‘ทรัมป์’ฉีกข้อตกลงแก้โลกร้อนกรุงปารีส อ้างทำมะกันเสียโอกาส-อธิปไตย

https://www.matichon.co.th/news/

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐประกาศถอนตัวจากความตกลงปารีสว่าด้วยการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ตามเวลาในสหรัฐ โดยทรัมป์ระบุว่าความตกลงดังกล่าวเป็นสิ่งโหดร้ายและสร้างภาระทั้งทางการเงินและเศรษฐกิจ ขณะที่การถอนตัวจากความตกลงฉบับนี้เป็นการยืนยันถึงการได้รับอธิปไตยของสหรัฐกลับคืนมาอีกครั้ง

ทรัมป์กล่าวด้วยว่าสหรัฐจะเริ่มต้นการเจรจาเพื่อกลับเข้าสู่ความตกลงกรุงปารีสอีกครั้งหนึ่ง หรือไม่ก็จะเจรจาเพื่อให้มีความตกลงฉบับใหม่บนพื้นฐานของความยุติธรรมต่อสหรัฐ ทั้งในแง่ของความยุติธรรมต่อธุรกิจ แรงงาน ประชาชน รวมถึงผู้จ่ายภาษี

ทรัมป์ระบุด้วยว่าสหรัฐจะยุติการจ่ายเงินเพื่อสมทบในกองทุนว่าด้วยสภาพอากาศสีเขียวของสหประชาชาติ ซึ่งประเทศที่ร่ำรวยสัญญาที่จะจ่ายเงินหลายล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาต่อสู้กับภัยธรรมชาติ อาทิ น้ำท่วม ภัยแล้ง รวมถึงผลกระทบด้านอื่นๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก

ทั้งนี้สหรัฐเป็นหนึ่งใน 195 ประเทศที่ได้ร่วมลงนามในความตกลงกรุงปารีสเมื่อเดือนธันวาคมปี 2558 แต่ทรัมป์กล่าวว่าความตกลงดังกล่าวบ่อนทำลายเศรษฐกิจของสหรัฐ ส่งผลให้แรงงานสหรัฐไร้กำลัง และทำให้สหรัฐสูญเสียอธิปไตยเหนือตนเอง ซ้ำยังสร้างความเสี่ยงทางกฏหมายที่รับไม่ได้ และทำให้สหรัฐเสียเปรียบประเทศต่างๆ ในโลกอย่างถาวร

ทรัมป์อ้างว่าภายใต้ความตกลงกรุงปารีสจะทำให้จีดีพีของสหรัฐลดลงมากถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐและสูญเสียการจ้างงานถึง 6.5 ล้านตำแหน่ง ขณะที่คู่แข่งสำคัญทางเศรษฐกิจอย่างจีนและอินเดียกลับได้ประโยชน์มากกว่าจากความตกลงดังกล่าว

“เราจะไม่ปล่อยให้ผู้นำและประเทศอื่นๆ หัวเราะเยาะสหรัฐอีกต่อไป พวกเขาจะทำอย่างนั้นไม่ได้อีกแล้ว”ทรัมป์กล่าว และว่าตนได้รับเลือกเพื่อเป็นตัวแทนของพลเมืองในพิตต์สเบิร์กไม่ใช่ปารีส พร้อมกับระบุด้วยว่าสหรัฐจะทบทวนและเปิดการเจรจาความตกลงทางการค้าต่างๆ ใหม่อีกครั้งในเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ทรัมป์ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนถึงกรอบเวลาของการถอนตัวออกจากความตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับนี้ แต่แหล่งข่าวจากทำเนียบขาวเผยว่ากระบวนการเพื่อการถอนตัวดังกล่าวน่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 4 ปี

ด้านนักวิเคราะห์มองว่าการถอนตัวจากความตกลงของสหรัฐจะส่งผลให้โลกบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ยากขึ้น เนื่องจากสหรัฐปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 15% ของโลก และยังเป็นผู้ให้การสนับสนุนสำคัญทั้งด้านการเงินรวมถึงเทคโนโลยีต่อประเทศกำลังพัฒนาในการต่อสู้กับปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกด้วย