http://www.matichon.co.th/news
30 องค์กรสื่อยื่น จม.เกิดผนึกถึง สปท. ค้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพฯ จี้ปลด “พล.อ.อ.คณิต” พ้นประธาน กมธ.ด้านสื่อฯ
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา ตัวแทนสมาพันธ์และสมาคมสื่อมวลชน นำโดยนายวันชัย วงศ์มีชัย ประธานสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, นายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย, นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เข้ายื่นข้อร้องเรียนและคัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.รบ.) การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ….. ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ต่อนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คนที่หนึ่ง หลังจากที่ กมธ.ฯ ปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชน เตรียมนำเสนอร่างกฎหมายและรายงานที่เกี่ยวข้องต่อที่ประชุม กมธ.วิสามัญกิจการสปท. (วิป สปท.) วันนี้ (2 ก.พ.)
โดยหลักการสำคัญที่ตัวแทนสื่อมวลชนระบุไว้ในจดหมายเปิดผนึกคือ ต้องการให้ สปท.ชะลอการรับรองร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพฯ และให้ กมธ.ฯ ด้านสื่อสารมวลชน นำเนื้อหากลับไปทบทวนให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และขอให้เปลี่ยนบุคคลที่ทำหน้าที่ประธาน กมธ.ฯ ด้านสื่อมวลชน ที่มี พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร สปท. เป็นประธาน และคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจต่อการปฏิรูปสื่อมวลชนทำหน้าที่แทน และแสดงเจตนารมณ์ที่พร้อมจะให้ความร่วมมือกับ สปท. ต่อการปฏิรูปประเทศทุกด้าน
ด้านนายเทพชัยกล่าวว่า ยืนยันว่าองค์กรสื่อฯ หรือสมาพันธ์สื่อมวลชนไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาร่างกฎหมายด้านสื่อมวลชน ตามที่มีผู้ระบุว่าตัวแทนสื่อมวลชนได้ร่วมรับประทานอาหารกับ กมธ.ฯ และถูกอ้างว่าเป็นการให้ความเห็นชอบกับเนื้อหานั้นไม่เป็นความจริงและมีการบิดเบือน อย่างไรก็ตามองค์กรสื่อมวลชนพร้อมเข้าสู่วาระการปฏิรูป แต่ต้องเป็นกลไกที่ไม่ใช่ที่มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาดำเนินการ เพราะมีความกังวลว่าจะถูกแทรกแซงและทำให้สถานการณ์เสรีภาพของสื่อมวลชนย้อนไปสู่ยุคมืด
ด้านนายอลงกรณ์กล่าวว่า ตนจะรับข้อเสนอและข้อร้องเรียนขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนเข้าสู่การประชุมวิป สปท. แต่คงไม่สามารถให้ตัวแทนองค์กรเข้าประชุมเพื่อชี้แจงในรายละเอียดหรือข้อโต้แย้งในสาระรายงานของ กมธ.ฯ ด้านสื่อมวลชนได้ เพราะต้องให้วิป สปท. ทำงานอย่างมีอิสระ ส่วนคำตอบที่ว่าจะชะลอการพิจารณารายงานและร่างกฎหมายดังกล่าวได้หรือไม่ ตนไม่สามารถตอบแทนสมาชิก สปท. หรือวิป สปท.ได้ ดังนั้น ขอให้รอฟังผลการพิจารณาหลังการประชุม
“การปฏิรูปสื่อมวลชนต้องยึดหลัก 5 ประการ คือ สิทธิ เสรีภาพ การทำงานโดยอิสระ ไม่ถูกแทรกแซง จริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพ ความรับผิดชอบต่อการทำหน้าที่ และการมีส่วนร่วมของประชาชน และถูกขับเคลื่อนออกมา 3 วาระ คือ วาระกำกับสื่อมวลชน วาระสิทธิเสรีภาพบนความรับผิดชอบ และวาระที่สื่อปลอดการแทรกแซง ดังนั้น สิ่งเหล่านี้ตนจะนำเสนอให้เป็นหลักการสำคัญของการพิจารณาเนื้อหา ขณะที่สื่อมวลชนเองก็ต้องตระหนักถึงการปฏิรูปตนเองด้วย” นายอลงกรณ์กล่าว