- ภาพ
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้(24 ม.ค.) เห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 โดยมีสมมติฐานทางเศรษฐกิจไทยในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 3.3-4.3% และอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วง 1.5-2.5% ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 8.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
ปีงบประมาณ 2561 คาดว่ารัฐบาลจะจัดเก็บรายได้รวม 2,936,000 ล้านบาท เมื่อหักคืนภาษี การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด คงเหลือรายได้สุทธิ จำนวน 2,450,000 ล้านบาท
นโยบายงบประมาณ วงเงิน และโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 ได้กำหนดนโยบายงบประมาณขาดดุลสำหรับปีงบประมาณ 2561 จำนวน 450,000 ล้านบาท ทำให้วงเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 2,900,000 ล้านบาท ดังนี้
โครงสร้างงบประมาณรายจ่าย ประกอบด้วย
-รายจ่ายประจำ 2,146,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 74% ของวงเงินงบประมาณรวม
-รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง ในปีงบประมาณ 2561 ไม่มีรายการที่เสนอตั้งงบประมาณ
-รายจ่ายลงทุน 667,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 23% ของวงเงินงบประมาณ
-รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 89,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3% ของวงเงินงบประมาณรวม
-รายได้สุทธิ 2,450,000 ล้านบาท
-งบประมาณขาดดุล 450,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
แนวทางการจัดทำงบประมาณ
1. ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่น จัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 ตามกรอบวงเงินขอเสนองบประมาณเบื้องต้น(Pre-ceiling) 3,411,724.1 ล้านบาทที่นายกรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นชอบแล้ว
หากหน่วยงานพิจารณาแล้วเห็นว่ามีภารกิจที่เป็นเรื่องสำคัญต้องดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลและไม่ได้เตรียมกรอบวงเงินรองรับไว้ เช่น การดำเนินงานตามแผนบูรณาการ เป็นต้น ก็สามารถเสนอขอเพิ่มเติมได้ภายในกรอบวงเงินของกระทรวงตามข้อเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 เบื้องต้น โดยต้องพิจารณาปรับลดวงเงินคำขอในส่วนที่มีความสำคัญน้อยของแผนพื้นฐาน หรือแผนยุทธศาสตร์ในวงเงินที่เท่ากัน
2. ให้ความสำคัญกับการดำเนินภารกิจที่สอดคล้องและเชื่อมโยงกับร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ(พ.ศ. 2558-2564) นโยบายสำคัญของรัฐบาล แผนปฏิรูปประเทศ แผนแม่บทระยะปานกลางและระยะยาว
จุดเน้นยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานของรัฐบาลให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมผ่านกลไกการบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ทั้ง 3 มิติ ได้แก่ มิติกระทรวง/หน่วยงาน(Function) มิติบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ (Agenda) ปลพมิติบูรณาการเชิงพื้นที่(Area)
3. ให้ความสำคัญกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาและส่งเสริมการพัฒนาให้เกิดความเจริญไปสู่ภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับแผนแม่บทระยะปานกลางและระยะยาว
4. ให้พิจารณาถึงความจำเป็น ความเร่งด่วน ความคุ้มค่า ศักยภาพของหน่วยงานและความพร้อมในการดำเนินงาน เพื่อให้สามารถจัดสรรงบประมาณได้อย่างสมเหตุสมผล มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
5. ให้แจ้งแหล่งเงินทุนและจำนวนเงินที่นำมาใช้ประกอบการจัดทำคำของบประมาณ ให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน โดยอาจกำหนดเป็นสัดส่วนต่องบประมาณ
6. ให้ชะลอ ปรับลดหรือยกเลิกภารกิจที่หมดความจำเป็น ทำแล้วไม่เกิดผลหรือไม่คุ้มค่า หรือมีความสำคัญในลำดับต่ำ เพื่อนำงบประมาณไปดำเนินภารกิจที่มีลำดับความสำคัญสูงและประชาชนได้รับประโยชน์โดยตรง โดยเฉพาะงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์และเชิงพื้นที่
การจัดสรรงบประมาณให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ในสัดส่วน 29.4% ของรายได้สุทธิของรัฐบาล(ไม่รวมเงินกู้) เป็นจำนวน 720,300 ล้านบาท โดยจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนให้แก่อปท. จำนวน 263,400 ล้านบาท
ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณและโครงสร้างแผนงานปีงบประมาณ 2561 ให้เพิ่มเติมการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์เพิ่มขึ้น 1 แผนงาน คือ แผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจในประเทศ และกำหนดยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่าการจัดสรรงบประมาณในปี2561 ถือเป็นปีแรกที่มีการจัดสรรงบประมาณด้านการลงทุนของภาครัฐสูงถึง 23% เพื่อให้การลงทุนภาครัฐมีความต่อเนื่องและเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ควบคู่กับการลงทุนภาคเอกชนที่สศช.คาดว่าจะมีการลงทุนขยายตัวประมาณ 2.8% หลังจากที่การลงทุนเอกชนฟื้นตัวมา 0.6% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี2559
“ส่วนการตั้งงบประมาณขาดดุลประมาณ 4.5 แสนล้านบาท ก็เป็นงบประมาณที่พอเพียงที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในปี2561โดยมีการจัดสรรงบประมาณตามยุทธศาสตร์ชาติและการจัดสรรงบประมาณสำหรับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด รวมทั้งจัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่น 7.4 แสนล้านบาทเพื่อส่งเสริมการกระจายอำนาจท้องถิ่น” นายกอบศักดิ์ กล่าว