http://www.thaifighterclub.com/
รายละเอียด :
นับเป็นโอกาสพิเศษอีกครั้งในการนำเสนอบทความ “3 สัปดาห์ในเรือดำน้ำชั้น 212A ของ ทร.เยอรมนี” เขียนโดยท่าน โยฮัน เล่าประสบการณ์ที่ได้ไปฝึกปฏิบัติงานในเรือดำน้ำ U32 ของ ทร.เยอรมนี ในการฝึก Flag Officer Sea Training (FOST) ที่อังกฤษเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งบทความนี้จะลงตีพิมพ์ในนิตยสาร “กระดูกงู” ของกองเรือยุทธการในเร็วๆ นี้ครับ
ที่มา – https://kapitaennem0.wordpress.com/2016/12/09/u32_fost/
กล่าวนำ
ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมสังเกตการณ์การปฏิบัติการในเรือดำน้ำของ ทร.เยอรมนี ระหว่าง 6 – 30 กันยายน 2559 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในยุคปัจจุบันที่กำลังพลของ ทร. ได้มีโอกาสสังเกตการณ์การปฏิบัติการในเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้าเป็นเวลานานถึง 3 สัปดาห์ จึงขอนำประสบการณ์ที่ได้รับมาเล่าสู่ชาวเรือให้ได้รับทราบกัน เพื่อเป็นการถ่ายทอดภาพชีวิตความเป็นอยู่และการปฏิบัติต่างๆ ภายในเรือดำน้ำ ให้กับผู้ที่สนใจจะปฏิบัติงานในเรือดำน้ำตามที่ ทร.กำลังมีโครงการจัดหาในปัจจุบัน
การสังเกตการณ์การปฏิบัติการในเรือดำน้ำของ ทร.เยอรมนี ริเริ่มมาจากการประชุมโครงการความร่วมมือทวิภาคีระหว่างกระทรวงกลาโหม กับกระทรวงกลาโหมเยอรมนี เป็นความร่วมมือต่อเนื่องจากการสนับสนุนหลักสูตรวิทยาการและเทคโนโลยีเรือดำ น้ำเยอรมนีตั้งแต่ปี พ.ศ.2556
ศูนย์ฝึกเรือดำน้ำ ทร.เยอรมนี
การสังเกตการณ์การปฏิบัติการในเรือดำน้ำของ ทร.เยอรมนี แบ่งการปฏิบัติออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ การเยี่ยมชมศูนย์ฝึกเรือดำน้ำ ทร.เยอรมนี ระหว่าง 6 – 9 กันยายน 2559 กับการสังเกตการณ์การปฏิบัติการในเรือดำน้ำ U32 ของ ทร.เยอรมนี ระหว่าง 9 – 30 กันยายน 2559 โดยเป็นการออกเรือจากฐานทัพเรือ Eckernförde ไปสนับสนุนการฝึก Flag Officer Sea Training (FOST) ของ ทร.อังกฤษ ในบริเวณนอกชายฝั่งเมือง Plymouth ทางตอนใต้ของประเทศอังกฤษ
ห้องเรียนและเครื่องฝึกที่ศูนย์ฝึกเรือดำน้ำ ทร.เยอรมนี
ศูนย์ฝึกเรือดำน้ำ ทร.เยอรมนี เป็นหน่วยขึ้นตรงของกองเรือดำน้ำเยอรมนี มีภารกิจในการผลิตนักเรือดำน้ำให้กับกองเรือดำน้ำ และให้การสนับสนุนการฝึกให้กับชาติพันธมิตร ศูนย์ฝึกฯ แบ่งการฝึกออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนการปฏิบัติการและส่วนเทคนิค โดยในแต่ละส่วนจะมีอุปกรณ์การฝึกทั้งที่เป็นระบบคอมพิวเตอร์ประกอบการสอน และระบบ Simulator รวมทั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้จริงภายในเรือดำน้ำ จึงทำให้การฝึกมีความสมจริงมาก
การฝึก Flag Officer Sea Training (FOST)
การปฏิบัติในช่วงที่ 2 คือการลงเรือดำน้ำ U32 เพื่อสังเกตการณ์การปฏิบัติในเรือ ในระหว่างการสนับสนุนการฝึก Flag Officer Sea Training (FOST) ของ ทร.อังกฤษ ซึ่งนอกจากคณะสังเกตการณ์จำนวน 2 นายจาก ทร. แล้ว ยังมีนักเรียนนายเรือเกาหลีใต้ที่ได้รับทุนให้ไปศึกษาที่โรงเรียนนายเรือ เยอรมนี ร่วมลงฝึกงานในเรือดำน้ำ U32 ด้วย
การฝึก FOST ของ ทร.อังกฤษ เป็นการฝึกทดสอบความพร้อมก่อนการออกปฏิบัติการของหน่วยต่างๆ ทั้งของ ทร.อังกฤษ และประเทศสมาชิกนาโต้ มีระยะเวลาการฝึก 6 สัปดาห์ ประกอบด้วยการฝึกสาขาต่างๆ ตั้งแต่การยิงอาวุธประจำเรือ, การปราบเรือดำน้ำ, การป้องกันภัยทางอากาศ, การรับ-ส่งสิ่งของในทะเล, การป้องกันความเสียหาย ไปจนถึงการปราบปรามโจรสลัดและการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล ในแต่ละสัปดาห์จะมีการฝึกทดสอบสถานการณ์การรบเต็มรูปแบบในทุกวันพฤหัสบดี เรียกว่า Weekly War หรือ Thursday War ซึ่งผู้เข้ารับการฝึกต้องเผชิญกับสถานการณ์ซับซ้อนที่มีภัยคุกคามหลายมิติใน เวลาเดียวกัน
เรือดำน้ำ U32 เข้าร่วมสนับสนุนการฝึก FOST ในช่วง 3 สัปดาห์สุดท้าย ทำหน้าที่เป็นเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้าฝ่ายข้าศึกในการฝึกปราบเรือดำน้ำ และในการฝึก Weekly War ประจำสัปดาห์ โดยมีเรือรบนาโต้เข้ารับการฝึกกว่า 10 ลำ จาก 6 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ, สหรัฐฯ, เบลเยี่ยม, สเปน, โปรตุเกส และเยอรมนี
เส้นทางการเดินทางจากฐานทัพเรือ Eckernförde ของเยอรมนี ไปยังเมือง Plymouth ของอังกฤษ
พื้นที่การฝึก FOST อยู่ทางตอนใต้ของเมือง Plymouth ห่างฝั่งประมาณ 10 – 30 ไมล์ทะเล เป็นพื้นที่การฝึกประจำตามประกาศชาวเรือ (บรรณสาร SUBFACTS/GUNFACTS) ของ ทร.อังกฤษ ลักษณะพื้นที่เป็นบริเวณน้ำตื้นใกล้ฝั่ง ความลึกน้ำ 60 – 80 เมตร มีเรือสินค้าและเรือประมงหนาแน่น ซึ่งเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งที่ลักษณะพื้นที่มีความใกล้เคียงกับพื้นที่การ ฝึกในอ่าวไทยมากในแง่ของความลึกน้ำและปริมาณเรือสินค้า-เรือประมงในพื้นที่ โดยเรือดำน้ำ U32 จะรักษาความลึกห่างจากพื้นท้องทะเลไม่น้อยกว่า 20 เมตรเพื่อความปลอดภัย และถึงแม้ว่าเรือดำน้ำ U32 จะทำหน้าที่สนับสนุนการฝึก ไม่ใช่ผู้รับการฝึกโดยตรง แต่การปฏิบัติการในพื้นที่จำกัดที่มีประมาณเรือหนาแน่นก็ถือเป็นการฝึกที่ สำคัญอย่างหนึ่งของเรือดำน้ำด้วย
