‘อุตตม’ ชี้ อีอีซีรับการเปลี่ยนแปลงโลก ดึงดูดลงทุนสมัยใหม่ ยกระดับประเทศ

https://www.matichon.co.th/news/

เมื่อเวลา 09.00 น. มติชนร่วมกับสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (สกรศ.) จัดงานสัมมนา “อีอีซี แม่เหล็กเศรษฐกิจไทยเชื่อมโลก” ที่ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริรกิติ์ โดยมีผู้สนใจลงทะเบียนร่วมงานอย่างล้นหลาม ทั้งผู้ที่ลงทะเบียนทะเบียนผ่านทางคิวอาร์โค้ดและลงทะเบียนหน้างาน นอกจากนี้ ยังมีนักธุรกิจ ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐภาคราชการ ประชาชนที่สนใจ สื่อมวลชน เข้ารวมด้วยกว่า 700 คน

นายฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า นอกจากการนำเสนอข่าวสารผ่านหนังสือพิมพ์และช่องทางดิจิทัล กิจกรรมที่มติชนได้ดำเนินการมาต่อเนื่องคือการนำ นำผู้ตัวจริงในแต่ละเรื่องในแต่ละสาขามาพบปะพูดคุยกับประชาชนและผู้สนใจโดยตรง เพราะในฐานะสื่ออาจสื่อสารออกมาไม่ครบถ้วนเท่ากับผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญทุกท่านที่ถือข้อมูลเหล่านั้นอยู่ ดังนั้น นอกจากสื่อตัวความเราก็สื่อตัวคนด้วย การที่ได้ท่านผู้รู้ตัวจริงมาพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนกันโดยตรงน่าจะเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในปีนี้มติชนครบรอบ 40 ปี ช่วงที่ผ่านมาได้จัดงานสัมมนา อาทิ ไทยแลนด์ 4.0 ต่อด้วยงานสัมมนาฟินเทค รวมทั้งล่าสุด คือ โครงการการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

“หลาย ๆ ท่านอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามในภาวะที่ยังไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจไทยช้าไปด้วย แต่ในด้านหนึ่งถึงเวลาที่ประเทศต้องก้าวเดินต่อไป เพราะโลกทำให้เราต้องเดินไปข้างหน้า จะถอยหลังไม่ได้ เครื่องมือที่ผลักดันเราไปข้างหน้าคืออีอีซี โดยอีอีซีได้ดำเนินโครงการมาแล้ว 6 เดือน จะมีความคืบอะไรบ้าง และอะไรที่ผู้สนใจและผู้รับฟังที่เข้าร่วมจะนำไปเป็นประโยชน์ได้ วันนี้มีผู้รู้ อาทิ นายคณิต ศรีสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และวิทยากรท่านอื่น ที่จะมาเล่าให้รับฟังในงานนี้” นายฐากูรกล่าว

ด้าน นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ การสัมมนา “อีอีซี แม่เหล็กเศรษฐกิจไทยเชื่อมโลก” ว่า ประเทศอยู่ในห้วงการเปลี่ยนแปลงสังคม เศรษฐกิจ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่มีการเดินหน้านโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นเรื่องใหญ่และเป็นของใหม่ที่ต้องการความเข้าใจ ซึ่งรัฐบาลต้องการความเห็นชี้แนะจากคนไทยด้วยกันว่านโยบายต่างๆ ทำแล้วได้อะไร จะมีมาตรการเยียวยาประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่

ทั้งนี้ ไทยต้องเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี มีการใช้ชีวิตที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ข้อมูล การทำธุรกิจล้วนต้องใช้เทคโนโลยี อย่างอินเตอร์เน็ตในอดีตใช้ค้นคว้าข้อมูลเท่านั้น แต่ปัจจุบันคือการใช้อินเตอร์เน็ตเชื่อมโยงทุกมิติ(ไอโอที) ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงจะอยู่รอดหรือไม่ยังเป็นคำถาม หรืออย่างโทรศัพท์กลายเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลไม่ใช่แค่พูดคุยติดต่อสื่อสารกัน บริษัทรถยนต์จะเป็นแพลตฟอร์มอินเตอร์เน็ต มีเทคโนโลยีไฟฟ้า การเปลี่ยนแปลงของโลกนอกจากเทคโนโลยียังมีเรื่องการเมืองโลก อย่างยุโรปมีเบร็กซิต ขณะที่เอเชียถูกจับตาเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก

นายอุตตม กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ กำลังปรับเปลี่ยนฐานส่งออกของประเทศให้เป็นสินค้าคุณภาพสูง ขณะเดียวกันก็จะพัฒนาอีอีซี เพื่อพัฒนาประเทศให้แข็งแกร่ง ถ่วงน้ำหนักการส่งออกด้วยการพัฒนาในประเทศ ส่วนปัญหาด้านอื่นของประเทศทั้งความเหลื่อมล้ำ การศึกษา สังคม ล้วนเป็นความท้าทายที่เราไทยต้องจัดการ ปัจจุบันไทยกำลังเดินหน้ายุทธศาสตร์ประเทศไทยช่วง 20 ปี เพื่อให้ประเทศโตอย่างยั่งยืน มีตัวเลขเศรษฐกิจเติบโตดี โดยมีเครื่องมือสำคัญคือไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งภาครัฐจะต้องเป็นผู้เปลี่ยนแปลงก่อน และตามด้วยส่วนอื่นของประเทศ เพราะเครื่องมือนี้จะทำให้ไทยแข่งขันได้ โดยของย้ำว่า 4.0 จะไม่ดูแค่เศรษฐกิจ แต่จะดูทั้งการศึกษา สังคม การพัฒนาคน

ส่วนการเดินหน้าอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 กลุ่ม ไม่ได้แปลว่าเรามุ่งแต่อุตสาหกรรม แต่เราให้ความสำคัญกับภาคเกษตรที่เป็นพื้นฐานของประเทศด้วย เพราะใน10อุตสาหกรรมมีทั้งอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ไบโอชีวภาพ และอาหารบรรจุอยู่ด้วย เราเดินไปข้างหน้าแต่เราไม่ทิ้งของเก่าที่เป็นฐานของเรา

“อีอีซีไม่ได้คิดจากอากาศ แต่เพราะต้องการสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจประเทศ มีการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมที่เราแข็งแกร่งอยู่ก่อน อาทิ ยานยนต์สู่ยานยนต์ไฟฟ้า ปิโตรเคมีสู่ปิโตรเคมีขั้นสูง เพื่อเพิ่มการเติบโตของอุตสาหกรรมนั้น โดยอีอีซีเป็นพื้นที่การลงทุนขนาดใหญ่ที่ไม่ได้เกิดในไทยมานาน 30 ปี ครั้งนี้จึงเกิดอีอีซีขึ้น โดยในหลักการของรัฐบาลกำหนดให้อีอีซีมีการเชื่อมโยงกับการพัฒนาพื้นที่อื่น การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเกิดพื้นที่อื่นด้วย แต่มีจุดเริ่มในอีอีซี อาทิ ไบโอชีวภาพที่ต้องมีการพัฒนาในพื้นที่อื่นของประเทศด้วย หรืออย่างรถไฟที่มีในอีอีซีและเชื่อมต่อการขนส่งไปสู่พื้นที่อื่นและเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน” นายอุตตมกล่าว

นายอุตตม กล่าวว่า พื้นที่อีอีซีมีท่าเรือ สนามบิน รถไฟอยู่แล้ว แต่เราต้องการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการขยายตัวของเมืองใหม่ และเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านของไทยด้วย นอกจากนี้จะต้องสร้างเมืองใหม่ ทั้งที่อยู่อาศัย โรงเรียน โรงพยาบาล เพื่อสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนที่มีอยู่เดิม เพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้ สำหรับการลงทุน รัฐบาลกำลังเชิญชวนนักลงทุนจากทั่วโลก ล่าสุดมีคณะนักลงทุนจากญี่ปุ่น 500 ราย และรัฐบาลจะเร่งเชิญชวนนักลงทุนชาติอื่นๆ เข้ามา เน้นดึงเทคโนโลยีสูงเข้ามาในพื้นที่ นอกจากนี้จะสร้างเครือข่ายการศึกษา สร้างบุคลากรสายวิชาชีพ โดยวันที่ 23-24 กันยายน กระทรวงศึกษาธิการจะจัดงานพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งกระทรวงและสำนักงานอีอีซีจะลงพื้นที่ร่วมด้วย ขณะเดียวกันกระทรวงอยู่ระหว่างร่วมกับญี่ปุ่นจัดตั้งหลักสูตรการศึกษาแบบยืดหยุ่น โดยจะประสานกับหน่วยงานการศึกษาและเอกชนของ 2 ประเทศเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านอาชีวะมาป้อนอีอีซี

นายอุตตม กล่าวว่า สำนักงานอีอีซีได้มีการลงพื้นที่รับความเห็นจากประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดมาแล้วถึง 8 ครั้ง และตลอด 2 ปีมีความคืบหน้า มีทีมทำงานที่บูรณาการ มีบีโอไอ มีระบบศุลกากรกระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษา มีระบบดิจิทัลอำนวยความสะดวกต่างๆ และล่าสุดด้านกฎหมายมีความคืบหน้าเพราะคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.อีอีซี เพื่อเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) โดยเนื้อหากฎหมายจะมีการดูแลประชาชน สภาพแวดล้อม และมีสิทธิประโยชน์สำคัญต่างๆ โดยเรื่องนี้ต่างชาติจับตาความคืบหน้ากฎหมาย จึงเป็นข่าวดี อย่างกระบวนการลงทุนร่วมระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี)ในโครงสร้างพื้นฐานมีความคืบหน้าเช่นกัน คาดว่าจะเห็นการประมูลได้ช่วงต้นปีหน้า

“วันนี้ไทยมีแผนยุทธศาสตร์ชี้ทางว่าควรลงทุนอุตสาหกรรมไหน เพื่อให้ประเทศก้าวหน้าอย่างยั่งยืนไม่ถอยหลัง โดยไทยเป็นส่วนหนึ่งของเอเชียที่กำลังเติบโต สิ่งสำคัญคือคนไทยจะทำอย่างไรให้ประเทศเกิดแรงจูงใจ เราจะทำอย่างที่จะอาศัยแรงส่งของเอเชียในการเติบโตหลังจากนี้ ทั้งนี้จากความร่วมมือกับเอกชนจะเป็นในรูปของประชารัฐ ที่ภาคเอกชนจะเข้ามามีบทบาทในการพัฒนา สนับสนุนงานพัฒนาต่างๆ ร่วมกับภาครัฐ” นายอุตตมกล่าว