https://www.matichon.co.th/news/
เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เหตุปะทะเดือดระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ที่ถูกจุดชนวนขึ้นจากคำประกาศของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในการรับรองให้เยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล ได้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกหลายสิบคนในเหตุปะทะกันต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ระหว่างสองฝ่ายในนครเยรูซาเลมและดินแดนปกครองของปาเลสไตน์เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่แกนนำกลุ่มฮามาส ขบวนการยึดแนวทางรุนแรงของปาเลสไตน์ ประกาศให้เป็น”วันแห่งความเดือดดาล” ในการปลุกระดมชาวปาเลสไตน์ให้ออกมาต่อต้านคำประกาศของผู้นำสหรัฐ
โดยหลังจากที่มีการรวมตัวประท้วงครั้งใหญ่ของชาวปาเลสไตน์และเกิดปะทะกันกับกองกำลังฝ่ายความมั่นคงอิสราเอลมาตลอดวัน มีรายงานว่าได้มีจรวดอย่างน้อย 3 ลูก ถูกยิงมาจากฉนวนกาซา เขตยึดครองของปาเลสไตน์ โจมตีเป้าหมายอิสราเอล
จากการเปิดเผยของกองทัพอิสราเอลระบุว่า จรวดลูกหนึ่งถูกระบบต่อต้านขีปนาวุธไอออน-โดมของอิสราเอล ยิงสกัดจนร่วง ส่วนจรวดอีกลูกตกลงในพื้นที่รกร้าง และจรวดลูกที่ 3 ตกลงในเมืองสเดรอท ของอิสราเอล แต่สถานีวิทยุอิสราเอลรายงานว่าจรวดลูกดังกล่าวไม่ระเบิดและไม่ได้ทำให้มีผู้เสียชีวิต ก่อนที่กองทัพอิสราเอลจะเปิดฉากโจมตีทางอากาศถล่มใส่เป้าหมายทางทหารของกลุ่มฮามาส 2 แห่งในฉนวนกาซา ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขปาเลสไตน์ในเมืองกาซาที่กลุ่มฮามาสควบคุมอยู่ระบุว่าการโจมตีทางอากาศดังกล่าวส่งผลให้มีประชาชนได้รับบาดเจ็บ 14 ราย
ขณะที่มีรายงานว่ามีชาวปาเลสไตน์ 2 รายเสียชีวิตในเหตุปะทะกับกองกำลังอิสราเอลบริเวณแนวรั้วกันแบ่งแยกฉนวนกาซากับอิสราเอลในช่วงก่อนหน้าของวันเดียวกัน นับเป็นการสูญเสียชีวิตเป็นครั้งแรกในการลุกฮือประท้วงการตัดสินใจที่จุดไฟขัดแย้งขึ้นอีกในตะวันออกกลางของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่เป็นที่จับตาของนานาชาติท่ามกลางความหวั่นเกรงว่าไฟขัดแย้งจะลุกลามบานปลายออกไป โดยมีรายงานผู้ประท้วงหลายหมื่นคนในหลายประเทศมุสลิมและชาติอาหรับ รวมถึงจอร์แดน ตุรกี มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย ที่ออกมาประท้วงประณามการตัดสินใจของทรัมป์
การตัดสินใจของทรัมป์ไม่เพียงถูกโลกก่นประณาม แต่สหรัฐยังกำลังมองเห็นตนเองถูกโดดเดี่ยวในเวทีหารือของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ซึ่งประชุมเร่งด่วนในเรื่องนี้ที่นครนิวยอร์ก โดย 5 ชาติยุโรป ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และ สวีเดน ยืนยันในที่ประชุมว่านโยบายใหม่นี้ของสหรัฐไม่สอดคล้องกับมติยูเอ็นและไม่ได้ช่วยส่งเสริมความมุ่งหวังที่จะทำให้เกิดสันติภาพขึ้นในภูมิภาค
ทว่านางนิกกี ฮาลีย์ ทูตสหรัฐประจำยูเอ็น กล่าวยืนยันว่าสหรัฐยึดมั่นในพันธกิจที่จะให้มีการบรรลุข้อตกลงสันติภาพอย่างยั่งยืน และกล่าวหายูเอ็นว่าอคติ
“อิสราเอลจะไม่ถูกและไม่ควรถูกโดนรังแกด้วยข้อตกลงยูเอ็นหรือการร่วมกันของประเทศใดๆ ที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่สนใจความมั่นคงของอิสราเอล” ทูตสหรัฐประจำยูเอ็นกล่าว
ด้านน.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ไทยเห็นพ้องกับแถลงการณ์ของเลขาธิการสหประชาชาติที่กล่าวว่า สถานะสุดท้ายของนครเยรูซาเลมจะเป็นประเด็นที่ต้องแก้ไขโดยผ่านการเจรจาโดยตรงระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์บนพื้นฐานของข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงและสมัชชาสหประชาชาติ โดยคำนึงถึงข้อกังวลอันชอบธรรมของทั้งสองฝ่ายด้วย ฝ่ายไทยให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อความพยายามของเลขาธิการสหประชาชาติที่จะสนับสนุนทั้งสองฝ่ายให้กลับสู่การเจรจาเพื่อนำไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืน