http://www.matichon.co.th/news
หลังข้อมูลเเละภาพของเรือฟริเกตสมรรถนะสูงถูกเผยแพร่ไปเเล้วนั้น (คลิกอ่าน : เปิดภาพ! “ฟริเกตพิฆาต”เขี้ยวเล็บใหม่ ทร.ไทย ตัวเรือแบบ“สเตลท์” มูลค่า1.46หมื่นล้าน) ล่าสุดเมื่อเวลา 15.39 น. วันที่ 23 มกราคม พลเรือเอก ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีปล่อยเรือ พร้อมด้วยนางปรานี อารีนิจ ภริยา เป็นสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำ โดยมีพลเรือเอก รังสฤษดิ์ สัตยานุกูล ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพเรือ ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือฟริเกต และ RDMl.Park Young-Sik Commander, Naval Education&Training Group 1(Flag Escort to the C-in-C, RTN) ให้การต้อนรับ และมีพลเรือตรี กฤษฎาภรณ์ พันธุมโพธิ ผู้อำนวยการสำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์กองทัพเรือ นาวาเอก ไพฑูรย์ ชีชะนะ ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือไทย/โตเกียว พร้อมภริยา, Cdr.Kim, Young Sik Asia-Pacific Desk, Foreign Policy Division, ROKN HQs Ens.Kim, Hyunmin Foreign Policy Division, ROKN HQs (Translator) และผู้แทนบริษัท DSME ร่วมพิธี ณ อู่ต่อเรือบริษัท DSME เมืองปูซาน ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี
สำหรับเรือฟริเกตสมรรถนะสูง หรือเรือหลวงท่าจีน ต่อโดยบริษัท DSME(DAEWOO Shipbuilding & Marine Engineering CO., LTD.) ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี โดยการสร้างเรือดำเนินการ ณ อู่ต่อเรือของบริษัท DSME สาธารณรัฐเกาหลี เป็นเรือฟริเกตที่จัดหาจะมีขีดความสามารถในการปฏิบัติการรบได้ 3 มิติ คือ การปฏิบัติการสงครามใต้น้ำ การปฏิบัติการสงครามต่อต้านภัยทางอากาศ และการปฏิบัติสงครามผิวน้ำ โดยสามารถปฏิบัติงานร่วมกับเฮลิคอปเตอร์กองทัพเรือ ในการรับ-ส่ง เฮลิคอปเตอร์ และนำ เฮลิคอปเตอร์เข้าเก็บในโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ได้ นอกจากนั้น ยังได้เพิ่มขีดความสามารถของระบบตรวจการณ์ และระบบอาวุธในการปฏิบัติการสงครามใต้น้ำ และการป้องกันภัยทางอากาศให้มีประสิทธิภาพสูง อีกทั้งระบบอาวุธและระบบอำนวยการรบ ได้รับการออกแบบให้มีขีดความสามารถในการเชื่อมต่อข้อมูลทางยุทธวิธี ที่สามารถใช้งานร่วมกับระบบการรบของเรือฟริเกต ชุด เรือหลวงนเรศวร และเรือหลวงจักรีนฤเบศรได้ เป็นผลทำให้การปฏิบัติการรบร่วมในลักษณะกองเรือ (Battle Group) รวมทั้งการปฏิบัติการรบร่วมกับอากาศยานของกองทัพอากาศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ประกอบกับข้อเสนอการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่บริษัทเสนอ จะทำให้เพิ่มขีดความสามารถให้อู่เรือไทยและบุคลากรทั้ง ทร. และภาคเอกชนให้มีความรู้ความชำนาญ รองรับการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยี การพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงการบำรุงรักษา ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการต่อเรือรบในประเทศได้
