https://www.matichon.co.th/
สัมพันธ์ ‘ไทย-จีน’ ในมุมมอง ท่านทูต ‘พิริยะ เข็มพล’
หมายเหตุ : “มติชน” นายพิริยะ เข็มพล เอกอัครราชทูตไทยประจำจีน ให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมความสัมพันธ์ไทย-จีนในปัจจุบัน รวมถึงสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ที่โลกกำลังจับตา ว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อไทย
ภาพรวมความสัมพันธ์ไทยจีนขณะนี้ดีมากและดีขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ระดับราชวงศ์ ซึ่งพระบรมวงศานุวงค์ของไทยทุกพระองค์ทรงมีบทบาทสำคัญในการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างไทย-จีน ที่สำคัญในปีนี้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ได้ทูลเกล้าถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ รัฐมิตราภรณ์ แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยพระองค์ทรงเป็นเพียงคนเดียวจากประเทศในทวีปเอเชียที่ได้รับทูลเกล้าถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดังกล่าว ซึ่งในปีนี้จีนได้มอบให้กับชาวต่างชาติเพียง 6 คนเท่านั้น
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเสด็จเยือนจีนมาแล้วถึง 48 ครั้ง ซึ่งไม่มีราชวงศ์ของประเทศใดที่ทำเช่นนี้ ประชาชนจีนทั่วไปรู้จักและชื่นชมพระองค์ เพราะทรงสนใจในจีนอย่างลึกซึ้ง ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2552 ประชาชนชาวจีนได้โหวตทางอินเตอร์เน็ตให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้รับรางวัล”มิตรต่างชาติที่ดีที่สุด” ของจีนมาแล้ว
ในด้านรัฐบาลต่อรัฐบาล นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนกำลังจะเดินทางไปเยือนประเทศไทยซึ่งเป็นประธานอาเซียนในปลายปีนี้ จีนให้ความร่วมมือและสนับสนุนไทยในทุกเรื่องที่เป็นท่าทีของไทยในทางการเมือง เราไม่มีปัญหาต่อกันและความรู้สึกฉันญาติมิตรก็ยังคงอยู่
กรณีเหตุเรือล่มที่จังหวัดภูเก็ตที่สุดแล้วก็จบลงด้วยดี มีการประนีประนอมกันไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลายและกลับไปสู่สถานการณ์ปกติ ซึ่งฝ่ายไทยเองก็ต้องแก้ไขปัญหาและดูแลนักท่องเที่ยวให้ดีเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้ต่อไปในอนาคต
ในระดับประชาชนต่อประชาชน นักท่องเที่ยวจีนก็ยังเดินทางไปไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้การเพิ่มขึ้นจะลดลงแต่ก็ยังเพิ่มขึ้น นับจนถึงขณะนี้ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางไปยังประเทศไทยในปีนี้อยู่ที่ 10 ล้านคนแล้ว จากที่มีการตั้งเป้าไว้ที่ 11 ล้านคน ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่าสถานการณ์กลับสู่สภาพปกติ เพราะนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นตามสมควร ถึงแม้เปอร์เซ็นต์จะไม่หวือหวา และจีนยังไม่เคยใช้เรื่องท่องเที่ยวเป็นประเด็นในการบีบคั้นไทยเช่นประเทศอื่นๆ
ความนิยมไทยยังคงมีอยู่เช่นเดิม โดยล่าสุดกระทรวงวัฒนธรรมของสองประเทศได้นำเอาศิลปะโบราณจากสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ไปจัดแสดงที่ไทยอีกด้วย ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นตัวชี้วัดว่าความสัมพันธ์ไทย-จีนมีความแน่นแฟ้นและพิเศษต่อกัน
ในด้านการค้าการลงทุนตัวเลขการค้าสองฝ่ายขณะนี้อยู่ที่ 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยขาดดุลการค้าจากจีนเพียงไม่มาก หลังจากท่านรองนายกรัฐมนตรีสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้เดินทางมาประชุมร่วมกับฝ่ายจีนเมื่อปีที่แล้ว ได้ตั้งเป้าจะผลักดันการค้าระหว่างกันให้ทะลุ 140,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในอีก 3 ปีข้างหน้า
