https://www.bangkokbiznews.com/news/
นักธุรกิจจีนกวางตุ้งเยือนไทย เล็งลงทุนในอีอีซี
นักธุรกิจไทย-จีน ร่วมเวทีสัมมนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการ หวังขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน ด้าน”สมคิด”มั่นใจ ไทยเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่ออาเซียนจีน
รัฐบาลมณฑลกวางตุ้ง ร่วมกับ หอการค้าไทย-จีน สมาคมนักธุรกิจยุคใหม่ไทย-จีน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชน์ บีโอไอ จัดงานสัมมนาความร่วมมือเศรษฐกิจการค้าจีน (กวางตุ้ง) – ไทย เนื่องในโอกาสที่นายหลี่ ซี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลกวางตุ้ง พร้อมด้วยคณะนักธุรกิจกวางตุ้ง กว่า 100 ราย โดยมีนักธุรกิจ ผู้ประกอบการระดับ SMEs และ Start up เข้าร่วมงานฯ ภายในงานฯ ประกอบไปด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ การเสวนาเชิงธุรกิจ และกิจกรรมสร้างเครือข่ายธุรกิจและขยายโอกาสทางการค้า (Business Matching/ Networking)
นายหลี่ ซี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน กล่าวปาฐถาพิเศษในพิธีเปิดงานกิจกรรมสร้างเครือข่าวธุรกิจและขยายโอกาสทางการค้าระหว่างไทย-กวางตุ้ง ในโอกาสที่นำคณะนักธุรกิจกวางตุ้งกว่า 100 รายมาเยือนประเทศไทย ที่รร.ดิแอทธินี โฮเทล แบงค๊อก ว่า ไทยกับจีนเป็นมิตรประเทศและมีความร่วมมือย่างใกล้ชิดมาตลอด 44 ปี ซึ่งการเยือนครั้งนี้เป็นความต่อเนื่องหลังจากที่พล.อ.ประยุทธิ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเข้าพบนายสี เจิ้น ผิง ประธานาธิบดีจีนเมื่อต้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งได้บรรลุข้อตกลงหลายด้าน และการเยือนครั้งนี้ก็เป็นช่วงที่น่ายินดีที่ครั้งนี้พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับเลือกเป็นนายกฯอีกครั้งและเชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนไปอีกขั้นหนึ่ง
ทั้งนี้มณฑลกวางตุ้งถือเป็นมณฑลใหญ่ของจีนมีมูลค่าจีดีพีสูงถึง 9.73 ล้านหยวนและจะเพิ่มเป็น 10 ล้านล้านหยวนในปีนี้ โดยกวางตุ้งเป็นหน้าต่างเปิดโลกของจีน เพื่อให้ประเทศทั่วโลกเข้ามาสร้างความสัมพันธ์ในทุกด้าน และกวางตุ้งได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการผลักดัน 1+1 เป็น 9 โดยเป็นการเปิดประเทศผ่านการปฏิรูป ซึ่งจะผ่านงานสำคัญ 9 ประการ อาทิ การพัฒนากวางตุ้ง โดยการพัฒนาอ่าวกวางตุ้ง ฮ่องกงและมาเก๊า การผลักดันนวัตกรรมใหม่ๆ.พัฒนาคุณภาพที่ดี สร้างมณฑลให้เข้มแข็งทั้งภาคสังคมและการค้า เป็นต้น ซึ่งการนำนักธุรกิจจีนมาไทยในครั้งมีเป้าประสงค์เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ การค้าและการลงทุน โดยไทยกับกวางตุ้งมีขนาดการค้าระหว่างกัน 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์หรือสัดส่วน 1ใน4 ของการค้ารวมระหว่างไทย-จีน และไทย-จีน ยังมีการสอดคล้องกันในเรื่องการส่งเสริมการลงทุนโดยไทยมีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และโครงการอีอีซี ขณะที่กวางตุ้งต้องการเป็นหน้าต่างสู่โลกผ่าน 1 แถบ 1เส้นทาง
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีข้อเสนอด้านการค้าและการลงทุนของจีนเป็นข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม สะท้อนถึงความจริงใจที่จะผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างกัน การนำคณะของนายลี ซี ในครั้งนี้ถือว่าเหมาะสมและตรงกับสถานการณ์ของไทย ที่ไทยมีนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลใหม่ แต่เป็นนายกฯคนเดิม ซึ่งเชื่อว่าจะมีความต่อเนื่องในด้านนโยบาย ประกอบกับปีนี้เป็นประธานในการประชุมอาเซียนซัมมิท ซึ่งไทยจะสามารถเชื่อมโยงบทบาทของจีนตอนใต้กับอาเซียนได้ ผ่านไทยที่เป็นศูนย์กลางของอาเซียน
นายสมคิด กล่าวว่า ไทยและจีนมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นทั้งเชิงการทูตและทางสายเลือดที่ผูกพันกัน ที่แยกออกกันไม่ได้ จึงเชื่อว่าความร่วมมือกันทุกมิติทั้งการค้า การลงทุน จะทำให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของไทยและของอาเซียน โดยเฉพาะมณฑลกวางตุ้งถือเป็นท้องมังกรที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากร มีความเจริญด้านเทคโนโลยี มีผู้ประกอบการรุ่นใหม่ จึงไม่แปลกที่กวางตุ้งจะมีจีดีพีเติบโตต่อเนื่องกว่า 30 ปี
นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี ประธานหอการค้าไทย-จีน กล่าวว่า การพบปะระหว่างนักธุรกิจไทย-กวางตุ้งในครั้งนี้จะมีความคืบหน้าทั้งความร่วมมือด้านอุตสาหกรมและภาคการเกษตร ซึ่ง 2 ฝ่ายมีความสนใจร่วมลงทุนทั้งในโครงการอีอีซีและเข้าลงทุนในจีน ซึ่งประเมินว่า ความร่วมมือที่เกิดขึ้นนครั้งนี้จะมีวงเงินต่อการลงทุนกว่าแสนล้านบาท ทั้งนี้ธุรกิจที่ได้รับความสนใจคือ ยานยนตร์ ภาคเกษตร การประมง
ทั้งนี้การจัดงานดังกล่าวนอกจากจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐและเอกชนไทย-จีนแล้ว ยังเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันการขยายมูลค่าการค้าระหว่างไทยและจีน ให้บรรลุเป้าหมาย 1.4 แสนล้านดอลลาร์ ภายในปี 2564
มณฑลกวางตุ้ง ถือเป็นมณฑลที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง กล่าวคือ มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ มีการนำเข้าสูง ประชากรมีจำนวนมากและมีรายได้ต่อหัวเข้าใกล้ระดับประเทศที่มีรายได้สูง ในปี 2561 ไทยและกวางตุ้งมีมูลค่าการค้า 23,980 ล้านดอลล่าร์ แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออกจากไทยไปกวางตุ้ง 14,200 ล้านดอลลาร์ และมูลค่าการนำเข้าของไทยจากกวางตุ้ง 9,780 ล้านดอลลาร์ สินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปกวางตุ้ง อาทิ เครื่องจักร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก ผลไม้ น้ำมันและแร่เชื้อเพลิง เป็นต้น ส่วนสินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากกวางตุ้ง อาทิ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ประมวลผลอัตโนมัติ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น ปัจจุบัน ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 7 ของมณฑลกวางตุ้ง ถึงแม้ว่าจะยังมีการนำเข้าจากไทยไม่มากนัก แต่ก็เป็นโอกาสในการสร้างความร่วมมือด้านการลงทุนเพื่อการส่งออกไปจีนมากขึ้น