ปตท.เปิดแผน 5 ปี ตุนเงินลงทุนทั้งเครือ 1.21 ล้านล้าน รับนโยบายรบ.พร้อมลงทุนรสก.อื่นแทนรัฐ

https://www.matichon.co.th/news/

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแผนการลงทุนของกลุ่ม ปตท. 5 ปี (2561-2565)ว่า จะใช้เงินลงทุนรวม 1.21 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นงบการลงทุน ปตท. 3.42 แสนล้านบาท บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน)หรือ ปตท.สผ. 4.66 แสนล้านบาท บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน) 5 หมื่นล้านบาท บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) หรือพีทีทีจีซี 1.8 แสนล้านบาท บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) 1.5 แสนล้านบาท บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือ จีพีเอสซี 2.8 หมื่นล้านบาท

สำหรับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทาง ปตท.ไม่เป็นห่วงเนื่องจากมีการบริหารการลงทุน การจัดหาเงินในรูปเงินบาท สกุลต่างชาติและรายได้ เป็นการป้องกันความเสี่ยงตามธรรรมชาติ รวมทั้งมีการซื้อประกันความเสี่ยงบางครั้ง ด้านราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นใกล้ 70 ล้านเหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล บริษัทยังไม่มีแผนปรับราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบจากเดิมที่วางไว้ 52-58 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพราะราคาน้ำมันที่สูงเป็นผลมาจากกลุ่มประเทศโอเปกรักษาโควตาการผลิตน้ำมันดิบ และอากาศหนาวจัดทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นสูง แต่เชื่อว่าน้ำมันและก๊าซจากชั้นหินดินดานจะกลับเข้ามาผลิตเพิ่มขึ้นจนกดดันราคาน้ำมันดิบปรับตัวลง

ส่วนกรณีกระแสข่าวลดบทบาทรัฐวิสาหกิจพลังงาน ทาง ปตท.คงต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ หากรัฐบาลต้องการความมั่นคงรัฐวิสาหกิจ(รสก.) ปตท.จะเข้าไปลงทุนแทนรัฐ แต่หากธุรกิจใดที่มีการแข่งขัน มีความมั่นคง ก็ควรจะปล่อยให้มีการแข่งขันอย่างอิสระและเป็นธรรม ทั้งนี้พลังงานควรมองควบคู่กับความมั่นคง ฝ่ายกำกับรัฐวิสาหกิจรก็ควรเปิดให้เอกชนเข้ามาแข่งขันอย่างเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ อาทิ การแข่งขันในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ มีโอกาสการแข่งขันมากขึ้น มีทิศทางให้เอกชนเข้ามาแข่งขันมากขึ้น

“ที่ผ่านมา ปตท. ได้ลงทุนท่อก๊าซ และคลังแอลเอ็นจี ซึ่งจะเปิดให้เอกชนอื่นเข้ามาใช้ ซึ่ง ปตท.จะแยกกิจการโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ออกจากกิจการขายก๊าซ ให้เอกชนรายอื่นเข้ามาใช้ได้ ขณะนี้ได้ทำการแยกบัญชี และการกำกับดูแลไปจนถึงผลกำไร ขาดทุนของท่อก๊าซ และคลังแอลเอ็นจีแล้ว และจะแยกเป็นบริษัทอิสระในอนาคต โดยการแยกระบบท่อก๊าซอาจจะมีความยากในประเด็นของทรัพย์สิน และภาษีพอสมควร”

นายเทวินทร์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ปตท. ยังได้เข้าไปร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เพราะการผลิตไฟฟ้า และการใช้เชื้อเพลิงมีความเชื่องโยงกัน ความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงานมีความเป็นไปได้ รวมทั้ง ปตท.จะไปร่วมมือกับบริษัทอื่นๆด้วยทั้งไทยและต่างชาติ แต่จะเน้นความร่วมมือกับบริษัทคนไทยก่อน

นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ. กล่าวว่า ปริมาณขายปิโตรเลียมปี 2560 จะอยู่ที่ราว 3 แสนบาร์เรลต่อวัน และต้นทุนต่อหน่วยอยู่ที่ 29-30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งทำได้ใกล้เคียงเป้าหมายที่ตั้งไว้ แม้จะได้รับผลกระทบจากการเรียกก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยในช่วงแรก แต่ก็ได้พยายามเพิ่มการผลิตจากพม่า และแหล่งน้ำมันเพิ่มขึ้น และในปีนี้ตั้งเป้าจะมีปริมาณขายปิโตรเลียมที่ราว 3 แสนบาร์เรลต่อวัน และมีต้นทุนต่อหน่วยที่ราว 30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล บนพื้นฐานราคาน้ำมันดิบที่ระดับ 50-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

สำหรับแผนงานในปีนี้จะยังคงมองหาโอกาสการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหลัก ทั้งในไทย พม่า มาเลเซีย คิดเป็นสัดส่วนลงทุน 90% และอาจจะขยายไปยังตะวันออกลางที่มองว่ามีอัตราการเติบโตของการผลิตปิโตรเลียมเพิ่มเติม โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการเข้าประมูลสัมปทานในมาเลเซีย และทำดีลซื้อกิจการ ซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติม ขณะที่ให้ความสำคัญต่อเรื่องการประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณ ที่จะหมดอายุสัมปทาน 2565-66 เป็นเรื่องหลัก รวมถึงขยายการลงทุนในแปลงปิโตรเลียมที่มีศักยภาพด้วย