“คนข่าว”รวมพลังค้านกม.คุมสื่อ ยื่น“อลงกรณ์”บี้สปท.ล้มการพิจารณา

http://www.matichon.co.th/news

 

เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 1 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา ว่า ภายหลังจากที่ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้ผลักดันพิจารณา เข้าสู่วาระการพิจารณาสปท.ในวันนี้ ปรากฎว่าตั้งแต่ช่วงเช้าบรรดาสื่อมวลชนประจำรัฐสภาทุกแขนงได้พร้อมใจกันใส่เสื้อสัญลักษณ์คัดค้านร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ…โดยเป็นเสื้อสีขาว มีภาพชูมือสีดำกำโซ่ปลดปล่อยนกพิราบ โดยมีข้อความใต้ภาพว่า “หยุดตีทะเบียนสื่อ ครอบงำประชาชน” เพื่อแสดงพลังคัดค้านไปถึง “รัฐ” และสปท.เพื่อขอคัดค้านและให้ สปท.ถอนร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวออกไปก่อน พร้อมกับชูป้ายแสดงสัญลักษณ์ดังกล่าวด้วย

ต่อมาเวลา09.30น.ที่บริเวณ ห้องโถง อาคารรัฐสภา 1 ตัวแทนนักข่าวและ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นำโดยนายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสื่อมวลชน ได้ยื่นหนังสือคัดค้านและขอให้ยกเลิกร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว โดยผ่านนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท. คนที่ 1 ก่อนที่จะมีการประชุมสปท.

นายอลงกรณ์ กล่าวภายหลังการรับหนังสือว่า การเสนอกฎหมายต้องรับฟัง ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ปี 60 คือต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ยืนยันว่าเราไม่มีเจตนาครอบงำ แทรกแซงสื่อมวลชน แต่การปฎิรูปสื่อเป็นหนึ่งในภารกิจการปฎิรูปเร่งด่วน โดยต้องให้สื่อปลอดจากการครอบงำจากอำนาจรัฐและอำนาจทุน และยึดหลักผลประโยชน์ของประเทศชาติและส่วนรวมเป็นหลัก อย่างไรก็ตามขอให้สื่อดูผลสรุปการประชุม สปท.ในวันนี้ ว่าจะออกมาอย่างไร

ด้านนายชาย ปถะคามินทร์ เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า ตามเนื้อหาที่ปรากฎว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ มีการกำหนดให้ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติไปเป็น 1 ในคณะกรรมการเพื่อเตรียมการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ นั้น สภาการหนังสือพิมพ์ฯขอแจ้งว่า การนำชื่อตำแหน่งและชื่อองค์กรสภาการหนังสือพิมพ์แห่งไปใส่ไว้ในร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว โดยไม่ได้มีการหารือหรือได้รับความยินยอมจากสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ซึ่งอาจขัดหรือแย้งต่แบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และเราขอยืนยันจุดยืนในการคัดค้านร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาจำกัด เสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน ซึ่งไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน