“เจโทร”เผยบ.ร่วมทุนญี่ปุ่นในไทยหันทำธุรกิจบริการมากขึ้น-คาดยังรักษาแชมป์ลงทุนมากสุดในไทยต่อเนื่อง

https://www.matichon.co.th/news/

นายฮิโรคิ มิทสึมะตะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจแนวโน้มการลงทุนของบริษัทของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย ปี 2560 ซึ่งสำรวจเป็นครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 30 พฤาภาคม-30 กันยายน 2560 จำนวน 6,134 บริษัท แต่ได้รับการตรวจสอบยืนยันสถานะทำธุรกิจในไทย 5,444 บริษัท เพิ่มขึ้น 877 บริษัท จากที่ทำสำรวจครั้งก่อนปี 2557 พบว่า จำนวนบริษัทในอุตสาหกรรมการผลิตคิดเป็นสัดส่วน 43.09% หรือมี 2,346 บริษัท และอยู่ในอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่ภาคการผลิต 53.01% หรือมี 2,890 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริการ ธุรกิจที่พบมากสุด คือ การค้าส่ง 1,278 บริษัท รองลงมา การบริการเฉพาะทาง เช่น บริษัทที่ปรึกษา สำนักงานบัญชี กฎหมาน จัดหางาน รวมกัน 256 บริษัท ทั้งนี้แนวโน้มการลงทุนในไทย ที่เป็นอุตสาหกรรมไม่ใช่ภาคการผลิตมีสัดส่วนมากกว่าอุตสาหกรรมหารผลิตอย่างชัดเจน เทียบกับปี 2557 ซึ่งมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน เมื่อดูขนาดบริษัทพบว่ามีบริษัทขนาดกลางและเล็กเข้ามาลงทุนในปีนี้มากกว่าบริษัทใหญ่เทียบกับปี 2557 โดยเพิ่มขึ้น 432 บริษัท และ 404 บริษัท ตามลำดับ ในปี 2557 มีบริษัทกลางและเล็ก 1,427 บริษัท และใหญ่ 1,884 บริษัท พื้นที่การลงทุนบริษัทครึ่งหนึ่งลงทุนในกรุงเทพฯ ที่เหลือเป็นปริมณฑล

นายฮิโรคิ กล่าวอีกว่า ยังได้ทำสำรวจการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นโดยตรงในอาเซียน พบว่าการลงทุนสะสมจากอดีตถึงปีที่ผ่านมาในอาเซียนรวม 1.63 แสนล้านเหรียญสหรัฐ อันดับหนึ่งเป็นไทย มูลค่าลงทุนสะสม 5.35 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาสิงคโปร์ 3.96 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ อินโดนีเซีย 2.66 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เวียดนาม 1.46 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ฟิลิปปินส์ 1.36 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ มาเลเซีย 1.26 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อพิจารณาเฉพาะในไทย ปีที่ผ่านมาต่างชาติลงทุนโดยตรงในไทยรวม 1.97 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ชาติที่มาลงทุนในไทยมากสุด คือ ญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วน 36.2% รองลงมาสิงคโปร์ 14.8% ยุโรป 14.3% สหรัฐ 7.7% ฮ่องกง 5.5% จีน 1.8%

“ บริษัทญี่ปุ่นลงทุนในไทยเป็นอันดับแรก และเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน เพราะนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐมีความชัดเจนและต่อเนื่อง ไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการลงทุนดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ไทยมีนโยบายการค้าเสรีที่ต่อเนื่อง รวมถึงมีฐานการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นขนาดใหญ่ทำมาตั้งแต่ 10 ปีที่ผ่านมารองรับอยู่แล้วทำให้การขยายธุรกิจทำได้ง่ายขึ้น”นายฮิโรคิกล่าว และว่า ส่วนที่นักธุรกิจจากญี่ปุ่นขนาดใหญ่ราว 500 ราย ลงพื้นที่ดูงานระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในช่วงที่ผ่านมา เชื่อว่าจะทำให้การลงทุน ในไทยของบริษัทญี่ปุ่นขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ส่วนบริษัทจะมีการลงทุนจริงมากน้อยเพียงใดในอีอีซี หลายบริษัทกำลังติดตามมาตรการและกฎระเบียบของอีอีซี และมีบางบริษัทที่ได้ลงรายละเอียดในแผนการลงทุนแล้วว่าจะทำอะไรบ้าง อย่างไรก็ตามนักลงทุนญี่ปุ่นยังมี ข้อกังวลเรื่องการขาดแคลนแรงงานมีฝีมือโดยเฉพาะวิศวกร ซึ่งยังเป็นข้อกังวลใหญ่ของธุรกิจญี่ปุ่นอยู่ในปัจจุบัน