คิดว่าเป้าหมายดังกล่าวสามารถทำได้ เนื่องจากขณะนี้จีนได้มีการสร้างความเชื่อมโยงกับทางตอนใต้ของประเทศ มีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ความร่วมมือหลายกรอบในแม่น้ำโขง ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง(แอคเมคส์) และยังมีโครงการ Greater Bay Area หรือจีบีเอ ที่เป็นแผนพัฒนาของจีนให้ฮ่องกง-มาเก๊า-กวางตุ้ง เป็นศูนย์กลางทางการเงินแห่งใหม่ รวมถึงการค้าชายแดนไทย-จีน ผ่านลาวและเวียดนาม ซึ่งถือเป็นเส้นทางการค้าที่หนาแน่น สามารถเป็นสามเหลี่ยมเศรษฐกิจที่จะขยายปริมาณการขายได้มากขึ้น และยังจะทำให้เกิดการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในโครงการการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) ที่ถือเป็นเมกะโปรเจคของไทยซึ่งขึ้นมารองรับกระแสนี้ได้อย่างรวดเร็ว ไม่เช่นนั้นจะไม่มีความเชื่อมโยงกับจีนที่กำลังลงมาทางใต้ ประดุจดั่งน้ำกำลังไหลลงมา ถ้าเราไม่มีอะไรรองรับน้ำกักเก็บไว้เราก็จะไม่ได้ประโยชน์
อีอีซีจึงเป็นเสมือนเขื่อนกักน้ำซึ่งไม่มีในประเทศอื่น นอกจากนี้อีอีซียังเป็นโครงการที่ถือเป็นข้อริเริ่มของไทยเองเราจึงสามารถเชิญนักธุรกิจมาลงทุนได้จากทุกชาติซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญ เพราะความหลากหลายนี้จะนำไปสู่จุดที่เมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวยให้จีนจับมือกับญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้มาลงทุนในประเทศที่สาม ซึ่งถือเป็นความร่วมมือมิติใหม่และเป็นแนวโน้มของการลงทุนในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยให้การค้าไทยจีนรวมถึงการค้าในภูมิภาคขยายตัวได้มากขึ้น และเป็นไปตามเป้าที่เราตั้งไว้ได้
เมื่อการเจรจา ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซป ประสบความสำเร็จ จะทำให้กลายเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งจะเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาคให้มากขึ้น ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่าทิศทางที่เรากำลังทำมาเป็นเรื่องที่ถูกต้องและจะต้องมีการขยายวงออกไปเรื่อยๆ เป็นเขื่อนเพื่อรองรับน้ำที่ไหลลงมาจากจีนให้ได้มากที่สุด
เมืองต่างๆในประเทศจีนมีการพัฒนาตัวเองให้มีความแข็งแกร่งในแง่มุมที่หลากหลายและเป็นเลิศเฉพาะทาง เราต้องแสวงหาข้อมูลว่าเราจะไปเอาอะไรจากที่ไหน ด้านประเทศไทยเองก็มีความเป็นเลิศในหลายเรื่องและเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตของจีน เราน่าจะสามารถดึงสตาร์ทอัพของจีนไปลงทุนในอีอีซีได้เช่นกัน
ขณะนี้จีนยังมีความริเริ่มทางเศรษฐกิจใหม่ที่ใหญ่กว่าจีบีเอที่เพิ่งประกาศเมื่อปีที่ผ่านมานั่นคือ New Land and Sea Economic and Trade Corridor ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมโยงมณฑลทางตอนใต้ของประเทศจีนที่ไม่มีทางออกทางทะเล ที่จีนได้สร้างรถไฟเชื่อมโยงตอนกลางของประเทศไปยังยุโรปผ่านคาซัคสถานไปเยอรมนีแล้ว ก็จะมีการเชื่อมโยงมายังหนานหนิง ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อทางการค้าระหว่างจีนกับอาเซียน ทำให้กลายเป็นระเบียงเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งได้มีการอนุมัติเป็นแผนระดับชาติแล้ว
ปัจจุบันจีนได้สำเร็จนโยบายสร้างความเชื่อมโยงและร้อยเรียงภูมิภาคต่างๆ เข้ากับหลายประเทศ เช่นเดียวกับไทยที่เชื่อในนโยบายของการสร้างความเชื่อมโยงว่าจะทำให้เรามีโอกาสในการขยายการค้าการลงทุนได้อีกมาก
