เด็กไทยยอดเยี่ยม คว้าที่1โครงงานวิทย์ เอเปค “โปรแกรมแปลภาษาและปริ้นเตอร์อักษรเบลล์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต”

http://www.matichon.co.th/news

1893446394_61a35103_hhhh1IMG_4125

 

วันที่ 14 มกราคม นางกรรณิการ์ วงศ์ทองศิริ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เปิดเผยว่า อพวช. ได้ร่วมกับ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำตัวแทนเยาวชนไทยร่วมเวทีการประชุมนักวิทยาศาสตร์แห่งอนาคตของกลุ่มประเทศเอเปค ครั้งที่ 6 ประจำปี 2560 (6th APEC Future Scientist Conference 2017) เมื่อระหว่างวันที่ 7 – 14 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าวได้มีการจัดกิจกรรมประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ของเยาวชนที่มาร่วมการประชุมครั้งนี้ ซึ่งมีจำนวน 10 ประเทศที่ร่วมส่งผลงานเข้าประกวด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา และไทย ผลปรากฏว่า เยาวชนไทยสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ จากโครงงาน เรียนรู้เกี่ยวกับอเมซอน “โปรแกรมแปลภาษาและปริ้นเตอร์อักษรเบลล์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต” ซึ่งเป็นผลงานของนายณลงกรณ์ บุญเจริญ นายคัคเนศ สุทธิรัตน์ และนายณวรุตม์ ไพรรุ่งเรือง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย เพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี โดยมี นายภาณุพงศ์ เยี่ยมยงวรรณ เป็นผู้ควบคุมทีม

“ถือเป็นการสร้างชื่อให้กับประเทศไทยในเวทีนานาชาติอีกครั้ง ที่เยาวชนไทยสามารถนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาสร้างสรรค์ผลงานเพื่อช่วยเหลือ อำนวยความสะดวก และเพิ่มโอกาสในสังคมให้กับผู้พิการทาง สายตา จนคว้ารางวัลชนะเลิศในเวทีนี้มาได้ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเวทีใหญ่ทางด้านวิทยาศาสตร์ที่กลุ่มประเทศเอเปคให้ความสำคัญ เพื่อปั้นนักวิทยาศาสตร์ในอนาคตให้กับภูมิภาค” นางกรรณิการ์ฯ กล่าว

นายณลงกรณ์ ตัวแทนทีมเยาวชนไทยที่คว้ารางวัลในครั้งนี้ กล่าวว่า ภูมิใจตั้งแต่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมฯ ดังกล่าว เพราะเป็นเวทีระดับนานาชาติที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งโครงงานที่ นำมาเข้าประกวด เกิดขึ้นจากการมองเห็นปัญหาต่าง ๆ ของการพิมพ์อักษรเบลล์ ด้วยปกติตนและเพื่อน ๆ จะส่งเอกสารอักษรเบลล์ ให้กับโรงเรียนผู้พิการทางสายตาเป็นประจำ จึงลองคิดหาวิธีการแก้ไขจนเป็นที่มาของโครงงานนี้ ที่สามารถพิมพ์เอกสารสำหรับผู้พิการทางสายตาได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้อย่างแม่นยำ และ สามารถเข้าใช้งานได้ในทุกอุปกรณ์ เมื่อแปลเป็นภาษาอักษรเบลล์แล้ว ยังสามารถบันทึกและสั่งพิมพ์ได้ทันทีรวมทั้ง สามารถใช้งานพร้อมกันได้หลายอุปกรณ์ โดยการเชื่อมต่อที่เรียกว่า อินเตอร์เน็ตออฟติง หลังจากนี้ จะพัฒนาต่อยอดโครงงานชิ้นนี้ให้สามารถแปลบทความทางวิชาการที่เป็นอักขระพิเศษได้ เช่น สูตรเคมี และคณิตศาสตร์ เป็นต้น