3 เหล่าทัพผนึกกำลังถกรับมือสงครามไซเบอร์ เผยจีน-รัสเซีย-โสมแดง เสริมศักยภาพจริงจัง

https://www.matichon.co.th/news/

3 เหล่าทัพผนึกกำลัง ถกเสวนา รับมือสงครามไซเบอร์ ตีโจทย์ ความมั่นคงรูปแบบใหม่

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ที่หอประชุมกองทัพอากาศ 80 ปี พล.อ.อ.ชาญฤทธิ์ พลิกานนท์ รองเสนาธิการทหาร เป็นประธานงานเสวนาวิชาการ โรงเรียนเสนาธิการ 3 เหล่าทัพ ในหัวข้อ “ไซเบอร์ในกิจการทหาร ความท้าทายและเตรียมการรับมือในอนาคต” โดยมี พล.ต.ฤทธี อินทรวุธ ผู้อำนวยการศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก น.อ.อมร ชมเชย รองผู้อำนวยการกองสงครามไซเบอร์ สำนักระบบบัญชาการและควบคุม กรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทหารอากาศ น.อ.ปัทพงษ์ ดุรงค์ฤทธิชัย ผู้อำนวยการกองไซเบอร์ สำนักปฏิบัติการกรมการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศทหารเรือ ร่วมเสวนา

พล.อ.อ.ชาญฤทธิ์กล่าวเปิดการเสวนา “ไซเบอร์ในกิจการทหาร ความท้าทายและเตรียมการรับมือในอนาคต” ให้กับนักเรียนเสนาธิการ ทั้ง 3 เหล่าทัพ ตอนหนึ่งว่า โรงเรียนเสนาธิการ 3 เหล่าทัพ ถือเป็นสถาบันหลักในการหล่อหลอมและผลิตนายทหารฝ่ายเสนาธิการ และผู้บังคับบัญชาระดับกลางของกองทัพ ให้มีความรู้ ความสามารถ ในการบริหาร ปกครอง บังคับบัญชา และการเสวนาในวันนี้ทำให้เข้าใจถึงแนวโน้มและอุปสรรคของการปฏิบัติงานทหาร ในยุคสังคมที่เปลี่ยนแปลง

ด้าน พล.ต.ฤทธีกล่าวว่า ปัจจุบันนี้งานด้านความมั่นคงมีนอกเหนือจากภาคพื้นดิน อากาศ และน่านน้ำ แต่ยังหมายรวมถึงพื้นที่ไซเบอร์ (CYBER) ซึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา แบ่งลักษณะภัยคุกคามไซเบอร์เป็น 5 ระดับ โดยกองทัพไทยก็ใช้มาตรฐานเดียวกัน คือ 1.การโจมตีระดับชาติ เป็นสงครามไซเบอร์ 2.การก่อการร้าย เป็นการใช้ไซเบอร์โจมตีเป้าหมายส่งผลต่อความมั่นคง 3.อาชญากรรม เป็นการเจาะข้อมูล เช่น มัลแวร์ 4.แฮกเกอร์อุดมการณ์ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ เข้าถึงระบบและข้อมูลในการโจมตี และ 5.แฮกเกอร์ทั่วไป ไม่มีอุดมการณ์ ดำเนินการตามกระแส และการชักชวน อย่างไรก็ตามประเทศไทยพบกลุ่มนี้มากที่สุด ที่เรียกว่า สคิป คิดดี้ คือแฮกเกอร์มือสมัครเล่น ในการปั่นป่วนระบบ

น.อ.อมรกล่าวว่า สำหรับสงครามภาคพื้น เราสามารถรู้ตัวผู้ก่อเหตุ แต่ในสงครามไซเบอร์นั้น เราจะไม่ทราบตัวผู้กระทำอย่างชัดเจน และไม่รู้แหล่งที่มาของการถูกโจมตี ซึ่งสิ่งที่ทำได้ขณะนี้คือการเตรียมการตั้งรับ ครบถ้วนให้รอบด้าน ประเมินโอกาส และความเสี่ยง ของการเกิดภัยคุกคามในทุกรูปแบบ จึงถือเป็นเรื่องที่ท้าทายของงานความมั่นคง ขณะเดียวกันเกาหลีเหนือเคยใช้ไทยเป็นฐานในการโจมตีสหรัฐอเมริกาโดยใช้วิธีการซ่อนตัวผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก และทำให้เกิดการเข้าใจผิด และกว่าจะรู้ตัวก็เข้าใจผิดไปแล้ว

น.อ.ปัทพงษ์กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในโลก คือทุกประเทศกำลังเสริมสร้างศักยภาพด้านไซเบอร์ เช่น จีน รัสเซีย โดยเฉพาะเกาหลีเหนือ ที่เริ่มใช้ปฏิบัติการไซเบอร์แล้ว โดยตั้งหน่วยเรียกว่า Unit 180 ทำหน้าที่เป็นสายลับไซเบอร์ และมีหน่วยที่ทำหน้าที่ลาดตระเวนสารสนเทศเพื่อหาเป้าหมาย

หรือแม้แต่อิหร่าน ที่ประกาศตัวว่าจะเป็นผู้นำด้านสงครามไซเบอร์ ทั้งนี้ในไทยมีการปรับโครงสร้าง ตั้งกองไซเบอร์ ที่มียุทธศาสตร์หลัก คือการตั้งรับดูแลระบบให้เกิดความปลอดภัย แต่ก็ต้องแฝงด้วยปฏิบัติการเชิงรุก ทั้งนี้อย่างไรก็ตามกองทัพไทยในฐานะหน่วยความมั่นคง จึงวางยุทธศาสตร์สงครามไซเบอร์ ที่กำหนดให้เหล่าทัพ เพิ่มขีดความสามารถทั้ง 3 ด้าน ทั้งการป้องกัน, พัฒนา, และร่วมกับหน่วยภายใน ใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติการทางทหาร เพื่อผนึกกำลังป้องกันประเทศ ทุกรูปแบบ ทั้งการจารกรรม และการโจมตีทำลายล้างฐานข้อมูล