https://www.matichon.co.th/news/
‘ประยุทธ์’เข้าทำเนียบขาวจับมือ’ทรัมป์’ขับเคลื่อนความร่วมมือทุกมิติ ชวน’ลูกสาว ปธน.สหรัฐ’ดูงานต่อต้านค้ามนุษย์ในไทย ขอให้เปิดตลาดสินค้าเกษตรไทยมากขึ้น ปม’เกาหลีเหนือ’ไทยยันยึดมติสหประชาชาติ พร้อมหนุนเจรจา
เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม เวลา 12.20 น. (2 ต.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมคณะเดินทางถึงทำเนียบประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา จากนั้นได้หารือข้อราชการกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ณ ห้อง Oval Office ต่อมามีการหารือทวิภาคีเต็มคณะระหว่างนายกรัฐมนตรีกับประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา (Working Lunch) ณ ห้อง Cabinet Room ก่อนให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนร่วมกัน
พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงผลการหารือกับประธานาธิบดีสหรัฐ โดยได้แสดงความขอบคุณประธานาธิบดีสหรัฐฯและภริยา สำหรับการต้อนรับอย่างดียิ่ง เต็มไปด้วยมิตรไมตรี และบรรยากาศที่อบอุ่นเป็นกันเอง ซึ่งนับว่าการเยือนสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ซึ่งเป็นการเยือนในระดับนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการของไทยในรอบ 12 ปี ประสบผลสำเร็จน่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง และนายกรัฐมนตรีได้ใช้โอกาสนี้ แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ภัยพิบัติจากพายุเฮอร์ริเคนที่เปอโตริโก และเหตุโศกนาฏกรรมที่ลาสเวกัสด้วย ไทย-สหรัฐมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดเป็นมิตรกันมายาวนาน 184 ปีในปีนี้ และย้อนไปเกือบ 200 ปีสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ทั้งนี้ ไทยและสหรัฐต่างมีนโยบายและแนวทางเดียวกัน คือ การให้ความสำคัญกับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งนโยบาย America First ของ นายโดนัลด์ เจ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา สอดคล้องและเชื่อมโยงกับนโยบาย Thailand 4.0 ของไทย เพื่อชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน อย่างเท่าเทียมและครอบคลุม ทั้งนี้ ในการหารือเต็มคณะ นายกรัฐมนตรีได้เผยถึงประเด็นต่างๆ ได้แก่ ด้านความมั่นคง ซึ่งนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีสหรัฐได้เห็นพ้องร่วมกันว่าเป็นเสาหลักสำคัญของความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศ และมีส่วนสำคัญในการสร้างสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งตัวอย่างความร่วมมือที่ดีได้แก่ การฝึกซ้อม Cobra Gold พร้อมกันนี้ ไทยและสหรัฐจะขยายความร่วมมือเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยนายกรัฐมนตรีได้เชิญนาง Ivanka Trump บุตรสาวประธานาธิบดีสหรัฐที่มีความสนใจและมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ เยือนไทยเพื่อดูงานและความพยายามของรัฐบาลในการแก้ปัญหา นอกจากนี้ จะขยายความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายและส่งเสริมความมั่นคงทางไซเบอร์ ด้านข่าวกรอง พร้อมทั้งหาแนวทางว่าจะร่วมมือกันอย่างไรเพื่อเสริมสร้างสันติสุขในภูมิภาค รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการป้องกันประเทศด้วย
ด้านความร่วมมือเกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขวางในประเด็นต่างๆ เช่น สถานการณ์คาบสมุทรเกาหลี ซึ่งไทยยืนยันดำเนินการตามมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ( UNSC) และสนับสนุนให้เกาหลีเหนือเข้าสู่การเจรจา ส่วนสถานการณ์ในรัฐยะไข่ ไทยและสหรัฐร่วมผลักดันการแก้ปัญหาตามหลักมนุษยธรรม รวมทั้งการแก้ไขปัญหาในระยะยาวด้วย
การค้าและการลงทุน ตามสนธิสัญญาไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ปี ค.ศ.1966 ทำให้นักธุรกิจอเมริกันได้ประโยชน์เหมือนคนไทยในการลงทุนที่ประเทศไทย พร้อมทั้งร่วมผลักดันมูลค่าการค้าระหว่างกันให้สูงขึ้น โดยกลไกที่มีอยู่ พร้อมตั้งกลไกใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนหากมีปัญหาติดขัด โดยขณะนี้นักลงทุนไทยมีการลงทุนในสหรัฐทั้งหมด 23 บริษัท มูลค่าการลงทุนรวม 5.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีแผนเพิ่มการลงทุนอีกรวม 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ จะสามารถสร้างงานได้มากกว่า 8,000 ตำแหน่ง จึงขอให้สหรัฐได้สนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนไทยเหล่านี้ พร้อมทั้งขอให้สหรัฐเปิดตลาดสินค้าเกษตรไทยมากขึ้น
ภายหลังการหารือ นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีสหรัฐได้ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างบริษัท PTTGC America LLC กับหน่วยงาน JobsOhio ว่าด้วยความร่วมมือในการศึกษา วางแผน และจัดทำโครงการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่เขตเบลมอนต์ (Belmont County) ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานปิโตรเคมี