https://www.matichon.co.th/news/
นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เดือนธันวาคม 2560 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 เนื่องจากผู้บริโภคมีความหวังว่าเศรษฐกิจไทยในอนาคตจะปรับตัวดีขึ้น ตามการส่งออกและการท่องเที่ยวฟื้นตัวดีขึ้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของของภาครัฐ เช่น บัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย มาตรการช้อปช่วยชาติและหนุนการท่องเที่ยวเมืองรอง
ประกอบกับ ส่วนใหญ่เริ่มคลายกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันหลังรัฐบาลประกาศโรดแมปการเลือก แต่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังฟื้นตัวไม่มาก เนื่องจากยังกังวลราคาพืชเกษตรที่ทรงตัวระดับต่ำ เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น ทำให้กำลังซื้อทั่วไปในหลายจังหวัดทั่วประเทศขยายตัวระดับต่ำและไม่คล่องตัว ส่งผลต่อความรู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยปัจจุบันยังไม่ฟื้นตัวดีขึ้นมากนัก
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า จึงทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 66.2 74.0 และ 97.5 ตามลำดับ ดีขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2560 อยู่ที่ 65.2 72.7 และ 96.1 ตามลำดับ ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (ซีซีไอ) อยู่ที่ 79.2 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดรอบ 35 เดือนนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2558 ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 อยู่ที่ 53.6 จาก 52.8 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตหรือ 6 เดือนข้างหน้า) ปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 5 อยู่ที่ 90.2 จาก 88.8 ซึ่งสูงสุดในรอบ 57 เดือนนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2556
แต่อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีทุกรายการยังต่ำกว่าระดับปกติที่100 แสดงว่าผู้บริโภคเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวขึ้นไม่มากนัก และยังมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก และสินค้าเกษตรราคาต่ำ รวมถึงเริ่มกังวลต่อสถานการณ์การเมืองจากกระแสข่าวต่างๆ ทำให้ดัชนีความเห็นต่อสถานการณ์การเมือง ปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 7 เดือน
” ทิศทางความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปี 2561 จะดีขึ้นและน่าจะเป็นขาขึ้นเกินระดับ 100 ในหลายรายการ เนื่องจากมีปัจจัยหนุนหลายด้าน ทั้งการส่งออก น่าจะโตได้ 5% จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มเป็น 37 ล้านคน เม็ดเงินจากการลงทุนภาครัฐ มาตรการเสริมของภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชน แนวโน้มราคาน้ำมันสูงดึงราคาเกษตรสูงขึ้น รวมแล้วจะมีเงินเข้าระบบเศรษฐกิจปี 2561 อีกประมาณ 5-7 แสนล้านบาท จะกระตุ้นเศรษฐกิจโต 2-3% ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยทั้งปีนี้โตได้ 4.5-5% และหากมีการจัดเลือกตั้งระดับท้องถิ่นและการเมืองใหญ่จะส่งผลต่อความมั่นใจเพิ่มขึ้น เป็นโอกาสจะทำให้เศรษฐกิจไทยโตเกิน 5% ” นายธนวรรธน์ กล่าว