กองทัพเรือได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการ โดยได้เชิญชวนอู่เรือของประเทศต่างๆ ในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา จำนวน 13 ราย ซึ่งรวมถึงอู่เรือจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ด้วย เพื่อเปิดกว้างให้มีการแข่งขันให้กองทัพเรือ ได้รับประโยชน์สูงสุด โดยมีผู้เสนอแบบเรือ 5 ราย ได้แก่ อู่เรือจากสาธารณรัฐอิตาลี ราชอาณาจักรสเปน สาธารณรัฐเกาหลี (2 ราย) และสาธารณรัฐประชาชนจีน หลังจากนั้นได้ดำเนินการคัดเลือกแบบตามแนวทางการจัดหายุทโธปกรณ์หลักของกองทัพเรือ โดยผลการพิจารณาปรากฏว่า แบบเรือของบริษัท Daewoo Shipbuilding & Marine Engineering Co., Ltd. (DSME) สาธารณรัฐเกาหลี สามารถตอบสนองภารกิจของกองทัพเรือได้ดีที่สุด และเป็นแบบเรือที่ตรงตามความต้องการของกองทัพเรือมากที่สุด จึงได้รับการคัดเลือก แบบเรือฟริเกตที่ได้รับการคัดเลือก เป็นแบบที่พัฒนามาจากเรือพิฆาตชั้น Kwanggaeto Class Destroyer (KDX-I) ซึ่งเรือฟริเกตที่กองทัพเรือจัดหา มีการออกแบบและสร้างเรือ โดยใช้มาตรฐานทางทหารของสหรัฐ และกองทัพเรือเกาหลี
อีกทั้งได้รับการรับรองเป็นแบบที่ได้รับรองจากสถาบันจัดชั้นเรือซึ่งเป็นสมาชิกของ IACS (International Association of Classifications Society) โดยแบบเรือดังกล่าว มีระวางขับน้ำสูงสุด 3,700 ตัน ความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง 30 นอต ระยะปฏิบัติการประมาณ 4,000 ไมล์ทะเล กำลังพล 136 นาย ลักษณะของเรือออกแบบโดยใช้ Stealth Technology และลดการแพร่คลื่นแม่เหล็กตัวเรือ รวมทั้งลดการแพร่เสียงใต้น้ำ ติดตั้งระบบอำนวยการรบและระบบอาวุธจากยุโรปและอเมริกา ซึ่งสามารถปฏิบัติการรบได้ทั้ง 3 มิติ รวมทั้งป้องกันตัวเองในระยะประชิด ตามมาตรฐานยุโรป สหรัฐ และกองทัพเรือที่มีใช้งานและกำลังจัดหา
การสร้างเรือ จะดำเนินการ ณ อู่ต่อเรือของบริษัท DSME สาธารณรัฐเกาหลี ในระหว่างปี 2556-2561 โดยมีค่าจ้างสร้างเรือรวมทั้งสิ้นประมาณ 14,997 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่ม อะไหล่เครื่องมือ เอกสาร ส่วนสนับสนุน การทดสอบทดลอง การฝึกอบรม การถ่ายทอดเทคโนโลยี และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นงบประมาณผูกพันระยะเวลา 6 ปี
คุณลักษณะและขีดความสามารถโดยสังเขปของเรือฟริเกตสมรรถนะสูง
ภารกิจในยามสงคราม ป้องกันอธิปไตยเหนืออาณาเขตทางทะเลของไทย ภารกิจรอง คุ้มกันกระบวนเรือ
ภารกิจในยามสงบ รักษาความมั่นคงและความปลอดภัยของเส้นทางคมนาคมทางทะเล พิทักษ์รักษาสิทธิอธิปไตยทางทะเล ค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ และรักษากฎหมายตามกฎหมายให้อำนาจทหารเรือ
ขีดความสามารถทั่วไป โดยสามารถนำเรือ/เดินเรือแบบรวมการที่ทันสมัย ระบบขับเคลื่อนที่ควบคุมง่าย รวดเร็ว ทนทาน ง่าย และประหยัด ความทนทะเลได้ถึงสภาวะทะเลระดับ 6 ขึ้นไป โครงสร้างเรือแข็งแรง มีโอกาสอยู่รอดสูงในสภาพแวดล้อมของการสู้รบและการปนเปื้อนทางนิวเคลียร์/เคมี/ชีวะ
ขีดความสามารถด้านการควบคุมบังคับบัญชาและการตรวจการณ์ ด้วยระบบอำนวยการรบและระบบตรวจการณ์ที่ทันสมัยและขีดความสามารถสูง รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงข้อมูลและสื่อสารกับเรือ อากาศยาน และหน่วยบนฝั่ง ตลอดจนสามารถตรวจการณ์ครอบคลุมทุกมิติและทั้งกลางวันและกลางคืน