ความเป็นอยู่ในเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้า
เรือดำน้ำ U32 เป็นเรือดำน้ำชั้น 212A รุ่นแรก (Batch I) ลำที่ 2 ขึ้นระวางประจำการเมื่อ 19 ตุลาคม 2548 มีกำลังพลประจำเรือ 28 นาย (นายทหารสัญญาบัตร 8 นาย, นายทหารประทวน 20 นาย) ระวางขับน้ำบนผิวน้ำ 1,450 ตัน มีความยาวตลอดลำ 56 เมตร มีท่อตอร์ปิโด 6 ท่อ และคลังตอร์ปิโดภายในเรืออีก 6 ลูก สำหรับตอร์ปิโดแบบ Seahake Mod 4 ใช้มอเตอร์ขับเคลื่อนแบบ Permasyn ขนาด 1,700 กิโลวัตต์ ทำความเร็วสูงสุดได้ 20 นอตใต้น้ำ / 12 นอตบนผิวน้ำ และติดตั้งระบบขับเคลื่อน AIP แบบ Fuel Cell ขนาด 240 กิโลวัตต์
เรือดำน้ำชั้น 212A ของ ทร.เยอรมนี
ในส่วนของคณะสังเกตการณ์ได้นัดหมายกับเรือดำน้ำ U32 ในการขนกระเป๋าสัมภาระลงเรือในเช้าวันที่ 9 กันยายน 2559 ก่อนออกเรือ และเดินทางไปลงเรือที่ปากคลองคีล (Nord-Ostsee Kanal – NOK) ฝั่งตะวันตกในช่วงกลางดึกของวันเดียวกัน โดยเรือดำน้ำ U32 ใช้เส้นทางเดินทางออกจากฐานทัพเรือ Eckernförde ผ่านคลองคีลและช่องแคบอังกฤษ ไปยังเมือง Plymouth ของอังกฤษ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 วัน
เมื่อคณะสังเกตการณ์ลงในเรือแล้ว ก็ได้รับการต้อนรับสั้นๆ จากผู้บังคับการเรือ คือ น.ต.Rudolf Lenthe วัย 34 ปี ซึ่งมีประสบการณ์การปฏิบัติงานในเรือดำน้ำประมาณ 6 ปี และจากนั้นต้นเรือได้จัดคณะสังเกตการณ์จำนวน 2 นายแยกปฏิบัติงานตามชุดยามทันที โดยเรือดำน้ำ U32 ใช้ระบบการจัดยาม 2 ชุด ปฏิบัติงานชุดละ 6 ชม. หมุนเวียนตลอด 24 ชม. ยกเว้นเพียง 4 คนที่ไม่อยู่ในชุดยาม แต่ต้องพร้อมปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ตลอดเวลา คือ ผบ.เรือ, ต้นกล, นายทหารโซนาร์ และเจ้าหน้าที่สหโภชน์
การเข้ายามในเรือดำน้ำ U32 แต่ละผลัดมีกำลังพล 12 นาย ปฏิบัติงานในห้องศูนย์ยุทธการทั้งหมด ภายในห้องศูนย์ยุทธการแบ่งการปฏิบัติงานออกเป็นส่วนย่อยๆ ประกอบด้วย การถือท้ายและควบคุมเรือ, การเดินเรือ, การตรวจจับและพิสูจน์ทราบเป้า และการรวบรวมภาพสถานการณ์กับการตัดสินใจทางยุทธวิธี ซึ่งการที่ทุกส่วนปฏิบัติงานรวมอยู่ในห้องเดียวกันโดยไม่แยกห้องโซนาร์หรือ ห้องควบคุมระบบขับเคลื่อน ช่วยให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสานการปฏิบัติได้อย่างใกล้ชิด โดยกำลังพลในตำแหน่งต่างๆ จะได้รับการฝึกให้สามารถปฏิบัติงานได้หลายหน้าที่ตามสถานีเรือเพื่อช่วย ประหยัดจำนวนกำลังพล ตัวอย่างเช่น พนักงานโซนาร์จะต้องทำหน้าที่พนักงานเรดาร์, ยามตรวจการณ์ทางทัศนะในสถานีเดินเรือบนผิวน้ำ, และเจ้าหน้าที่ดาดฟ้าในสถานีเทียบ-ออกจากเทียบ หรือช่างอิเล็กทรอนิกส์จะต้องทำหน้าที่พนักงาน ESM และพนักงานถือท้ายด้วย เป็นต้น
เรือดำน้ำ U32 กับเกาะ Drake Island ในอ่าว Plymouth เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2559
เพื่อเป็นการซึมซับประสบการณ์การปฏิบัติงานในเรือดำน้ำได้มากยิ่งขึ้น ต้นเรือได้แจกจ่ายเอกสาร Wachoffizier Schülerordner ลักษณะเดียวกับเอกสาร Personnel Qualification Standard (PQS) สำหรับตำแหน่งนายทหารยามพรรคนาวิน ให้กับคณะสังเกตการณ์และนักเรียนนายเรือเกาหลีใต้ ภายในเอกสารประกอบด้วยหัวข้ออุปกรณ์และการปฏิบัติต่างๆ สำหรับใช้เป็นแนวทางการศึกษาข้อมูลและฝึกปฏิบัติกับระบบต่างๆ ในเรือดำน้ำ โดยต้องมีการ “ล่าลายเซ็น” เหมือนกับการทดสอบ PQS ด้วย ซึ่งเรือดำน้ำ U32 มีการฝึกทั้งในส่วนของการสนับสนุนการฝึก FOST และการฝึกภายในเรือเองเป็นประจำทุกวันตลอดระยะเวลา 3 สัปดาห์ ทำให้คณะสังเกตการณ์ได้มีส่วนร่วมในการปฏิบัติต่างๆ อย่างครบถ้วน
การฝึกที่สำคัญที่สุดคือการฝึกสถานีฉุกเฉินและป้องกันความเสียหาย ในกรณีน้ำรั่วเข้าเรือ หรือกรณีไฟไหม้ ซึ่งจะมีการฝึกเป็นประจำเกือบทุกวันโดยเป็นการปลุกกำลังพลทั้งลำในช่วงใกล้ เวลาเปลี่ยนยาม และจะใช้คำสั่งการสั้นๆ ว่า “Alarm” ตามสถานการณ์ฝึกแต่ละครั้งที่ ผบ.เรือจะเป็นผู้กำหนด โดยในสถานีฉุกเฉินจะนำเรือไปที่ความลึกปลอดภัย (Safe Depth) และกำลังพลทุกนายจะต้องสวมเสื้อแจ็คเก็ตแขนยาวรูดซิปขึ้นถึงคอเพื่อป้องกัน ประกายไฟ กับตามห้องต่างๆ ในเรือดำน้ำจะมีหน้ากากสำหรับระบบหายใจฉุกเฉินในกรณีที่เกิดควันหรือก๊าซพิษ ขึ้นในเรือ การปฏิบัติในการฝึกผู้ที่ไม่ได้เข้าหน้าที่เวรยามจะต้องไปรวมพลที่หน่วยซ่อม เพื่อทำหน้าที่เป็นชุดป้องกันความเสียหาย ส่วนผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่เวรยามจะทำหน้าที่ควบคุมเรือต่อไป
ในส่วนของความเป็นอยู่อื่นๆ ในเรือดำน้ำ U32 มีเตียงจำนวน 23 เตียง สำหรับกำลังพลจำนวน 27 นาย (ยกเว้น ผบ.เรือที่มีห้องส่วนตัว) ทำให้ต้องมีการจัดที่พักแบบ Hot Bunking เป็นบางส่วน ซึ่งคณะสังเกตการณ์ 2 นายได้อาสาใช้เตียงเพียง 1 เตียงแบบ Hot Bunking เนื่องจากเตียงนายทหารมีเพียง 8 เตียง ที่แบ่งเป็นเตียง 3 ชั้น 2 เตียง และเตียง 2 ชั้น 1 เตียง ไม่เพียงพอสำหรับนายทหารประจำเรือ 7 นายและคณะสังเกตการณ์อีก 2 นาย นอกจากจำนวนเตียงที่ไม่เพียงพอแล้ว พื้นที่เก็บของภายในเรือดำน้ำยังคับแคบและมีจำกัดอีกด้วย โดยแต่ละเตียงจะมีกล่องเก็บของเล็กๆ ใต้เตียง 1 กล่อง และตาข่ายแขวนเหนือเตียงสำหรับเก็บของใช้ส่วนตัว กับมีตู้เสื้อผ้าเพียง 2 ตู้สำหรับห้องพักนายทหารทั้ง 8 เตียง ที่น่าประทับใจเป็นอย่างมากคือในเรือดำน้ำ U32 มีนายทหารหญิง 2 คน ในตำแหน่งต้นกลและนายทหารยามที่ 4 ซึ่งความเป็นอยู่ในเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้ามีความแออัดคับแคบมากจนไม่สามารถแยก ห้องนอนและห้องน้ำโดยเฉพาะสำหรับนายทหารหญิงได้ แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างนายทหารชาย และหญิง
การรับประทานอาหารในเรือดำน้ำ U32 มีห้องเมสขนาด 7 ที่นั่ง และโต๊ะรับประทานอาหารหน้าห้องเมสบริเวณข้างคลังตอร์ปิโดอีก 2 โต๊ะ โต๊ะละ 4 ที่นั่ง อาหารในเรือดำน้ำจัดเป็น 4 มื้อ ลักษณะรายการอาหารจะเป็นอาหารตามวัฒนธรรมเยอรมัน คือมื้อเช้าและมื้อเย็นจะเป็นขนมปัง-ชีส-แฮม ส่วนมื้อกลางวันและมื้อดึกจะเป็นอาหารร้อน หลังจากการรับประทานอาหารแต่ละมือยามออกจะช่วยกันเก็บล้างจานโดยไม่แบ่งแยก นายทหารสัญญาบัตรหรือนายทหารประทวน และยิ่งเก็บล้างเสร็จเร็วเท่าไหร่ก็จะมีเวลาพักผ่อนมากขึ้นเท่านั้น
ในเรือดำน้ำ U32 มีห้องน้ำจำนวน 2 ห้อง ห้องน้ำแต่ละห้องประกอบด้วยห้องอาบน้ำ 1 ห้อง โถส้วม 1 โถ และอ่างล้างหน้า 1 – 2 อ่าง แต่โดยปกติจะใช้ห้องน้ำเพียงห้องเดียวเนื่องจากห้องน้ำ 1 ห้องอยู่ติดกับห้องนอนและการใช้ห้องน้ำดังกล่าวจะเป็นการส่งเสียงรบกวน ยามออกที่กำลังพักผ่อน ยกเว้นในช่วงเปลี่ยนยามที่สามารถใช้ห้องน้ำได้ทั้ง 2 ห้อง การใช้ห้องน้ำแต่ละคนจะต้องทำความสะอาดเบื้องต้นและเช็ดห้องอาบน้ำ-อ่างล้าง หน้าให้แห้งตลอดเวลา ช่วยให้ไม่มีปัญหาห้องน้ำสกปรกหรือปัญหากลิ่นเหม็นถึงแม้ว่าจะมีห้องน้ำหลัก เพียง 1 ห้องสำหรับกำลังพล 28 นาย ในเรือติดตั้งเครื่องผลิตน้ำจืดที่มีกำลังผลิตเพียงพอ สามารถอาบน้ำได้ทุก 2 – 3 วัน แต่จะไม่มีการซักผ้าภายในเรือ การทิ้งน้ำเสียและขยะสดจะทิ้งทุกวันในช่วงกลางคืน และจะมีการแยกประเภทขยะอย่างเคร่งครัด ได้แก่ ขยะสดที่สามารถทิ้งในทะเลได้ ขยะแห้งที่ต้องรอทิ้งบนฝั่ง และขยะรีไซเคิล