มองเรื่องการยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจีนอย่างไร
เราคิดเรื่องนี้เพราะอยากเพิ่มตัวเลขนักท่องเที่ยว แต่การที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวลดลงที่จริงแล้วมาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเชื่อมั่นของคนจีนต่อเรื่องเศรษฐกิจที่อาจทำให้รู้สึกว่าต้องประหยัดเงินทองและเที่ยวน้อยลง ขณะเดียวกันเราต้องหาทางดึงลูกค้ากลุ่มใหม่ให้ไปเที่ยวไทยให้มากขึ้น
การกระตุ้นตลาดโดยการยกเว้นวีซ่าต้องคิดว่าที่จริงแล้วนักท่องเที่ยวจีนได้ประโยชน์หรือไม่ สำหรับบริษัททัวร์มันเป็นการลดต้นทุนให้เขา แต่ถามว่าตกถึงลูกค้าหรือไม่ก็ต้องตอบว่าไม่เสมอไป เพราะเขาถือว่าเขาซื้อแพคเกจซึ่งมันถูกอยู่แล้ว บริษัทที่ทราบเรื่องก็คงไม่ลดราคาเพิ่ม ที่สุดดูจะเป็นการช่วยเหลือบริษัททัวร์มากกว่า
นอกเหนือจากตัวเลขนักท่องเที่ยวแล้วในอีกด้านหนึ่งเราต้องคำนึงถึงคุณภาพและการลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยให้นักท่องเที่ยวมีความสะดวกดีขึ้น เพราะการรักษาคุณภาพจะทำให้การท่องเที่ยวไทยยั่งยืน คนจะรู้สึกอยากกลับมาอีกเพราะมีความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย เราต้องทำให้ชื่อของประเทศไทยติดตลาดไม่ใช่เป็นเพียงแค่เป็นประเทศที่น่าเที่ยว แต่เป็นประเทศที่ปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวด้วย
มองผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯอย่างไร
สงครามการค้าเป็นเรื่องที่อาจจะส่งผลกระทบกับห่วงโซ่อุปทานของจีนในระยะยาว และอาจทำให้ต้องมีการย้ายฐานผลิตมายังไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชา แต่ไทยมีจุดเด่นคือมีเขื่อนรองรับ ดังนั้นเราต้องทำสิ่งนี้ให้ดี มีความมั่นคง ความน่าสนใจ และมีกฎหมายรองรับ ซึ่งรัฐบาลก็กำลังดำเนินการอยู่ เพราะขณะนี้ทุกประเทศก็พยายามสร้างความดึงดูดการค้าการลงทุนในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการภาษี มาตรการจูงใจ และเราต้องฉีกตัวไปสู่เศรษฐกิจที่มีเทคโนโลยีเป็นฐาน เพราะขณะนี้จีนก้าวไปไกลแล้ว เราต้องเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของเขา ซึ่งเป็นอนาคตของไทยที่ต้องมีกับจีนต่อไปอย่างยาวนาน เพราะเรามีพื้นฐานสำคัญของความไว้วางใจ เชื่อใจ และความสัมพันธ์ที่ดีที่ไม่มีประเทศใดมีเหมือนเรา เราต้องผลักดันในเรื่องความเชื่อมโยงซึ่งจะเป็นหัวใจของความสัมพันธ์ไทยจีนต่อไปในอนาคต
ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางของจีนยังสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ขณะที่จีบีเอของจีนซึ่งทำมาเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาฮ่องกงเพื่อให้เชื่อมต่อเป็นจุดเดียวกัน ประเทศไทยเองก็พูดถึงความเชื่อมโยงทั้งในกรอบอีอีซีของไทยเข้ากับจีน กรอบอนุภูมิภาคคือเชื่อมแอคเมคส์กับจีบีเอ และกรอบใหญ่คืออาร์เซป ทั้งหมดนี้จะทำให้เห็นว่านี่คืออนาคต เพราะไม่มีภูมิภาคไหนที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเท่ากับภูมิภาคนี้ ซึ่งในวันนี้จีนเป็นผู้มีความโดดเด่นมากที่สุด จะอย่างไรจีนก็ก็ต้องหันกลับมาในภูมิภาค
ดูเหมือนขณะนี้ตะวันตกมองจีนเป็นภัยคุกคาม
ทั้งหมดนี้มีแง่มุมของสิ่งที่เราเรียกว่าเป็น “อิทธิพลทางการเมือง” เพราะความเป็นพี่ใหญ่ของจีนก็ท้าทายคนที่เป็นพี่ใหญ่อยู่เดิมซึ่งต้องทำอะไรบางอย่าง ถ้าเราใส่แว่นการเมืองเราก็บอกว่าเป็นการขยายอิทธิพลและอำนาจ แต่ถ้าเราใส่แว่นเศรษฐกิจ เมื่อจีนร่ำรวยเขาก็มีพลังทางเศรษฐกิจในการซื้อสินค้าและส่งเสริมการลงทุน รวมถึงความร่วมมือทางเทคโนโลยีต่างๆ ได้ แล้วทำไมเราถึงไม่ร่วมมือกับเขา เพราะเราก็อยากพัฒนาเช่นกัน