ขีดความสามารถการรบ โดยสามารถปฏิบัติการรบได้ 3 มิติ โดยให้ความสำคัญในการปฏิบัติการสงครามใต้น้ำเป็นลำดับแรก โดยสามารถตรวจจับเป้าหมายระยะไกลด้วยโซนาร์ลากท้ายและโซนาร์ติดใต้ท้องเรือ แล้วต่อตีเรือดำน้ำได้ที่ระยะไกลด้วย Vertical Launch Anti-Submarine Rocket หรือตอร์ปิโด และลำดับที่สอง การปฏิบัติการสงครามต่อต้านภัยทางอากาศ โดยใช้เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติระยะไกล และระยะปานกลางในการค้นหา ตรวจจับ และติดตามเป้าข้าศึก รวมทั้งแลกเปลี่ยนและประสานการปฏิบัติกับเรือและอากาศยานที่ร่วมปฏิบัติการ แล้วโจมตีเป้าหมายด้วยอาวุธปล่อยนำวิถีฯ แบบ ESSM และอาวุธปืนของเรือ ส่วนการป้องกันทางอากาศระยะไกล หรือพื้นที่ชั้นนอกของกองเรือ (Battle Group) จะใช้การปฏิบัติการร่วมกับอากาศยานของกองทัพอากาศในการค้นหา ตรวจจับและโจมตี และการปฏิบัติการสงครามผิวน้ำ โดยสามารถโจมตีเป้าหมายได้ที่ระยะไกล โดยปฏิบัติร่วมกับเรือและอากาศยานในการพิสูจน์ทราบเป้า ส่งมอบเป้าและให้ใช้อาวุธจากระยะพ้นขอบฟ้า รวมทั้งโจมตีเป้าพื้นน้ำและใต้น้ำด้วยเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือ
ขีดความสามารถในการป้องกันตนเอง ด้วยอาวุธปล่อยนำวิถีฯ ปืนใหญ่เรือและปืนรองต่อสู้อากาศยาน ระบบอาวุธป้องกันระยะประชิด (CIWS) ระบบลวงทางอิเล็กทรอนิกส์ ระบบควบคุมความเสียหายแบบรวมการที่สั่งการได้จากศูนย์กลางหรือแยกสั่งการ มีระบบควบคุมการแพร่สัญญาณออกจากตัวเรือ
ขีดความสามารถในการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ โดยสามารตรวจจับ ดักรับ วิเคราะห์ และก่อกวนสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้าของเป้าหมายได้
ขีดความสามารถในการปฏิบัติการรบร่วม โดยผ่านระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี ให้สามารถปฏิบัติการรบร่วมในลักษณะกองเรือ (Battle Group) ได้แก่ ร.ล.จักรีนฤเบศร เรือฟริเกต ชุด เรือหลวงนเรศวร เรือคอร์เวต ชุด เรือหลวงรัตนโกสินทร์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมทั้งการปฏิบัติการรบร่วมกับ เครื่องบินกองทัพอากาศ ตามบทบาทหน้าที่ที่จะได้รับมอบหมาย ซึ่งเรือฟริเกตสมรรถนะสูง จะทำหน้าที่ควบคุมการปราบเรือดำน้ำเป็นหลัก
เรือฟริเกตสมรรถนะสูง ได้รับการออกแบบตัวเรือและโครงสร้างรองรับการปรับปรุงให้สามารถยิงอาวุธปล่อยนำวิถีพื้น-สู่-อากาศ แบบ SM2 รวมทั้งได้มีแผนเตรียมการรองรับไว้แล้ว โดยบริษัทผู้ผลิตระบบประกอบที่เกี่ยวข้องได้แก่ แท่นยิงแท่นยิงอาวุธปล่อยฯ แนวตั้ง ระบบอำนวยการรบ เรดาร์ควบคุมการยิงและ เรดาร์ชี้เป้า (Illuminator) สามารถปรับปรุงรองรับการยิงอาวุธปล่อยฯ ดังกล่าวได้ เมื่อกองทัพเรือต้องการและสถานการณ์ด้านงบประมาณเอื้ออำนวย
ในการต่อเรือชุดนี้กองทัพเรือได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการต่อเรือ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของการต่อเรือภายในประเทศ โดยกองทัพเรือจะทำการต่อเรือฟริเกตสมรรถณะสูงเองอีก 1 ลำ ตามแนวทางพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยที่ผ่านมาบริษัท DSME จำกัด และ บริษัท ไฮเทค เอเจ โฮลดิ้ง จำกัด (บริษัทผู้แทนในระเทศไทยของบริษัท DSME จำกัด) ได้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) กับกองทัพเรือ และบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด บริษัท ในด้านความร่วมมือการพัฒนาขีดความสามารถในการซ่อม สร้าง และดัดแปลงเรือ ของกรมอู่ทหารเรือให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เมื่อ 30 กันยายน 2559 ณ รองรับรองกองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม