แรงงานแจง‘พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว’จำเป็น ไม่มีเอกสารต้องกลับประเทศ-ลงโทษแรง

https://www.matichon.co.th/news/

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ที่กระทรวงแรงงาน นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ โฆษกกระทรวงแรงงาน และนายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน แถลงข่าวเรื่องพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560

นายอนันต์ชัยกล่าวว่า เราถูกมองจากหลายประเทศว่ามีการปล่อยปละละเลยแรงงานต่างด้าวที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นเงื่อนไขสู่การค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เรื่องการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวนั้น การมีแรงงานต่างด้าวที่ไม่ถูกกฏหมายทำให้หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงแรงงานไม่มีข้อมูลครบถ้วนในเรื่องคนต่างด้าวที่มาทำงานในไทย เป็นอุปสรรคต่อการวางแผนพัฒนา ทั้งการจัดระบบสาธารณสุข การศึกษา การแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด ยาเสพติด รวมถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนไทย

“แม้ว่าจะมีระบบนำเข้าแบบเอ็มโอยูแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีปัญหาเกิดขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องออก พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างมีระเบียบแบบแผน มีระบบการคุ้มครอง มีระบบการเยียวยา ทำให้การบังคับใช้กฏหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ”

“โดยสิ่งที่เป็นประเด็นในกฎหมายตัวนี้คือการมีอัตราโทษสูง แต่เรามีเจตนาป้องปรามไม่ให้ผู้ประกอบการที่ไม่สนใจทำตามกฎหมายได้หันมาเห็นความสำคัญของการปฏิบัติให้ถูกต้อง ซึ่งจากสถิติการตรวจของกรมการจัดหางานตั้งแต่เดือน ต.ค. 2559-พ.ค. 2560 ได้เข้าตรวจสถานประกอบการกว่า 48,000 แห่ง มีลูกจ้างผ่านการตรวจประมาณ 380,000 คน และจากการตรวจค้นมีสถานประกอบการ 40 แห่ง และแรงงานต่างด้าวประมาณ 12,000 คน ที่ทำผิดกฎหมาย คิดเป็น 3% เท่านั้น” นายอนันต์ชัยกล่าว

นายอนันต์ชัยกล่าวต่อว่า ขณะนี้เรานำเข้าระบบเอ็มโอยูอย่างถูกต้องแล้วกว่า 150,000 คน ช่วง 8 เดือนที่ผ่านมายังอยู่ในกระบวนการนำเข้า160,000 คน ถ้านายจ้างปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องสามารถใช้แรงงานต่างด้าวผ่านระบบเอ็มโอยูได้ ขอเน้นย้ำว่ากระทรวงแรงงานไม่ได้เจตนาที่จะไม่ให้นายจ้างใช้แรงงานต่างด้าว การนำเข้าระบบเอ็มโอยูจึงเป็นการปฏิบัติที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการดำเนินการอย่างถูกต้อง เมื่อกฎหมายนี้ประกาศใช้แล้ว มีประโยชน์คือ 1.ป้องกันปัญหาชุมชนแออัด การสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน โดยปัญหาหนึ่งที่พบคือ เมื่อแรงงานต่างด้าวเข้ามาโดยไม่ถูกต้องและเราไม่มีฐานข้อมูล ทำให้เกิดปัญหาต่อการจัดโซนนิ่ง 2.การวางแผนครอบครัว และ3.การป้องกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

“ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพม่า ลาว กัมพูชา คนของเขาไม่ได้รับการดูแลจากไทยอย่างดีพอสมควร การมีกฎหมายนี้ช่วยคุ้มครองสิทธิประโยชน์ รวมถึงการรักษาพยาบาล ส่วนผู้ประกอบธุรกิจบางรายมีปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรม เพราะผู้ประกอบการที่ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎหมายต้องเสียค่าธรรมเนียมใช้จ่ายนำเข้า ในขณะที่ผู้ประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามนี้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย การมีฐานข้อมูลแรงงานต่างด้าวช่วยให้เราสามารถดูแลอาชีพที่สงวนไว้ให้คนไทย ไม่ให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาแย่งอาชีพ ปัจจุบันเราอนุญาตให้ประกอบอาชีพกรรมกรและแรงงานภายในบ้านเท่านั้น การมีฐานข้อมูลทำให้มีข้อมูลวางแผนพัฒนาแรงงาน บริหารจัดการด้านแรงงานต่างด้าวอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือ นานาประเทศให้การยอมรับประเทศไทยว่าประเทศไทยมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะดูแลสิทธิคนทำงาน ไม่ว่าจะสัญชาติใดได้อย่างถูกต้องและเป็นไปตามมาตรฐานสากล” นายอนันต์ชัยกล่าว

นายวรานนท์กล่าวว่า แรงงานต่างด้าวแบ่งออกเป็น3ประเภท1.คนที่ไม่มีอะไรเลย ต้องกลับประเทศ และกลับเข้ามาทางระบบเอ็มโอยู 2.คนที่มีเอกสารแล้วแต่ขาดตกบกพร่องให้ติดต่อสำนักงานจัดหางานของทุกจังหวัดและของกทม. 3.เอกสารครบถ้วนแต่ช่วงนี้เป็นช่วงพิสูจน์สัญชาติของพม่า ให้แรงงานกลับไปพิสูจน์สัญชาติเพื่อให้กลับมาทำงานได้ครบกำหนดเวลา