https://www.matichon.co.th/news/
นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า สภาผู้ส่งออกยังยืนยันเป้าการส่งออกปี 2561 จะขยายที่ 5.5% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่า 2.36 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขยายตัว 9.9% เป้าดังกล่าวยังไม่รวมปัจจัยเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่อยู่ภายใต้สมมติฐานอัตราแลกเปลี่ยน 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ราคาน้ำมัน 64-67ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยการส่งออกปีนี้จะได้แรงหนุนปัจจัยบวกทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าหลัก การปรับตัวของผู้ผลิตสินค้าไทยไปสู่ดิจิทัลตามความต้องการตลาด โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตร และราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องน้ำมันปรับราคาสูงขึ้น
นางสาวกัณญภัค กล่าวว่า ส่วนปัจจัยลบต่อการส่งออกในปีนี้ คือ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้น ซึ่งตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 แข็งค่าขึ้น 2.58% และแข็งค่าขึ้น 11% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน มาตรการกีดกันทางการค้าและมาตรการตอบโต้ของประเทศคู่ค้าที่เข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะนโยบายสหรัฐอเมริกาต้องมาก่อน การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศในอัตรา 5-22 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ ซึ่งเป็นเวลากระชั้น จะทำให้ต้นทุนของผู้ผลิตในภาคการส่งออกเพิ่มสูงขึ้นและขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศคู่ค้าสำคัญ ความตึงเครียดระหว่างประเทศ สภาพอากาศที่รุนแรงเกิดขึ้นทั่วโลก จะทำให้เกิดการชะงักของโลจิสติกส์ และการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป อาจส่งผลทางอ้อมต่อการสร้างความเชื่อมั่นต่อของนักลงทุนต่างชาติและคู่ค้าสำคัญ
นายชัยชาญ เจริญสุข เลขาธิการสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงที่จะมีผลในวันที่ 1 เมษายนนี้ และการแข็งค่าของเงินบาท คาดว่าผู้ประกอบการใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด เนื่องจากใช้วัตถุดิบในประเทศเกือบ 100%และพึ่งพาแรงงานจำนวนมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร เช่น ไก่สดแช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป กลุ่มสินค้าเกษตร เช่น ข้าว และกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ดังนั้นรัฐบาลควรสนับสนุนเอสเอ็มอีด้วยการจัดแหล่งเงินทุนสนับสนุนหรือแหล่งเงินทุนกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) โดยไม่ต้องคืนเงินต้นในช่วงปรับตัว เพื่อชดเชยในช่วงที่ปรับตัวกับค่าแรงและค่าเงินบาทที่แข็งค่า ขณะเดียวกันควรสนับสนุนการนำหุ่นยนต์และระบบการผลิตอัตโนมัติเข้ามาทดแทนแรงงานคน รวมถึงรัฐบาลต้องมีการวางแผนล่วงหน้า และจัดทำแผนระยะยาว ในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอนาคต ควรปรับให้สอดคล้องกับทักษะของแรงงาน โดยต้องมีใบประกาศรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานหรือมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพของแรงงานไทย