พณ.ประสานแบงก์ชาติขอข้อมูลเพลย์ออลชี้หากพบทำผิดจริงจะเพิกถอนเครื่องหมายDBD Register-เจออีกเด้งไม่ส่งงบดุล

http://www.matichon.co.th/news

บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์  โฆษกกระทรวงพาณิชย์  (ภาพจากเว็บไซต์กระทรวงพาณิชย์)
บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ โฆษกกระทรวงพาณิชย์ (ภาพจากเว็บไซต์กระทรวงพาณิชย์)

 

น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร้องทุกข์ บริษัท เพลย์ออล กรุ๊ป จำกัด ว่าประกอบธุรกิจให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อี-มันนี่) โดยไม่ได้รับอนุญาตจาก ธปท. และอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การส่งเสริมการประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อี-คอมเมิร์ซ) ของประเทศไทยนั้น ว่า เพย์ออล เป็นแอพลิเคชั่น ของ บริษัท เพย์ออล กรุ๊ป จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 ทุนจดทะเบียน 10,000,000 บาท กรรมการบริษัท จำนวน 5 คน ประกอบด้วย 1. นายรัฐภูมิ โตคงทรัพย์ 2. นายภูมิพัฒน์ ประเสริฐวิทย์ 3. นายธเนศ จัดวาพรวนิช4. นางสุภัสฐิณี ศรีสะอาด 5. นายชนะศักดิ์ ศรีสะอาด โดยบริษัทขาดส่งงบการเงินปี 2558 ซึ่งกรมฯ อยู่ระหว่างการแจ้งเตือนให้ปฏิบัติตามกฎหมายจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และได้รับเครื่องหมาย DBD Registered หากไม่ปฎิบัติตามจะมีโทษปรับตั้งแต่ 12,000-50,000 บาท ซึ่งจะหมดอายุความที่จะต้องยื่นงบดุลให้กรมฯภายในเดือน พฤษภาคม 2560 นี้ นอกจากนี้กรมฯ อยู่ระหว่างการตรวจสอบและประสานข้อมูลจาก ธปท. หากพบว่ามีการกระทำผิดจริง กรมฯ จะดำเนินการเพิกถอนเครื่องหมายDBD Registered ต่อไป

น.ส.บรรจงจิตต์ กล่าวอีกว่าขอให้กรณีดังกล่าวเป็นกรณีศึกษาของการประกอบธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่มีแนวโน้มจะมีการจดทะเบียนมากขึ้นในภาพรวมมีการขอจดทะเบียนกว่า 5 แสนราย ซึ่งบริษัทดังกล่าวเป็นธุรกิจที่ต้องได้รับการอนุญาตจาก ธปท. หากจะดำเนินการธุรกิจในรูปแบบดังกล่าวจะต้องได้รับอนุญาตในประเภท ค. ที่ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท และเงินที่ประชาชนเติมมาต้องห้ามนำไปใช้อย่างอื่น ต้องฝากธนาคารไว้เท่านั้น เพื่อจะให้บริการภายใต้นิติบุคคลและสามารถซื้อสินค้าได้หลายประเภทภายใต้ระบบการจัดจำหน่ายและให้บริการเดียวกัน เช่น เอ็มเพย์, บัตรแรบบิท เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ได้รับอนุญาตจากธปท. 22 รายเท่านั้น

“ส่วนกรณีที่นายรัฐภูมิ มีชื่อในอีกบริษัทหนึ่งที่ชื่อคล้ายกันคือบริษัท เพลย์ออล จำกัด นั้นขณะนี้ยังไม่พบว่ามีความเคลื่อนไหวใดๆ ก็ยังไม่เข้าไปตรวจสอบแต่จะตรวจสอบเฉพาะบริษัทที่มีปัญหาหรือเป็นข่าวเท่านั้น และต่อไปจะมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขออนุญาตเพื่อประกอบกิจการที่เป็นกิจการเฉพาะ เช่นธปท.ที่ผู้ขอจดทะเบียนต้องนำเอกสารที่ได้รับอนุญาตจากธปท.หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาก่อน ในอนาคตจะต้องมีการเปลี่ยนกฎกติกาตามสถานการณ์ รวมทั้งเงื่อนไขการขอได้รับการรับรองหรือจดทะเบียน DBD Register ที่ต้องตรวจสอบอย่างละเอียดมากขึ้นเพราะเป็นความน่าเชื่อถือของหน่วยงานซึ่งขณะนี้มีบริษัทที่ได้รับเครื่องหมายดังกล่าวกว่า 20,000 ราย ” น.ส.บรรจงจิตต์ กล่าว