ครม.อนุมัติไฮสปีดเทรน กทม.-โคราช ตอกเสาเข็ม ต.ค. เปิด’64 ค่าโดยสาร 535 บาท ออกทุกชม.ครึ่ง

https://www.matichon.co.th/news/

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติอนุมัติโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะทาง 647 กิโลเมตร(กม.) ช่วงแรกจากกรุงเทพฯ-นคราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร(กม.) วงเงินลงทุน 179,413 ล้านบาท เพื่อเชื่อมต่ออาเซียนเข้ากับจีน โดยหลังจากนี้จะเดินหน้าเจรจากับทางจีนต่อไป และจะเริ่มลงมือก่อสร้างตอนแรก 3.5 กม. วงเงิน 425 ล้านบาท ในเดือนตุลาคม 2560 นี้

สำหรับรูปแบบการดำเนินการ แบ่งเป็น 2 สัญญาหลัก คือ 1.สัญญาการก่อสร้างงานโยธา คิดเป็น 75% ของโครงการ โดยฝ่ายไทยดำเนินการ คือ จะเปิดประมูลตามปกติตามระเบียบที่มีอยู่ โดยผู้รับหมาไทยและคนงานไทย และ 2.ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบรถ และการซ่อมบำรุง คิดเป็น 25% โดยแยกเป็น 3 สัญญาย่อย คือ 2.1 การออกแบบ 2.2 การควบคุมงาน และ2.3 อาณัติสัญญาณและตัวรถ โดยเมื่อวันที่ 7 กรกรกฎาคมที่ผ่านมา มีการประชุมความร่วมมือไทย-จีน ครั้งที่ 19 ที่ประเทศจีน ได้ข้อสรุปตัวเลขวงเงินค่าออกแบบจากวงเงินรวมทั้งโครงการ ที่มีการตั้งกรอบค่าออกแบบไว้ที่ 1,824 ล้านบาท โดยได้ข้อสรุปที่ 1,706 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่ากรอบวงเงินที่กำหนดไว้ 118 ล้านบาท ดังนั้นเมื่อได้ข้อสรุปนี้แล้วก็จะนำเสนอ ครม.อีกครั้ง จากนั้นจะมีการลงนามในการประชุมร่วมกันครั้งที่ 20 ซึ่งจะจัดขึ้นที่ไทย ระหว่างวันที่ 15-17 สิงหาคมนี้

นายอาคม กล่าวว่า ช่วงที่เหลือ คือ นครราชสีมา-หนองคาย จะดำเนินการเหลื่อมกันไปประมาณ 1 ปี โดยอัตราค่าโดยสารช่วงกรุงเทพฯ-นคราชสีมา จะใช้อัตรา 80+1.8 บาทต่อกม. ระยะทาง 253 กม. ค่าโดยสารอยู่ที่ 535 บาท หากลงที่ปากช่อง ค่าโดยสารอยู่ที่ 393 บาท ลงสระบุรี ราคา 278 บาท ลงอยุธยา ราคา 195 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ไม่ถูกและไม่แพงเกินไป เพราะใช้เงินลงทุนมหาศาล โดยแนวเส้นทางจะมีทั้งเป็นระดับพื้นดิน ยกระดับ และจุดตัดต่างๆจะมีสะพานข้าม ใช้รถไฟฟ้าทั้งหมด 6 ขบวน ใช้ความเร็วสูงสุด 250 กม./ชั่วโมง(ชม.) แต่จะวิ่งจริงเฉลี่ย 220 กม./ชม. แต่ละขบวนมี 600 ที่นั่ง ใช้เวลาเดินทางจากกทม.-นครราชสีมา 1.17 ชม. มีกำหนดเปิดบริการปี 2564 โดยในปีแรกคาดว่าจะมีผู้โดยสาร 5,310 คนต่อวัน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 26,830 คน ในปี 2594 รถจะออกทุก 90 นาที หรือประมาณ 1.30 ชั่วโมง