ในการฝึก FOST จะไม่มีตารางปฏิบัติในวันเสาร์-อาทิตย์ โดยเรือเข้าร่วมการฝึกแต่ละลำจะเดินทางกลับเข้าจอดพักและรับการส่งกำลัง บำรุงที่ฐานทัพเรือ Clyde เมือง Plymouth ในส่วนของเรือดำน้ำ U32 เมื่อเข้าจอดเรียบร้อยแล้วกำลังพลประจำเรือทุกนายรวมทั้งนายทหารสัญญาบัตรจะ ช่วยกันยกขยะขึ้นไปทิ้งบนฝั่ง และรับเสบียงลงเรือ อีกทั้งจะมีรถบริการมารับผ้าไปซัก (เนื่องจากไม่มีการซักผ้าในเรือ) และมีรถมารับกำลังพลทั้งหมดไปพักโรงแรมในเมือง เนื่องจากสภาพความเป็นอยู่ในเรือคับแคบไม่เหมาะสมกับการพักอาศัยในเรือช่วง เรือจอด ยกเว้นผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรยามในเรือ 2 – 3 นาย โดยเรือดำน้ำเยอรมันมีธรรมเนียมปฏิบัติคือการล้อมวงกันดื่มเบียร์ (Einlaufbier) บนท่าเรือทุกครั้งหลังจากกลับจากปฏิบัติการในทะเล จากนั้นจึงขนกระเป๋าขึ้นรถเพื่อเดินทางไปพักในเมืองต่อไป
คณะสังเกตการณ์ขึ้นจากเรือที่เมือง Plymouth หลังเสร็จสิ้นการฝึก FOST ในวันที่ 30 กันยายน 2559 เพื่อเดินทางกลับประเทศไทย ส่วนเรือดำน้ำ U32 ยังไม่เสร็จสิ้นภารกิจการออกปฏิบัติการในทะเล โดยได้เดินทางต่อไปเข้าร่วมการฝึก Noble Mariner ที่สก๊อตแลนด์อีกเป็นเวลาประมาณ 3 สัปดาห์กว่าจะเดินทางกลับถึงเยอรมนีในปลายเดือนตุลาคม รวมระยะเวลาออกปฏิบัติการทั้งสิ้นเกือบ 2 เดือน
ธรรมเนียม Einlaufbier ของเรือดำน้ำเยอรมัน
บทส่งท้าย
จากการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสสังเกตการณ์การปฏิบัติการในเรือดำน้ำชั้น 212A ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้าที่ทันสมัยมากที่สุด เป็นระยะเวลา ๓ สัปดาห์ รวมระยะทาง ๑,๗๖๖ ไมล์ทะเล หรือ ๓๙๘ ชม.ทะเล ทำให้ผู้เขียนได้รับความรู้และประสบการณ์เป็นอย่างมาก ทั้งเรื่องการใช้ชีวิต ระบบอุปกรณ์ การปฏิบัติการต่างๆ และยุทธวิธีของเรือดำน้ำ ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดที่สัมผัสได้คือความสามัคคีและการร่วมมือร่วมใจกัน ทั้งในการปฏิบัติงาน และการบำรุงรักษาเรือให้เป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่ตลอดเวลาโดยไม่แบ่งแยก ระหว่างนายทหารสัญญาบัตรหรือนายทหารประทวน หรือแบ่งแยกระหว่างนายทหารชายหรือนายทหารหญิง
สุดท้ายนี้ผู้เขียนขอขอบคุณผู้บังคับบัญชาและผู้เกี่ยวข้องกับโครงการ สังเกตการณ์การปฏิบัติการในเรือดำน้ำของ ทร.เยอรมนีทุกท่าน ประกอบด้วย กรมยุทธการทหารเรือ, กรมกำลังพลทหารเรือ, กองเรือดำน้ำ, สำนักงานผู้ช่วยทูต ทร.ไทย/เบอร์ลิน, สำนักงานผู้ช่วยทูต ทร.ไทย/ลอนดอน และสำนักงานผู้ช่วยทูตทหารอังกฤษประจำประเทศไทย
บทความโดย : กัปตันนีโม