“กนก อภิรดี” แจงการบินไทยซื้อ”โรลส์รอยซ์” ไม่ผ่านดีดี-แค่รับรู้ ไร้อำนาจอนุมัติ

http://www.matichon.co.th/news

แฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ

ความคืบหน้ากรณีข่าวการตรวจสอบพบการจ่ายสินบนของบริษัทโรลส์-รอยซ์ให้อดีตผู้บริหารและพนักงานบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ในการจัดซื้อเครื่องยนต์เครื่องบินโบอิ้ง 777 รวม 3 ครั้ง ในช่วงปี พ.ศ.2534-2548 เป็นเงิน 1,253 ล้านบาท

นายกนก อภิรดี อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่(ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งในรายการข่าวเที่ยง ทางสถานีโทรทัศน์นิวทีวี ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นมหากาพย์ที่เลวร้ายมาก โดยเชื่อว่าสิ่งที่ออกมาทางไลน์เป็นเรื่องจริง ฉะนั้นที่ออกมาพูดก็มีทั้งเศร้าและโกรธ ที่ออกมาพูดในครั้งนี้เพื่อกู้เกียรติและศักดิ์ศรีของผู้บริหารการบินไทย เพราะกรณีที่เกิดขึ้นนี้ทุกคนโยนเผือกร้อนออกจากตัว และมองไปที่คณะผู้บริหารของการบินไทย ตนคิดว่างานนี้ไม่เป็นธรรม

นายกนก กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปว่า งานใหญ่ๆแบบนี้คณะผู้บริหารการบินไทยอนุมัติได้หรือไม่ ก็ตอบว่าไม่มีทาง เป็นหมื่นหรือแสนล้านไม่มีทาง ต้องถูกอนุมัติโดยคณะรัฐมนตรี(ครม.)เท่านั้น โดยขั้นตอนจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ คณะกรรมการบริษัทจะตั้งสมาชิกที่มีความสามารถ เช่น คนที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องของน้ำมันก็จะต้องขึ้นมาเป็นประธานในชุดนั้นๆ กรณีนี้ก็เช่นเดียวกันก็ตั้งอดีตปลัดกระทรวงท่านหนึ่งเข้ามานั่งเป็นประธานเพื่อศึกษา ตีกรอบว่าระยะยาวมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องบินอะไร บินไปไหน โดยประธานชุดนี้ก็จะคัดเลือกคนบินไทยมาทำงานร่วมกัน นั่น คือ กรอบใหญ่

นายกนก กล่าวว่า เสร็จแล้วก็ทำรายละเอียด ส่วนเรื่องเครื่องยนต์เทรนด์มีสิทธิ์เลือกหรือไม่นั้น ก็ตอบว่า ไม่มีสิทธิ์เลือกเลย เพราะเทรนด์อยู่กับการบินไทยมาตั้งแต่หลังสมัยเครื่องยนต์จีอี ก่อนหน้าตนประมาณ 10 ปี จีอีเคยให้เครื่องยนต์มารับใช้บินไทย และเทรนด์เข้ามาก็ไม่มีวิ่งเต้นอะไร แต่กระบวนการนี้ไม่ได้ทำง่ายๆ เพราะการเปลี่ยนเครื่องยนต์รุ่นหนึ่งไปอีกรุ่นหนึ่งไม่ได้ทำง่ายๆ จะต้องมีการฝึกเป็นปี เพราะเครื่องบินพลาดไม่ได้ เรื่องนี้จึงเปลี่ยนไม่ได้ มันไม่มีตัวเลือก ยังไงก็ต้องใช้ กระบวนการเรื่องของการจัดซื้อไม่ได้เริ่มต้นที่ตน เพราะมีคณะกรรมการชุดหนึ่งที่แต่งตั้งโดยบอร์ดเป็นผู้ดำเนินการ โดยจะมีการเรียกฝ่ายการพาณิชย์ไปร่วมประชุมและร่วมกันจัดว่าจะจัดแบบไหน บินไปไหน และสุดท้าย จะมีคณะทำงานอีกคณะหนึ่ง ที่เรียกว่า ดีวาย คือ การวางแผนองค์กรบวกกับฝ่ายช่าง โดยทำงานร่วมกัน เพื่อกำหนดรายละเอียดต่างๆ เสร็จแล้วเสนอคณะกรรมการ(บอร์ด) บอร์ดพิจารณาเสร็จแล้ว ส่งสภาพัฒน์ฯเพื่อพิจารณาว่าถูกหรือไม่ หากถูกต้องก็ต่อไปยังกลุ่มผู้ถือหุ้น คือ กระทรวงคลัง และกระทรวงคมนาคม โดยกระทรวงการคลัง จะพิจารณาเรื่องผลตอบแทนดีพอหรือไม่ และกระทรวงคมก็ทำหน้าที่คล้ายกระทรวงการคลัง จากนั้นจึงนำเข้า ครม.

“นี่คือขั้นตอนการอนุมัติ ดังนั้นขั้นตอนของผู้บริหารแทบไม่มีเลย โดยเรื่องนี้ไม่ผ่านดีดี แค่รับรู้เฉยๆ ผมไม่มีสิทธิ์หรือมีอิทธิพลที่จะเป็นเปลี่ยนตรงนั้นล็อกตรงนี้ ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้น คือ คณะผู้บริหารที่ดูว่าอำนาจล้นฟ้านั้น จริงๆ ผมตั้งรองดีดียังไม่ได้เลย ที่อนุมัติงบได้ก็ไม่กี่ร้อยล้านบาท”นายกนกกล่าว