เลขาฯศาลระบุขั้นตอนสืบพยานฟื้นคดี’ครูแพะ’ชี้เกิดได้น้อยมาก พิสูจน์ไม่ผิดต้องเยียวยา พยาน-จนท.รัฐส่ออ่วม

http://www.matichon.co.th/news

นายอธิคม อินทุภูติ2

เมื่อวันที่ 15 มกราคม นายอธิคม อินทุภูติ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีการรื้อฟื้นคดีอาญาของนางจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร อายุ 54 ปี อดีตข้าราชการครูโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.สกลนคร ภายหลังถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 3 ปี 2 เดือน ในคดีขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ชีวิต เหตุเกิดเมื่อปี 2548 ว่าขณะนี้ทราบมาว่าศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้มีคำสั่งให้มีการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นมาใหม่ โดยศาลจังหวัดนครพนมซึ่งเป็นศาลชั้นต้นนัดสอบคำให้การคดีในวันที่ 16 มกราคม 2560 โดยขั้นตอนหลังจากนี้จะเป็นไปตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ คือเมื่อศาลรับคำร้องเเล้ว ให้ศาลเเจ้งวันนัดสืบพยาน นางจอมทรัพย์ ผู้ร้องไปให้พนักงานอัยการเเละโจทก์ในคดีเดิมที่มีการขอรื้อฟื้นคดีทราบ โดยอัยการเเละโจทก์มีสิทธิยื่นคำคัดค้านได้ก่อนวันนัดสืบพยาน หลังจากนั้น เเละเมื่อมีการนัดพร้อมตรวจพยานหลักฐานเเล้วศาลจะให้มีการสืบพยานฝ่ายนางจอมทรัพย์จำเลยซึ่งเป็นผู้ร้องขอรื้อฟื้นคดีก่อนที่จะมีการสืยพยานฝ่ายอัยการเเละโจทก์ ส่วนของคดีนี้ซึ่งเป็นคดีที่ศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาเด็ดขาดมาเเล้วหากมีการสืบพยานคู่ความทั้งสองเสร็จสิ้น ศาลจังหวัดนครพนมซึ่งเป็นศาลชั้นต้นจะต้องส่งสำนวนบันทึกการพิจารณาสืบพยานคดีในศาลไปให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณามีคำพิพากษาชี้ขาดต่อไป

นายอธิคมยังกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาการรื้อฟื้นคดีถือว่าสามารถเกิดขึ้นได้ยากมาก เพราะข้อกำหนดในการรื้อฟื้นคดีจะคล้ายกับคดีในศาลฎีกาฯนักการเมืองที่ต้องมีพยานหลักฐานใหม่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเเละพยานหลักฐานใหม่นั้นมีผลที่จะเปลี่ยนเเปลงคดี หรือพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ ซึ่งในทางปฏิบัติโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก ที่ผ่านมาเห็นเพียงคดีหรือสองคดีเท่านั้น ที่ศาลมีคำสั่งให้รื้อฟื้นคดีจนกลับคำพิพากษาเด็ดขาดของเดิมได้เพราะ หากพิสูจน์เเล้วว่าจำเลยคดีนี้ไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดก็จะมีผลตามมาหลายอย่าง เช่น พยานที่สืบไปในตอนเเรกจนทำให้จำเลยต้องโทษคำพิพากษาจะมีความผิดอย่างไรบ้าง ในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐ จำเลยซึ่งเป็นผู้เสียหายก็สามารถดำเนินคดีเอาผิดในส่วนนี้ได้เช่นกัน

เมื่อถามว่าในกรณีที่หากจำเลยโดนเรียกค่าเสียหายทางเเพ่งไปเเล้ว เมื่อคดีอาญารื้อฟื้นขึ้นมาใหม่จะสามารถรื้อฟื้นในส่วนเเพ่งได้ด้วยหรือไม่ นายอธิคมกล่าวว่า หากเมื่อรื้อฟื้นคดีเเล้วศาลฎีกาพิพากษาว่าจำเลยไม่มีความผิดก็สามารถรื้อฟื้นคดีได้ เพราะเมื่อไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดอาญาจึงไม่จำเป็นต้องรับผิดทางละเมิด

“ที่ผ่านมาผมเคยเห็นเพียงครั้งหรือสองครั้งเท่านั้น เฉพาะเเค่การเข้าเงื่อนไขตาม พ.ร.บ.รื้อฟื้นคดีก็ยากมากเเล้ว นี่ก็มีการประสานว่าจะขอคำพิพากษาศาลฎีกาคดีนี้มาอ่านดู ส่วนถ้ารื้อฟื้นสำเร็จ จำเลยก็ต้องได้รับการเยียวยา ซึ่งสมัยนี้จะเทียบเท่าการติดคุกเเทนค่าปรับคือวันละ 500 บาทเเละตามขั้นตอนก็สามารถใช้สิทธิดำเนินคดีตามกฎหมายได้อีก” นายอธิคมกล่าว