https://www.matichon.co.th/news/
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ในเรื่องร่างกฎหมายเก็บภาษีธุรกิจออนไลน์ (อีคอมเมิร์ซ) กรมได้ดำเนินการเกือบแล้วเสร็จ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนต่อร่างกฎหมายเก็บภาษีธุรกิจออนไลน์ (อีคอมเมิร์ซ) คาดว่าใช้เวลา 15 วัน ดังนั้น คาดว่าภายในเดือนกรกฎาคมนี้จะเสนอร่างกฎหมายไปยังนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้
นายประสงค์กล่าวต่อว่า ร่างกฎหมายสรุปหลักการจัดเก็บภาษีเกิดขึ้นเมื่อมีธุรกรรมการซื้อขายสินค้าและการโอนเงินที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และ รวมถึงการดำเนินธุรกิจบนนวัตกรรมการเงินรูปแบบใหม่อื่นๆ แม้ผู้ประกอบการจะไม่จัดตั้งอยู่ในประเทศไทย ก็ให้ถือว่ามีสถานประกอบการในประเทศไทย ซึ่งเข้าข่ายต้องชำระภาษีเช่นเดียวกันกับผู้ประกอบการในประเทศไทย โดยมีภาษีต้องเสีย เช่น ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้ต่างๆ
นายประสงค์กล่าวว่า สำหรับอัตราการจัดเก็บภาษี มีการปรับปรุงเพดานอัตราการจัดเก็บสูงสุด 15% ของเงินได้ที่จ่าย จากเดิมที่มีแนวคิดจะจัดเก็บที่อัตรา 5% ของเงินได้ที่จ่าย โดยอัตราที่จะจัดเก็บใหม่นี้ จะอิงตามมาตรา 70 ของประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี อัตราการจัดเก็บภาษีนี้ จะมีหลายอัตราขึ้นอยู่กับประเภทธุรกรรม ซึ่งในร่างกฎหมายจะมีการแยกประเภทของธุรกรรมที่จะมีการจัดเก็บไว้อย่างชัดเจน และจะมีข้อยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีให้ เช่น กรณีที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศของผู้ทำธุรกรรม
นายประสงค์กล่าวต่อว่า มาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากรระบุว่า สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่ไม่ได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่มีแหล่งเงินได้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่เป็นเงินได้ที่พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) (3) (4) (5) หรือ (6) ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทยไม่ว่าบุคคลใดๆ ย่อมมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ตามแหล่งเงินได้ (Source Rule) และเพื่อให้การจัดเก็บภาษีเงินได้เป็นไปด้วยดีจึงกำหนดให้ผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยผู้มีเงินได้ไม่ต้องมีหน้าที่ปฏิบัติภาษีอื่นใดอีก
“กรมฯไม่ได้ต้องการที่จะให้มีการจัดเก็บภาษี เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่การจัดเก็บดังกล่าว ก็เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบ โดยเฉพาะผู้เสียภาษีที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันธุรกิจเหล่านี้ไม่มีการเสียภาษี ดังนั้น กรมฯจึงต้องวางแนวทางการจัดเก็บ เพื่อให้ธุรกิจเหล่านี้เข้ามาอยู่ในระบบอย่างถูกต้อง” นายประสงค์กล่าว
นายประสงค์กล่าวต่อว่า สำหรับวิธีปฏิบัติต่อการเก็บภาษีบนธุรกรรมดังกล่าว ในกฎหมายจะให้อำนาจสถาบันการเงินเป็นผู้จัดเก็บภาษี หัก ณ ที่จ่าย แทนกรมสรรพากร โดยเมื่อใดที่มีการโอนเงินเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการใดๆ บนโลกออนไลน์ต่างๆ ทางสถาบันการเงินในไทยมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายให้แก่กรมสรรพากร โดยสถาบันการเงินจะต้องทำหน้าที่ส่งรายการการหักภาษีดังกล่าวมายังกรมสรรพากรด้วย
นายประสงค์กล่าวต่อว่า การประเมินมูลค่าการทำธุรกรรมบนธุรกิจออนไลน์สูงหลักล้านล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ส่วนที่อยู่ในระบบ เช่น การจองตั๋วเครื่องบินผ่านระบบออนไลน์ หรือการชำระเงินของส่วนราชการและเอกชนต่างๆ และ 2.ส่วนที่ไม่อยู่ในระบบ เช่น การจ่ายค่าโฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก กูเกิล ไลน์ หรืออูเบอร์ ซึ่งในส่วนที่ไม่อยู่ในระบบนี้ รัฐบาลไม่ได้รับการชำระภาษีจากธุรกรรมใดๆ เลย