“วสท.” ต้านวิศวกรจีน เล็งยื่นจม.ขอรัฐทบทวน ออกใบอนุญาตได้ต้องผ่านการประเมินตามกม.

https://www.matichon.co.th/news/

dav

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ที่โรงแรมเอสซีปาร์ค นายธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) พร้อมด้วยนายเอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมการโยธา วสท. และนายพิชญะ จันทรานุวัฒน์ กรรมการและเลขาธิการ วสท. เปิดแถลงข่าวด่วน เรื่อง “ข้อเสนอต่อรัฐบาล กรณีการเร่งรัดดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 กรุงเทพ-นครราชสีมา” ว่า ตามที่มีกระแสข่าวเรื่องรัฐบาลจะเร่งดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ระยะที่ 1 กรุงเทพ-นครราชสีมา ระยะทาง 250 กิโลเมตร (กม.) ที่รัฐบาลไทยจะมอบหมายให้รัฐบาลจีนผ่านบริษัทของจีนที่ได้รับการคัดเลือก ใช้กฎหมายพิเศษในการเร่งดำเนินการ วสท.มีท่าทีและข้อเสนอที่รัฐบาลควรจะพิจารณาในด้านวิศวกรรม โดยจะมีการหารือและยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล ก่อนที่จะมีการประกาศคำสั่งม.44 เพื่อเร่งรัดการดำเนินโครงการไฮสปีดเทรนในช่วงสัปดาห์หน้านี้

“วสท.แสดงจุดยืนโดยการแสดงท่าทีและมีข้อเสนอต่อรัฐบาลในครั้งนี้ ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อคัดค้านการดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงแต่อย่างใด แต่อยากให้คำนึงถึงหลักสำคัญ 3 ประการคือ 1.ความปลอดภัยของประชาชนที่อาจจะเกิดขึ้นช่วงที่มีการก่อสร้างและหลังการก่อสร้าง 2.วิศวกรจีนจะต้องขึ้นทะเบียนหรือต้องผ่านการประเมินคุณสมบัติเป็นภาคีวิศวกรพิเศษจากสภาวิศวกร ตามกฎหมายวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม และ 3.ขอให้มีการถ่ายโอนเทคโนโลยี (เทคโนโลยี ทรานเฟอร์ริ่ง) ระหว่างวิศวกรไทยและจีน อย่างไรก็ตามในขณะนี้ทางวสท.กำลังอยู่ระหว่างการหารืิอร่วมกัน และคาดว่าจะยื่นหนังสืิอนี้ต่อรัฐบาลให้ได้เร็วที่สุด ก่อนที่จะมีการประกาศคำสั่งม.44 การเร่งรัดดำเนินโครงการไฮสปีด โดยเฉพาะในประเด็นการยกเว้นการออกใบอนุญาตให้กับวิศวกรจีน” นายธเนศกล่าว

นายเอนกกล่าวว่า สำหรับข้อเสนอที่รัฐบาลจะต้องพิจารณามีทั้งหมด 4 ด้าน ดังต่อไปนี้ 1.ด้านวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม วสท.เห็นด้วยกับสภาวิศวกรที่ได้เสนอให้นิติบุคคลวิศวกรรมและวิศวกรจีน ที่จะเข้ามาปฏิบัติงานในโครงการนี้ต้องผ่านการจดทะเบียนรับรองการปฏิบัติวิชาชีพวิศวกรรมของสภาวิศวกร ทั้งนี้ในการเข้าทำงานวิศวกรรมควบคุมในประเทศต่างๆ วิศวกรจะต้องเป็นผู้มีความรู้ในด้านกฎหมายก่อสร้าง รวมทั้งมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง การใช้กฎหมายตราพิเศษเพื่อยกเว้นให้วิศวกรจีนเช่นนี้จะสร้างความเหลื่อมล้ำในการทำงานวิศวกรรมของวิศวกรต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิศวกรในภูมิภาคอาเซียน ที่ต้องผ่านการประเมินคุณสมบัติเป็นภาคีวิศวกรพิเศษจากสภาวิศวกรแล้วจำนวนกว่า 180 คน และหากวิศวกรต่างประเทศขาดความเข้าใจในภูมิสัณฐานและระเบียบวิธีการปฏิบัติงานวิชาชีพ จะเสี่ยงต่อความปลอดภัยสาธารณะของประเทศ

นายเอนกกล่าวว่า 2.การดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ รัฐบาลได้ส่งข้อความสื่อสารสำคัญ (คีย์แมสเซจ) เพื่อทำให้เกิดธรรมาภิบาลในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่กับสาธารณะเมื่อเร็ว ๆ นี้ ประกอบไปด้วย 2.1 คณะกรรมการ (ซูเปอร์บอร์ด) เพื่อกำกับดูแลโครงการที่มีมูลค่า 5,000 ล้านบาทขึ้นไปที่จัดตั้งขึ้นเพื่อป้องกันการทุจริตและให้มีการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ 2.2 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานทำสัญญากับรัฐที่มีการควบคุมผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพ ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทั้งบุคคลและนิติบุคล เช่น งานวิศวกรรมการใช้กฎหมายพิเศษเพื่อยกเว้นแนวทางที่สร้างธรรมาภิบาลดังกล่าวข้างต้น อาจทำให้เกิดความสับสน และสร้างความไม่เชื่อมั่นในการเร่งรับดำเนินการโครงการนี้

3.การก่อสร้างโครงการที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง โดยทั่วไปการทำสัญญาโครงการที่มีงานวิศวกรรมหรือเทคโนโลยีขั้นสูง อาจดำเนินการผ่านสัญญาการจัดซื้องานวิศวกรรม (อีพีซี) ซึ่งสอดคล้องกับโครงการนี้ที่จะทำอีพีซีที่สถานีกลางดง นครราชสีมาในระยะทาง 3.5 กิโลเมตร (กม.) โดยใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งหากดำเนินการตามนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ดังนี้คือ 3.1 การทำอีพีซีจะดำเนินการโครงการทั้งหมดในระยะทางสั้นและใช้งบประมาณน้อย ซึ่งจีนเองก็ได้ดำเนินการในลักษณะเช่นนี้เมื่อเริ่มโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 3.2 ในระหว่างการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงโดยทำอีพีซี รัฐบาลควรกำหนดให้มีเทคโนโลยี ทรานเฟอร์ริ่ง ตั้งแต่ในขั้นตอนการคำนวณออกแบบ การกำหนดรายการประกอบแบบวัสดุการก่อสร้าง การติดตั้ง รวมทั้งการซ่อมและบำรุงรักษา เช่น การสร้างระบบรถไฟฟ้าที่เกาหลีใต้เมื่อปี 2525 มีการทำเทคโนโลยี ทรานเฟอร์ริ่งเช่นกัน โดยได้จัดทำเงื่อนไขสำหรับผู้เสนองาน ซึ่งมีเงื่อนไขว่าผู้เสนองานต้องช่วยให้เกาหลีใต้มีรถไฟความเร็ว 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (กม./ชม.) และอนุญาตให้เกาหลีใต้ทำเทคโนโลยี ทรานเฟอร์ริ่งให้ประเทศที่ 3 ได้ รวมทั้งอนุญาตให้โครงการก่อสร้างใช้ชิ้นส่วน และวัสดุภายในประเทศได้

และ 4.ข้อเท็จจริงของรถไฟฟ้าความเร็วสูงและโครงสร้างสาธารณูปโภค โดยวสท.มีความเห็นดังต่อไปนี้ 4.1 รถไฟความเร็วสูงเป็นคู่แข่งขันกับสายการบินภายในประเทศ แม้ว่าการขนส่งระบบรางสามารถให้บริการได้ทันที ไม่ต้องมารอเช็คอินล่วงหน้าเหมือนเครื่องบิน แต่จะต้องพิจารณาเรื่องค่าโดยสารเป็นสำคัญ เพราะในปัจจุบันค่าโดยสารเครื่องบินต้นทุนต่ำมีราคาค่าตั๋วถูกมาก บินไกลสุดในประเทศไม่เกิน 1 ชั่วโมง 20 นาที และใช้ระยะเวลาเดินทางรวมรอการเดินทางโดยเครื่องบินจะไม่เกิน 4 ชั่วโมง ดังนั้นจึงมองว่าระยะเวลาเดินทางของรถไฟความเร็วสูงในระยะทางไกล อาจแข่งขันกับสายการบินต้นทุนต่ำไม่ได้ เนื่องจากค่าตั๋วโดยสารรถไฟความเร็วสูงมีราคาแพงสำหรับผู้ใช้บริการทั่วไป 4.2 รัฐบาลควรพิจารณาการสร้างเมืองรองหรือเมืองบริวาร โดยไม่จำเป็นต้องกำหนดเส้นทางที่ไกลมาก เพื่อให้เมืองบริวารที่สามารถเดินทางได้ภายใน 2 ชั่วโมงเป็นเมืองเศรษฐกิจใหม่ 4.3 รัฐบาลควรพิจารณาการพัฒนาเมืองและอสังหาริมทรัพย์ในเมืองบริวารที่ยังมีราคาไม่แพง เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงในราคาไม่สูงมาก เช่น พิษณุโลก ชุมพร 4.4 การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไปยังเมืองบริวารจะเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางของประชาชน จากรถโดยสารเป็นรถไฟและกระจายผู้โดยสาร ณ เมืองบริวารด้วยรถประจำทางปกติ และ 4.5 ไทยเป็นผู้ส่งออกโครงสร้างสาธารณูปโภค ทั้งงานระบบวิศวกรรมโยธา ระบบโครงสร้าง งานระบบวิศวกรรมอาคาร รวมทั้งงานวิศวกรรมที่ปรึกษาและควบคุมงาน ไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น อินเดีย บังคลาเทศ ไต้หวัน