‘มาร์ค’ ลั่น! คนประชาธิปัตย์ต้องหนุน หน.พรรค อยากหนุน พล.อ.ประยุทธ์ให้ไปทางอื่น!

https://www.matichon.co.th/news/

“มาร์ค” ลั่น สมาชิก ปชป.ต้องหนุน หน.พรรค ไล่ ใครหนุนทหารให้ไปที่อื่น ชี้ กปปส. นอกจาก “สุเทพ-ธานี” ที่เหลือยังอยู่กับพรรคครบ แนะ คสช.-สนช.ส่งกม.ส.ส.ตีความต้อยึดโรดแมปที่ประกาศไว้

เมื่อเวลา 10.45 น. วันที่ 1 เมษายน ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป.ให้สัมภาษณ์ภายหลังแถลงนโยบายพรรคว่า ตนทำตามเจตนารมณ์ จากการยืนยันสมาชิกพรรคควรจะรู้ว่า แนวคิดเป็นอย่างไร ซึ่งในคำสั่ง เพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ระบุไว้ สำหรับแนวทางของพรรคในการเลือกตั้งครั้งต่อไปที่มีเรื่องของนายกฯคนนอกนั้น หัวใจสำคัญต้องการให้บ้านเมืองเดินไปทางไหน สิ่งที่ตนแถลงนโยบายไปว่า ปชป.ยุคใหม่ ต้องการนำพาบ้านเมืองไปทางไหน นั่นคือ สิ่งที่พรรคไปขอความสนับสนุนจากสมาชิกและประชาชน ซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะต้องเคารพเจตนารมณ์ของประชาชน ซึ่งวันนี้ ปชป.ต้องการจะเป็นหลักในการเดินหน้าทำงาน

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงการยืนยันเป็นสมาชิกพรรคของสมาชิกที่เป็น กปปส.ว่า ตนยืนยันว่านอกจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศที่ลาออกไป และนายธานี เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.สุราษฏร์ฯ ที่แสดงเจตนาว่าจะเป็นผู้ไปจดแจ้งพรรคการเมืองใหม่ ก็ยังไม่มีอดีต ส.ส.ท่านอื่น มาบอกว่าจะไม่มาร่วมงานกับเรา และเท่าที่ตนสังเกตวันนี้หลายท่านก็มายืนยันแล้ว บางท่านที่มายืนยันไม่ได้เนื่องจากไปบวช แล้วพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรค ก็ต้องรอสมัครสมาชิกพรรคใหม่ อย่างไรก็ตาม หากสมาชิกพรรคส่วนหนึ่งจะไปอยู่กับ กปปส.นั้น

“ยืนยันว่า สมาชิกพรรค ปชป.ก็ยังสนับสนุนหัวหน้าพรรค ปชป.อยู่แล้ว ส่วนใครที่จะออกนอกแถวไปสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น ให้ไปทางเลือกอื่น ไม่ต้องมาที่นี่ เพราะมีพรรคอื่นรองรับเยอะแยะ ถ้าจะอยู่กับพรรค ปชป.ก็ต้องสนับสนุนหัวหน้าพรรค ไม่ว่าหัวหน้าพรรคจะเป็นใครก็ตาม ซึ่งความเป็นไปได้ที่พรรค ปชป.จะสนับสนุนทหารเป็นรัฐบาลนั้น ต้องไปดูว่า ทหารเข้ามาได้อย่างไร และมีกี่เสียง” หัวหน้าพรรค ปชป.กล่าว

เมื่อถามว่ามีการยืนยันว่าจากสมาชิกของพรรคที่มีอยู่กว่า 2.5ล้านคน จะเหลือเพียงแค่ แสนคน จะเป็นไปได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เราพยายามให้ได้มากที่สุด ซึ่งทุกคนทราบดีว่า การออกกฎหมายเช่นนี้ ระยะเวลาการให้ความชัดเจนในบางเรื่อง ทุกคนทราบดีว่ามีอุปสรรคอะไร หากวันหนึ่งบ้านเมืองถึงวิกฤติและจำเป็นต้องให้ทหารอยู่ในอำนาจต่อจะเป็นอย่างไรนั้น ต้องบอว่าการจะเดินหน้าที่จะไม่ให้เกิดความขัดแย้ง คือ การที่ทุกคนต้องรักษาคำพูดเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น ถ้ามีการทำอะไรที่ประชาชนมองว่า มีการบิดพลิ้วหรือไม่เป็นไปตามสิ่งที่บอกกับประชาชน ก็จะเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้ง จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันเพื่อใ้บ้านเมืองเดินไปได้

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า หัวหน้า คสช.มีอำนาจในการแก้ปัญหานี้ได้อยู่แล้ว แต่จะตีความกี่วัน หัวหน้า คสช.ก็ไปย่นระยะเวลาก่อนการบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น ทุกอย่างก็เป็นไปตามเดิม ส่วนจะเป็นรัฐบาล หรือ สนช.ที่จะเป็นผู้ส่งตีความกฎหมายนั้น ทุกอย่าง คสช.จะเป็นผู้กำหนด ซึ่ง คสช.เคยบอกกับคนไทยและชาวโลกไว้อย่างไร ก็ควรเดินไปตามนั้น

เมื่อถามว่า จะมีการขอความร่วมมือไปทางศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยร่างกฎหมาย ส.ส.เร็วขึ้นเพื่อไม่ให้กระทบโรดแมปคิดว่าทำได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ต้องดูตามความเป็นจริงว่า ใช้เวลาเท่าไหร่ อย่างไร เพราะมีหนทางแก้ไขอยู่แล้ว แต่อยู่ที่ว่าจะทำหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเองก็คงไม่ต้องการให้ล่าช้าอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ต้องเป้นตามกระบวนการ ซึ่งเรื่องที่ส่งตีความนั้นอาจจะไม่เป็นการซับซ้อนก็ได้

เมื่อถามอีกว่า เป็นการโยนภาระไปที่ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากศาลพิจารณาล่าช้า นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนยืนยันว่า คนที่รับผิดชอบ สุดท้ายแล้วก็คือ หัวหน้า คสช.เพราะไม่ว่าศาลจะใช้เวลาเท่าไหร่ หัวหน้า คสช.ก็ต้องสามารถแก้ไขสถานการณ์ให้เป็นไปตามโรดแมปได้อยู่แล้ว แต่อยู่ที่ว่าเขาจะทำหรือไม่ทำเท่านั้นเอง อย่างไรก็ดี ตนเป็นห่วงเพราะ สนช.ที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะต้องเป็นหลักเป็นฐานในความรอบคอบ แต่คุณภาพของกฎหมายที่ออกมา ปัญหาการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่มีอยู่ตลอดเวลา สะท้อนให้เห็นว่าเป็นการทำงานที่บกพร่องอย่างมาก ควรต้องทบทวนว่าจะทำอย่างไร ไม่ให้เกิดกรณีเช่นนี้ขึ้นมาอีก

เมื่อถามถึง พ.ร.ป.ว่าด้วยการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เปิดช่องว่า การสรรหาจะยังไม่เกิดขึ้นยังไม่มีผู้นำฝ่ายค้าน และถ้ายังไม่มีเลือกตั้งตุลาการปัจจุบันที่พ้นวาระไปแล้วก็ยังคงดำรงตำแหน่งอยู่ได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าใครที่คิดจะทำอะไรเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง และคิดว่าจะทำได้ไปเรื่อยๆ ให้ย้อนไปดูประวัติศาสตร์ว่าไม่สามารถทำได้ เพราะสังคมไม่ยอม

“ส่วนสภาวการณ์เช่นนี้จะไม่เป็นผลดีต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ภาวะปัจจุบันขณะนี้ความอึมครึม ความไม่แน่นอนยังมีปรากฎทุกเวลา ความไม่ชัดเจน ในเรื่องการขจัดผลประโยชน์ที่ซับซ้อน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมติงมาตลอดว่า ถ้าอยากจะปฏิรูปการเมืองต้องช่วยกันทำให้เรื่องแบบนี้หมดไป ไม่ใช่มาทำเสียเอง ถ้าจะพูดเรื่องธรรมาภิบาลต้องไม่มีสิ่งเหล่านี้ ไม่เช่นนั้นก็ไม่ควรพูด ทั้งนี้ จะเป็นการทำลายระบบองค์กรอิสระหรือไม่นั้น ผมมองว่า ขณะนี้องค์กรอิสระก้ได้รับผลกระทบหลายองค์กรแล้วจากการเขียนกฎหมายลูก และการใช้มาตรา 44” นายอภิสิทธิ์กล่าว

ส่วนกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาคำสั่ง คสช.ว่าขัดต่อกฎหมายหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนเห็นว่าผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจและควรที่จะส่งเรื่องนี้ไปที่หน่วยงานที่สามารถแก้ปัญหาได้ เห็นว่าควรสั่งทั้ง คสช.และ สนช. ขณะเดียวกันจะส่งเรื่องหรือไม่ส่งนั้น ตนมองว่า คสช.และ สนช.ทราบแล้วว่ามติของผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นอย่างไร ดังนั้นท่านควรเคารพสิทธิของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญ แก้ไขเรื่องนี้ไม่ให้เกิดการเสียเวลาในศาล