4 ตัวแทนสื่อไขก๊อก ค้านกฎหมายคุมสื่อ

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
  • ภาพ
  • จักรกฤษณ์ เพิ่มพูล,4 ตัวแทนสื่อ,ลาออก,อนุกมธ.สื่อ,สปท.,ค้านพ.ร.บ.คุ้มครองสื่อ
    4 ตัวแทนสื่อไขก๊อก ค้านกฎหมายคุมสื่อ
4 ตัวแทนสื่อไขก๊อกอนุกมธ.สื่อ สปท.แสดงจุดยืนค้านพ.ร.บ.คุ้มครองสื่อ

นายจักรกฤษณ์ เพิ่มพูล อนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) กล่าวถึงกระแสข่าวตัวแทนสื่อที่เป็นอนุกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์ จะยื่นหนังสือลาออกจากอนุกมธ. เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ของสปท.ว่า เป็นเรื่องจริง ตัวแทนสื่อที่อยู่ในคณะอนุกมธ. 4 คนประกอบด้วยตน นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นางสุวรรณา สมบัติรักษาสุข และนางอมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ จะยื่นหนังสือลาออกจากอนุกมธ. เพื่อแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ที่มีเนื้อหาจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อ เดิมร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)ศึกษาไว้ และสปท.มาสานต่อ โดยให้คณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งอนุกมธ.ได้ศึกษาและรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทั้งสื่อมวลชน ภาคประชาสังคม นักวิชาการ ใช้เวลาเป็นปี จนตกผลึกเป็นร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ออกมา มีเนื้อหาในแง่ส่งเสริมสนับสนุนการทำหน้าที่สื่อ และให้สื่อกำกับดูแลกันเอง ไม่ได้มีเนื้อหาการควบคุมสื่อตามที่เป็นข่าว แต่เมื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน กลับถูกแก้ไขเนื้อหาไปจากเดิม ซึ่งเป็นเนื้อหาสาระสำคัญ

ทั้งนี้ หลักการสำคัญที่ถูกแก้ไขคือ 1.การให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติมีอำนาจออกใบอนุญาต และเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อ ซึ่งเคยปรากฏในกฎหมายช่วงเผด็จการ และขัดกับบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติที่รับรองให้สื่อและประชาชนมีสิทธิในการแสดงความเห็น จึงเป็นกฎหมายย้อนยุคไปสู่เผด็จการ 2.องค์ประกอบสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ มีปลัดกระทรวง 4 กระทรวง ร่วมเป็นกรรมการ ถือว่าบิดเบือนหลักการโดยสิ้นเชิงจากที่เคยเสนอมาตั้งแต่สปช.ที่ให้สื่อมีความเข้มแข็ง แต่กลับกลายเป็นสื่อถูกบังคับควบคุมโดยกฎหมาย ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่า สปท.จะแก้ไขร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้ แต่เนื้อหาที่แก้ไขเป็นสาระสำคัญ ซึ่งตรงข้ามกับสิ่งที่อนุกมธ.นำเสนอจากที่ไปรับฟังภาคส่วนต่างๆมา การที่สื่อออกมาคัดค้าน ไม่ใช่การปกป้องสิทธิของตัวเอง แต่ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้คือการปิดหูปิดตาประชาชน สุดท้ายจะไปกระทบกับข้อมูลที่ประชาชนได้รับ อย่างไรก็ตามขณะนี้ต้องให้เกียรติที่ประชุมสปท. ซึ่งควรเปิดใจให้กว้าง รับฟังเสียงคัดค้าน ไม่ใช่ยืนยันจะเดินหน้าอย่างเดียว สิ่งที่ไม่สบายใจคือ มีน้ำเสียงคล้ายๆว่า การปฏิรูปสื่อต้องฟังเสียงรัฐบาลและผู้มีอำนาจด้วย ถือเป็นหลักที่ผิดโดยสิ้นเชิง เพราะสื่อไม่สามารถรับใช้อำนาจรัฐได้