http://www.bangkokbiznews.com/news/
ทิศทางทุนไทยเดินหน้าขยายการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นต่อเนื่อง ชี้ “วัตถุดิบ-ค่าแรง” ที่ต่ำกว่าในประเทศ
ทิศทางทุนไทยเดินหน้าขยายการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นต่อเนื่อง โดยในส่วนของภาคการผลิตเป็นทั้งการลงทุนโดยตรงและซื้อ-ควบรวมกิจการ จากการสำรวจของ “กรุงเทพธุรกิจ” พบว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีฐานมั่นคงในประเทศเพิ่มน้ำหนักการลงทุนต่างแดน เป็นไปเพื่อช่วงชิงความสามารถในการแข่งขันจาก “วัตถุดิบ-ค่าแรง” ที่ต่ำกว่าในประเทศ ที่สำคัญยังมองโอกาสตลาด และสิทธิประโยชน์การลงทุนไปพร้อมกัน
นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเข้าไปลงทุนในต่างประเทศของเครือสหพัฒน์ มาจากความต้องการหาฐานผลิตที่มีต้นทุนค่าจ้างแรงงานต่ำเพื่อใช้เป็นฐานผลิตนอกจากไทย อีกทั้งมองโอกาสทางการตลาดในการจำหน่ายสินค้า รวมทั้งศึกษาการลงทุนตั้งโรงงานในต่างประเทศ หากประเทศนั้นๆมีความพรั้อมด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งไฟฟ้า การคมนาคมขนส่ง
โดยที่ผ่านมาเครือสหพัฒน์ ธุรกิจของตระกูลโชควัฒนา เข้าไปลงทุนในต่างประเทศมากว่า 20 ปี เช่น การตั้งโรงงานผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่าในเมียนมา กัมพูชา เป็นต้น และช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เข้าไปลงทุนประมาณ 300 ล้านบาท เพื่อซื้อโรงงานบะหมี่ที่ฮังการี, การใช้ทุนจดทะเบียน 220 ล้านบาท ตั้งบริษัทผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในบังกลาเทศ, ลงทุน 248 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่ภูฏาณ, ลงทุนในกานา แอฟริกาใต้ เป็นต้น
ล่าสุดบริษัทในเครือได้ลงทุนในเมืองพะอัน เมียนมา เพื่อผลิตเสื้อผ้า ชุดชั้นในเพิ่มเติม ปัจจุบันมีโรงงานในหลายประเทศ เช่น โรงงานมาม่าทั้งในอาเซียน เอเชีย แอฟริกาใต้ ยุโรป นอกจากนี้มีโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป (การ์เมนต์) ที่เมียนมา
“การไปลงทุนในต่างประเทศต้องระมัดระวังทั้งปัจจัยการเมือง นโยบายต่างๆ รวมทั้งกฎหมาย โดยเฉพาะสหรัฐหลังการเปลี่ยนแปลงประธานาธิบดีคนใหม่”
“ชาวเกาะ”หวังใช้ฐานวัตถุดิบ
นายอภิศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แบรนด์“ชาวเกาะ” กล่าวว่าบริษัทมีแผนไปลงทุนในต่างประเทศ โดยอยู่ระหว่างศึกษาตั้งโรงงานผลิตสินค้าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว ที่เวียดนามและอินโดนีเซีย เนื่องจากมีราคาต้นทุนวัตถุดิบมะพร้าวต่ำกว่าไทย 30% และที่ผ่านมาไทยเผชิญปัญหาขาดแคลนมะพร้าวอย่างหนัก ทำให้ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากจากต่างประเทศต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยค่าแรงที่ต่ำกว่า รวมถึงการเข้าไปลงทุนสร้างฐานผลิตในประเทศเหล่านี้ ยังได้รับสิทธิประโยชน์ในการส่งออกสินค้าบางรายการไปยังบางประเทศทั่วโลก ซึ่งจะได้เปรียบด้านการส่งออกที่มีฐานผลิตในไทย
