืนกับสีหีบพระบรมศพจันทน์ และพระโกศจันทน์ ชั้นบนสุดประดับ “ยอดพรหมพักตร์” แกะจากไม้จันทน์ มีความหมายถึงพรหมวิหาร 4 ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ส่วนฐานของพระจิตกาธานเป็นลายฐานสิงห์ แสดงถึงฐานานุศักดิ์ ลายบัวเชิงบาตร แกะลายให้เป็นลักษณะกลีบดอกบัว ส่วนฐานจะย่อไม้ ย่อมุม มีความโค้งให้ความรู้สึกนิ่มนวล สะท้อนพระจริยวัตรอันงดงามของในหลวงรัชกาลที่ 9

๐เครื่องสดประดับพระจิตกาธาน

“เครื่องสดประดับพระจิตกาธาน” โดยหลังคาชั้นเรือนยอดจะประดับด้วยเครื่องสด ได้แก่ งานช่างแทงหยวก งานแกะสลักของอ่อน และงานช่างประดิษฐ์ดอกไม้ รูปแบบการตกแต่งหลังคาเรือนยอดพระจิตกาธาน ประดับด้วย การร้อยกรองดอกไม้สดเป็นตาข่ายทุกชั้น ขอบปิดด้วยลวดลายแทงหยวก เรียกว่า “รัดเกล้า” สาบลายช่องกระจกด้วยกระดาษทองอังกฤษ ประดับลวดลายดอกประจำยามที่ทำจากเปลือกมะละกอดิบ ซ้อนชั้นเป็นดอกดวง ที่มุมชั้นของเรือนยอดแต่ละชั้นประดับด้วย กระจังทิศ กระจังเจิม ประดิษฐ์จากกาบกล้วยตานี สาบกระดาษทองอังกฤษ ด้านบนประดับประดาด้วยดอกไม้ไหวที่ประดิษฐ์เป็นดอกปาริชาต ปักประดับเว้นระยะห่างกัน

การจัดทำพระจิตกาธานครั้งนี้แตกต่างจากพระจิตกาธานที่ผ่านมา คือจัดทำเทวดาชั้นพรหม วรรณะสีขาวนวลนั่งคุกเข่า พระหัตถ์ทรงถือพระขรรค์ ประดับหน้าเสาชั้นเรือนไฟ 8 องค์ เพื่อเฝ้าพิทักษ์รักษา ในวาระที่เสด็จสู่สรวงสรรค์

พระจิตกาธานยังประดับด้วย “ดอกปาริชาติ” 70 ดอก เท่ากับ 70 ปี ที่ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ ประดับรอบชั้นรัดเอว ที่ประดิษฐานพระโกศจันทน์ 16 ดอก หมายถึง สวรรค์ 16 ชั้น ในรูปลักษณ์ความหมายของไตรภูมิ ส่วนที่เหลือประดิษฐ์เป็นดอกไม้ไหว ดอกไม้เฟื่อง ออกนามว่าดอกปาริชาตเช่นกัน เหมือนดอกไม้ที่ร่วงลงมาจากสรวงสรรค์ ซึ่งในตำนานเป็นดอกไม้บนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

การประดิษฐ์ดอกปาริชาติจะใช้ดอกสีเหลือง และสีชมพูอมม่วง หรือชมพูอมแดง ผนวกเป็นสียืนพื้น ในส่วนของเกสรใช้เมล็ดธัญพืช คือ เมล็ดข้าวพันธุ์หอมมะลิจากทุ่งกุลาร้องไห้ เมล็ดข้าวโพดจาก จ.เพชรบูรณ์ จ.เชียงใหม่ และ จ.กาญจนบุรี ถั่วเขียว ถั่วแดง จากเกษตรกรเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา และถั่วทอง ใจกลางของดอกปาริชาติเกสรชั้นในสุดประดิษฐ์จากพลอยนพรัตน์ ประกอบด้วย เพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน ไพลิน มุกดาหาร เพทาย และไพฑูรย์ จาก จ.จันทรบุรี

กล้วยที่ใช้แทงหยวก ใช้ต้นกล้วยตานีตามโบราณราชประเพณี 55 ต้น การประดับดอกดวงจะประดิษฐ์ด้วยการใช้พิมพ์ทองเหลือง แกะลวดลายในลวดลายต่างๆ อาทิ ลายใบเทศ ดอกประจำยาม ฯลฯ ส่วนดอกไม้สดจะเน้นดอกรัก ดอกมะลิ และกลีบดอกกล้วยไม้ย้อมสีจำปา และดอกบานไม่รู้โรย ย้อมสีกรองกลีบเป็นสีชมพูอมแดง

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เพื่อถวายพระเกียรติสูงสุดแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9