งบโฆษณา 8 เดือนแรกฮวบ 1 หมื่นล. หนังสือพิมพ์-นิตยสาร-ช่องข่าว เสี่ยงปิดตัวสูง

https://www.matichon.co.th/news/

นายภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI เปิดเผยว่า จากตัวเลขงบโฆษณาช่วง 8 เดือนแรก(มกราคม-สิงหาคม) มีมูลค่า 59,284 ล้านบาท ลดลง 11,762 หมื่นล้านบาท หรือ 16.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 71,046 ล้านบาท ส่วนทั้งปี 2560 คาดว่าจะอยู่ที่ 8.7 หมื่นล้านบาท ลดลง 13% จากปี 2559 ซึ่งมีมูลค่า 100,352 ล้านบาท โดยสาเหตุมาจากเหตุการณ์สำคัญของประเทศ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจยังไม่ดี ที่สำคัญการแข่งขันธุรกิจสื่อสูง

“ช่วงเดือนตุลาคม จะมีเหตุการณ์สำคัญของประเทศ ทำให้บรรยากาศการใช้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์จะกลับมาคึกคักสุดๆ อีกครั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2560 เพราะเป็นช่วงโค้งสุดท้ายปลายปี ที่กลุ่มสินค้าต่างๆ พยายามกระตุ้นยอดขาย โดยคาดว่างบเงินโฆษณาที่ใช้จ่ายผ่านสื่อต่างๆ จะเฉลี่ยเดือนละ 8.5-9 พันล้านบาทต่อเดือน สูงกว่าหลายๆ เดือนที่ผ่านมา ที่บางเดือนตกลงไปเหลือเพียง 7 พันล้านบาท โดยสินค้าที่จะใช้งบโฆษณาสูงสุด คงเป็นกลุ่มรถยนต์ โทรศัพท์มือถือ อย่างไรก็ตาม สื่อที่มีการใช้งบประมาณโฆษณาสูงสุดในช่วง 8 เดือนแรกที่ผ่านมา คือ หน่วยงานภาครัฐ อาทิ กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมการขนส่งทางบก อยู่ที่ 2,092 ล้านบาท ลดลง 13% แต่ถ้าหากแยกเฉพาะภาคเอกชน กลุ่มรถยนต์จะใช้งบประมาณสูงสุด และทั้งปีน่าจะอยู่ที่ 5-6 พันล้านบาท ตามด้วยกลุ่มสินค้าโทรศัพท์มือถือ เพราะมีแบรนด์จากจีนและเกาหลีเข้ามาทำการตลาดในไทย และใช้งบโฆษณาหนักมาก ส่วนอันดับสามจะเป็นกลุ่มเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ ครีมบำรุงดูแลผิว ของใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนปีหน้า คาดว่า การเติบโตไม่น่าจะติดลบ น่าจะแตะแสนล้านบาทได้ หากเหตุการณ์ปกติและเศรษฐกิจดีขึ้น”นายภวัต กล่าว

นายภวัต กล่าวว่า สื่อสิ่งพิมพ์เป็นสื่อที่น่าเป็นห่วงสูงสุด ทั้งหนังสือพิมพ์ และแม็กกาซีน ขณะที่ธุรกิจสื่อทีวีถือเป็นอีกสื่อที่น่าเป็นห่วรองลงมา แม้งบโฆษณาในสื่อทีวีจะมีมูลค่าสูงถึง 5 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อจำนวนสถานีมีมากขึ้น การแข่งขันที่สูงขึ้น การจัดอันดับเรตติ้ง เหล่านี้ก็เข้ามามีส่วนในการดึงสัดส่วนรายได้ไป โดยช่องหลักๆ ยังคงอยู่ได้ แต่ในระยะยาว ช่องที่เน้นการนำเสนอรายการข่าว และรายการเด็ก จะมีความเสี่ยงสูงสุด และมีโอกาสถึงขั้นคืนช่อง ซึ่งตอนนี้ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) อยู่ระหว่างศึกษาให้ทางผู้ประกอบการสามารถคืนช่องได้หรือไม่ ส่วนสาเหตุเป็นเพราะทั้ง 2 รายการ ไม่ตอบโจทย์พฤติกรรมคนไทยที่ชอบความบันเทิงมากกว่า และข่าวก็สามารถดูย้อนหลัง หรือดูผ่านสื่อโซเชี่ยลมีเดียได้ ทั้งนี้ในปัจจุบันพบว่า มี 4 ช่องที่ได้รับความนิยมสูงในภาพรวม คือ ช่อง 3 ช่อง 7 ช่องเวิร์คพ้อยท์ ทีวี และช่องอัมรินทร์ ทีวีที่กำลังมาแรง เพราะสามารถดึงผู้ชมได้จากรายการข่าวเป็นหลัก ส่วนสื่อออนไลน์ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2560 เติบโต 24% หรือมีมูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัทพบว่า 3 สื่อหลักที่ยังคงอยู่ได้ในสังคมระยะยาว มองว่าเป็นสื่อทีวี ออนไลน์ สื่อนอกบ้าน อาทิ ป้ายโฆษณาต่างๆ