ที่ผ่านมาบริษัทยังไม่มีการไปลงทุนตั้งโรงงานหรือฐานผลิตสินค้าในต่างแดน แต่มุ่งลงทุนทำตลาดเพื่อสร้างแบรนด์ระดับโลก ด้วยการใช้น้ำมะพร้าวแบรนด์ “ชาวเกาะ”เป็นผู้สนับสนุนสโมสรฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ “ลิเวอร์พูล” เป็นเวลา 3 ปี ด้วยงบประมาณ 100 ล้านบาท
“ทีซีซี-สิงห์”ลุยซื้อกิจการนอก
สำหรับการลงทุนในต่างประเทศของทุนไทย เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น กลุ่มทีซีซี (ไทยเจริญ คอร์ปอเรชั่น) ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ส่งบริษัทในเครือไปซื้อและควบรวมกิจการทั่วโลก เช่น เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (บีเจซี) ซื้อกิจการห้างค้าปลีก เมโทร แคช แอนด์ แครี่ เวียดนาม มูลค่ากว่า 2.55 หมื่นล้านบาท สิ้นสุดดีลต้นปี 2559 การลงทุนเปิดห้างค้าปลีกเอ็ม-พ้อยท์ มาร์ทที่ลาว,ไทยเบฟเวอเรจ เข้าซื้อกิจการเครื่องดื่มเฟรเซอร์แอนด์นีฟ(เอฟแอนด์เอ็น)ในประเทศสิงคโปร์มูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท เป็นต้น ซึ่งช่วยเชื่อมโยงเครือข่ายการค้าขายให้บริษัทได้ครอบคลุมตลาดระดับโลกมากขึ้น
ส่วนบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ได้ลงทุนต่างประเทศผ่านบริษัทในเครือ เช่น บริษัทสิงห์ เอเซีย โฮลดิ้งส์ ใช้เงินลงทุนเกือบ 4 หมื่นล้านบาท ซื้อหุ้น เมซานกรุ๊ป ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจเบียร์ในเวียดนาม ในปี 2560เตรียมเปิดร้านไมโครบริวเวอรี่แบรนด์เอส.33 (EST.33) ที่ไมอามี่ สหรัฐ โดยร่วมกับนักลงทุนไทยซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหารในพื้นที่ การลงทุนดังกล่าวดำเนินการโดยบริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
“เดลต้า”รุกเอเชีย-อินเดีย
นายอนุสรณ์ มุทราอิศ กรรมการบริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การลงทุนในต่างประเทศเป็นจุดหนึ่งที่บริษัทให้ความสำคัญ เนื่องจากการเติบโตในต่างประเทศยังมีค่อนข้างสูงมาก โดยเฉพาะในกลุ่มเอเชียอย่างในอินเดีย ซึ่งบริษัทยังเน้นการลงทุนเพื่อรองรับการเติบโตของตลาด
“ในอินเดียบริษัทมองว่าจะเติบโตที่ดีมาก เพราะเป็นประเทศที่มีความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สูง ทั้งด้านพลังงานทดแทน รวมถึงรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า”
ทั้งนี้การตั้งโรงงานในอินเดียนั้น รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนสิทธิประโยชน์ทางภาษีซึ่งจะเริ่มทันทีเมื่อมีการเดินเครื่องและจำหน่ายสินค้าจากบริษัท โดยนอกจากอินเดียแล้ว บริษัทยังลงทุนในฐานการผลิตในกลุ่มประเทศยุโรปที่ผ่านมาบริษัทได้มีการปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นกลุ่มเฮด ออฟฟิศลงจาก 100 % ให้เหลือ 49 % เพื่อให้พันธมิตรเข้ามาบริหารและผลการดำเนินงานอาจจะไม่ดีมากนัก
อย่างไรก็ตาม สำหรับการขยายกำลังการผลิตในประเทศบริษัทจะเน้นการใช้เครื่องจักรเพิ่มขึ้น เพราะมีความแม่นยำและค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่า รวมถึงสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ ส่วนการเปิดโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) บริษัทยอมรับว่ายังไม่ได้ศึกษาในเรื่องดังกล่าวและอาจจะไม่ตรงกับความต้องการของบริษัท