“กนง.”เอกฉันท์คงด/บ1.50%ต่อ-เกาะติดค่าติดค่าบาทใกล้ชิดคาดเงินเฟ้อปีนี้อาจหลุดกรอบ

https://www.matichon.co.th/news/

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า การประชุม กนง. ครั้งที่ 5/2560 กนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% เอกฉันท์ 6:0 เสียง (กรรมการ 1 ท่าน ลาประชุม) เป็นการคงอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 18 ของการประชุม โดย กนง. ประเมินว่าภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมาเงินบาทปรับแข็งค่ามากกว่าสกุลเงินภูมิภาคในบางช่วง ผลจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อค่าเงินดอลลาร์ดอลลาร์สหรัฐปรับลดลงและการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่อยู่ในระดับสูง อาจกระทบต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจ จึงให้ติดตามสถานการณ์ในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด แต่ยังไม่มีมาตรการออกมาดูแลเป็นพิเศษ นอกจากการลดปริมาณการออกพันธบัตรระยะสั้นของธปท.ลงก่อนหน้านี้

“เงินทุนไหลเข้ามาในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น แต่ถ้าเทียบกับภูมิภาคจำนวนการไหลเข้าถือว่าไม่มาก แต่ด้วยการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าสูงสุดในภูมิภาค หากธุรกิจที่ไม่ได้มีการประกันความเสี่ยงอาจจะได้รับผลกระทบและทำให้ธุรกิจมีกำไรลดลง” นายจาตุรงค์ กล่าว

นายจาตุรงค์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนต่อเนื่องจากการส่งออกสินค้าและท่องเที่ยว ตามแนวโน้มตลาดโลก ส่วนในประเทศยังขยายตัวแต่ยังไม่กระจายตัวเท่าที่ควร โดยการบริโภคเอกชนยังขยายตัวแต่ยังไม่ได้เร่งตัวมาก การลงทุนเอกชนลงทุนภาคเอกชน ฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยหมวดก่อสร้างชะลอลง และการลงทุนของภาครัฐขยายตัวได้น้อยกว่าที่คาดไว้เดิม จากการเบิกจ่ายงบกลุ่มจังหวัด ทั้งนี้ กนง. ประเมินว่าผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มูลค่าราว 7.5 พันล้านบาท กระทบต่อภาคเกษตรเป็นหลัก อย่างไรก็ตามหากคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีถือว่าไม่มากนัก สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีทิศทางปรับสูงขึ้นแต่ในอัตราที่ชะลอลงกว่าที่ประเมินไว้เดิม ตามราคาอาหารสดที่ปรับลดลงตามผลผลิตผักและผลไม้ ทำให้จากที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเข้ากรอบล่างของกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 1% อาจจะเลื่อนระยะเวลาออกไป โดยจะมีการประเมินใหม่ พร้อมกับการประเมินอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ(จีดีพี) ปีนี้ใหม่ ในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนกันยายน

“มองไปข้างหน้าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะจากปัจจัยด้านต่างประเทศ ในขณะที่ยังต้องติดตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ และยังต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุด โดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร รวมทั้งต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจเอสเอ็มอีด้วย” นายจาตุรงค์ กล่าว